คุมน้ำเมาสงกรานต์ ห้ามขายเด็กต่ำ20ปี


เพิ่มเพื่อน    

 กก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เห็นชอบแนวทางคุมอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ ห้ามขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี พร้อมตั้งด่านชุมชนสกัด ไฟเขียว 2 ตัวยาใหม่บำบัดรักษาคนติดสุรา เล็งนำเข้าภายใน 3 เดือน ทดลองกลุ่มมีปัญหา 2 หมื่นคนใน 6 เดือน ก่อนดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ "นพ.แท้จริง" หนุนรัฐบาลงดการจัดกิจกรรมสาดน้ำ ชงสวดมนต์ข้ามปีช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้

    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 31 มีนาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 ซึ่งหลายคนรอคอยเทศกาลนี้ แต่ปีนี้คงจัดแบบฟูลสเกลไม่ได้ ไม่อนุญาตให้มีการสาดน้ำ แต่อนุญาตให้มีการเดินทางได้ ดังนั้นจึงต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลคือ วันที่ 15 มี.ค.-9 เม.ย. การใช้มาตรการขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะจากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นจากสุรา กลุ่มอายุหลักคือ ต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยงการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
    นายสาธิตกล่าวว่า ส่วนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. ยังบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ตั้งด่านชุมชนสกัดไม่ให้ผู้ดื่มขับรถออกสู่ถนนใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าช่วยลดตัวเลขและการสูญเสียจากอุบัติเหตุได้ โดยขอให้มหาดไทยตั้งด่านชุมชนในถนนรองให้มากที่สุด โดยร่วมกับอาสาสมัครในพื้นที่ การตรวจวัดเลือดแอลกอฮอล์ผู้บาดเจ็บทางถนนอายุต่ำกว่า 20 ปีทุกราย หากปริมาณเกินมาตรฐานให้สอบสวนเอาผิดสถานที่ หรือบุคคลที่จำหน่ายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชน ขณะที่ช่วงหลังเทศกาลวันที่ 17-23 เมษายน 2564 ให้สรุปข้อมูลเพื่อปรับปรุงมาตรการในปีต่อไป
    รมช.สาธารณสุขกล่าวว่า นอกจากนี้ยังเห็นด้วยตามมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ที่ให้บูรณาการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กำหนดเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางวัน บางเวลา บางพื้นที่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือจัดทำข้อตกลงความร่วมมือการจัดงานบุญ ประเพณีปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของพื้นที่นั้นๆ เนื่องจากช่วงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือช่วงเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กฎหมายก็ห้ามจำหน่ายอยู่แล้ว
    นายสาธิตกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการใช้ยานาลเทรกโซน (Naltrexone) และยาอะแคมโพรเสต (Acamprosate) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา เนื่องจากในต่างประเทศมีการบรรจุยาทั้ง 2 ตัวในบัญชียาหลัก และพบว่าลดการเสพซ้ำได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาไม่เกิน 3,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ พบว่ามีแหล่งผลิตที่ประเทศอินเดียและมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย จึงมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการเร่งรัดการนำเข้าและขึ้นทะเบียนยา และจัดทำโครงการนำร่องการใช้ยาดังกล่าวในสถานบริการสาธารณสุขเพื่อใช้แทนยาเดิม
    ด้านน พ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดว่าต้องหยุดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2 สัปดาห์ หากใช้คู่กันจะส่งผลให้คนใช้เกิดอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว ชีพจรเร็ว เป็นลม อ่อนแรง ตาพร่ามัว สับสน บ้านหมุน ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น และลดประสิทธิภาพการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา ดังนั้นแพทย์จึงไม่ค่อยสั่งใช้เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้จัดหายาบำบัดผู้ติดสุรา 2 ตัวมาทดแทนคือ ยานาลเทรกโซน สำหรับผู้ติดสุราที่ไม่มีปัญหาโรคตับอักเสบ และยาอะแคมโพรเสต สำหรับผู้ที่มีปัญหาตับอักเสบ ยาทั้ง 2 ตัวเป็นยาที่จะไปลดความอยากแอลกอฮอล์ และเนื่องจากเป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วจึงทำให้ราคาถูกลงกว่าเดิมถึง 10 เท่า
    "ขณะนี้พยายามที่จะนำยาทั้ง 2 ตัวเข้ามาให้ได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ แต่จะมีการทดลองนำร่องก่อนในกลุ่มผู้ติดสุราราวๆ 2 หมื่นคน ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จะมีการสรุปและประเมินความคุ้มค่าอีกครั้ง ก่อนจะผลักดันเข้าระบบบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป” นพ.ขจรศักดิ์กล่าว
    วันเดียวกัน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยถึงมาตรการการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า จากการที่รัฐบาลมีมติให้การจัดงานสงกรานต์ในปีนี้งดการจัดกิจกรรมสาดน้ำ ประแป้ง การจัดคอนเสิร์ต โดยกิจกรรมที่อนุญาตให้ดำเนินการได้คือ การทำบุญ ตักบาตร รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย และเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลนิธิเมาไม่ขับเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว พร้อมกันนี้ขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดกิจกรรมการสวดมนต์ข้ามปี ปีใหม่ไทย (สงกรานต์) เพิ่มเข้าไป
    "โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีพี่น้องประชาชนเดินทางกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องมากถึง 6 วัน ประกอบกับเทศกาลสงกรานต์ในปี 63 ปีที่แล้ว คนไทยไม่ได้กลับบ้านเฉลิมฉลอง รวมไปถึงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงเชื่อว่าเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้จะมีคนไทยเดินทางกันเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การเฉลิมฉลองด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วออกไปขับรถ"
    นพ.แท้จริงกล่าวว่า วันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่มีคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุด เหมือนกับวันที่ 31 ธันวาคม แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมผลักดันโครงการสวดมนต์ข้ามปี ทำให้สถิติการเสียชีวิตในวันที่ 31 ธันวาคม ลดลงไปมาก จากความสำเร็จของโครงการสวดมนต์ข้ามปี ที่ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมในการฉลองปีใหม่ด้วยการจัดสวดมนต์ขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศไทยที่มีมาแต่โบราณกาล จึงขอเชิญชวนให้คนไทยร่วมใจกันสวดมนต์ข้ามปีอย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งสามารถสวดทางออนไลน์ได้ ซึ่งจะช่วยลดคนเมาบนท้องถนนและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19.  
    

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"