'ดำรง วงศ์อุปราช 'ผู้บุกเบิก'ทัศนศิลป์ของไทย'

ผศ.ดํารง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2542 นับว่าเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของวงการศิลปะไทย ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ได้สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงความเรียบง่ายและความเงียบสงบ ผ่านผลงานจิตรกรรมภาพทิวทัศน์ ที่ชวนให้ครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งและหวนรำลึกถึงอดีต โดยได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นครูในการใช้เฉดสีที่สมดุล โดดเด่นด้วยผลงานจิตรกรรมสีฝุ่น

ภาพหมู้บ้านประมง

ไม่เพียงเท่านี้อาจารย์ดำรงยังได้ศึกษาด้านศิลปะในแขนงต่างๆ จนแตกฉาน ต่อมาจึงเป็นทั้ง อาจารย์ นักวิชาการศิลปะ ภัณฑารักษ์ ผู้บริหารจัดการหอศิลป์ อีกทั้งเมื่อครั้งได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2520 ได้ก่อตั้งภาควิชาทัศนศิลป์ จวบจนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปีพ.ศ. 2539 ซึ่งได้รับการเชิดชูเกียรติผ่านรางวัลจำนวนมาก เป็นที่ยอมรับของแวดวงศิลปะทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของ ผศ.ดํารง วงศ์อุปราช ที่ได้จากไปกว่า 20 ปี หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ของสะสม ณรงค์ วลีพร อิงค์ธเนศ (มอนวิค) คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บริษัท ฟาย เปเปอร์ ทาเคโอะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดนิทรรศการ “ดำรง วงศ์อุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต” ผ่านผลงานจิตรกรรมจํานวน 70 ช้ิน ควบคู่กับตัวอย่างบทความทางวิชาการ และวิดีโอสัมภาษณ์เพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน ทายาท และนักสะสม ซึ่งแต่ละท่านมีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับอาจารย์ดํารงในแต่ะช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งหมดเปรียบเสมือนเศษเสี้ยวบันทึก การเดินทางของศิลปินไทยผู้ปราดเปรื่องท่านนี้ โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้ตั้งแต่วันนี้ -5 ธันวาคม 2564 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น8

ภาพคลองวาฬที่ใช้เทคนิคลดทอนรายละเอียดด้วยรูปทรงเรขาคณิต

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผลงานจิตรกรรมของผศ.ดํารง ไม่เพียงแค่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังมองศิลปะเป็นการสอนให้คิด สอนให้สร้างสรรค์ สอนให้รู้กว้าง นับว่าเป็นโกกาสอันดีที่กรุงเทพฯได้มีการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ ซึ่งการจัดนิทรรศการด้วยผลงานของผศ.ดํารง จะช่วยประโลมความรู้สึก เพราะการชมงานศิลปะไม่ใช่เพียงแค่เห็นว่างานสวย แต่เมื่อชมแล้วสามารถคิดให้เป็นในหลากหลายมุมมอง รวมไปถึงทำให้เกิดการเรียนรู้ในเด็กรุ่นใหม่ที่มาชมผลงานในหอศิลป์ อาจจะนำไปเป็นแรงบันดาลใจ แนวทางหรือพลังใจในการดำเนินชีวิตในเส้นทางศิลปะต่อไป

ด้านณรงค์ อิงค์ธเนศ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ของสะสม ดำรงค์ วลีพร อิงค์ธเนศ (มอนวิค) กล่าวว่า ได้เริ่มสะสมงานศิลปะของผศ.ดํารง มากว่า 20 ปี จนมีผลงานที่สะสมไว้กว่า 700 ชิ้น ทั้งภาพเขียน งานประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งในตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้มีโอกาสรู้จักกับท่านเป็นการส่วนตัว ได้พูดคุย และเรียนรู้ศิลปะ นอกจากนี้ท่านยังเคยเป็นที่ปรึกษาในช่วงแรกที่เริ่มมีความสนใจสะสมผลงานศิลปะ จึงคิดว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้นำผลงานของ ผศ.ดํารง มาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ และตั้งใจจะสร้างพิพิธภัณฑ์ไว้เพื่อเผยแพร่งานศิลปะที่สะสมผ่านเว็บไซต์ www.monwiv.com ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถค้นคว้าข้อมูลหรือเข้าชมผลงานต่างๆได้

เทคนิคการงาดภาพที่เปิดมุมมองศิลปะแนวใหม่ในไทย

ผศ.ดร.วิชญ มุกดามณี ภัณฑารักษ์ ได้เล่าว่า การจัดนิทรรศการในครั้งนี้เป็นการจัดแสดงผลงานย้อนหลังของผศ.ดำรง หลังจากไปกว่า 20 ปี ผลงานที่นำมาแสดงมีความหลากหลายมาก ซึ่งได้จากนักสะสม ไม่ว่าจะเป็นกรมศิลปากร และมอนวิก จึงได้จัดแบ่งโซนจัดแสดง ตามช่วงเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่รวม 4 ช่วง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่เริ่มเรียนศิลปะ ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ได้ไปพำนักที่ญี่ปุ่น ตลอดจนการกลับมาทำงานในฐานะศิลปินที่ไทย และเป็นผู้สร้างรากฐานในวงการศิลปะของไทย โดยเฉพาะศิลปะที่เป็น “ทัศนศิลป์ ซึ่งเป็นคำที่น่าจะแทนตัวท่านได้ดีที่สุด เพราะท่านเป็นผู้นิยามคำนี้ขึ้นมาเป็นคนแรกๆ นอกจากจะเป็นผู้เริ่มก่อตั้งภาควิชาทัศนศิลป์แล้ว ผลงานของท่านยังเป็นตัวสะท้อนตัวตนท่าน ความอบอุ่น เชื่อมโยงระหว่างผู้ทำงานและผู้ที่ซาบซึ้งในงานศิลปะ นอกจากนี้ อาจารย์ดำรงยังมีคุณูปการ เป็นผู้พยายามผลักดันการจัดแสดงงานในหอศิลป์ต่างๆ รวมไปถึงการเขียนบทความ วิจารย์งานศิลปะลงบนหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตศิลปินพยายามจับเคลื่อนวงการศิลปะให้ทัดเทียมนานาชาติ ถึงในตอนนี้ท่านจะจากไปแต่สิ่งที่ยังอยู่คือบทเรียน และเจตนาที่คนรุ่นหลังจะขับเคลื่อนวงการศิลปะต่อไป

ผู้บุกเบิกงานเขียนบทความและบทวิจารณ์ศิลปะในประเทศไทย

“ส่วนผลงานของอาจารย์ดำรง มีหลายชิ้นที่แสดงถึงตัวตนและการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย อย่างภาพโรงไฟฟ้าวัดเลียบ เป็นภาพที่ได้รางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งวาดเมื่อครั้งเรียนอยู่เพาะช่าง เนื่องจากอาจารย์เป็นคนเชียงราย เมื่อมาเห็นโรงไฟฟ้าในเมือง ก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ อีกชิ้นที่น่าสนใจคือหมู่บ้านชาวประมง ที่วาดเมื่อตอนเรียนอยู่ ปี 3 ที่ศิลปากร เราได้หยิบยืมภาพนี้มาจากกรมศิลปากร ซึ่งภาพนี้ได้รางวัลเหรียญทองในการประกวดภาพจิตรกรรม ดังนั้น ในแต่ช่วงจะเห็นการเปลี่ยนฝีแปรงของศิลปินท่านนี้ไปในแต่ละยุค และซึมซับสิ่งที่ทรอดแทรกอยู่ในภาพจิตรกรรม รวมไปถึงงานเขียนและวิดีโอจากผู้ใกล้ชิดศิลปิน ที่มาบอกเล่าตัวตนของผศ.ดำรง ” ภัณฑารักษ์ กล่าว

ภาพวัดอิเซ่ ในประเทศญี่ปุ่น

สำหรับภายในนิทรรศการประกอบด้วย 4 ช่วงสำคัญ ได้แก่ 1.แสวงหาตัวตนท่ามกลางกระแสศิลปะไทยสมัยใหม่ (พ.ศ. 2497 – 2505) ขณะที่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่โรงเรียนเพาะช่าง และมาเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้าน โดยการ สร้างสรรค์ใหม่ผ่านเรื่องราวชนบทไทยด้วยการผสมผสานรูป แบบของศิลปะตะวันตก ชิ้นโดดเด่นในช่วงเวลาน้ี เช่น ผลงานหมู่บ้านชาวประมง (พ.ศ. 2503) หมู่บ้านริมคลอง (พ.ศ. 2504) และ Traditional Houses on Stilts (พ.ศ. 2505) เป็นต้น

ภาพมหจิตรกรรมเพื่อแผ่นดินไทย

2.ตระหนักรู้ในความหลากหลาย (พ.ศ. 2505 – 2518) เป็นการรวบรวมผลงานจากการไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนกระทั่งเดินทางกลับมาประเทศไทย โดยในช่วงนี้เป็นทั้งศิลปิน อาจารย์สอนศิลปะ เขียนบทความวิชาการ ควบคู่กับการบริหารจัดการวงการศิลปะไทยในหลาย ๆ ด้าน ผลงานจึงมุ่งเน้นไปที่ศิลปะนามธรรม สอดแทรกกลิ่นอายวัฒนธรรมไทย ด้วยสัญลักษณ์ตัวอักษรและลวดลายท้องถิ่น จนกระทั่งพัฒนาสู่การวาดภาพชนบทและทุ่งนาด้วยการลดทอนรายละเอียด เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตในบรรยากาศของสีสันเรียบง่าย ดังที่ปรากฏในผลงาน ทุ่งนา นครปฐม (พ.ศ. 2514) เป็นต้น

ภาพสิ่งปลูกสร้างที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อครั้งที่อ.ดำรงได้ไปพำนัก

3.ชีวิตแห่งสมดุล (พ.ศ. 2519 – 2520) จุดเปลี่ยนสำคัญบนเส้นทางศิลปะ เป็นการรวบรวมผลงานเมื่อครั้งอาจารย์ดำรงได้รับทุนไปทำวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิคเฉพาะตัวด้วยปากกาสีและสีน้ำผ่านเส้นสีที่ละเอียดให้สอดประสานกัน ด้วยสมาธิอันนิ่งสงบ ตามหลักปรัชญาชินโตและเซน แสดงถึงวิถีการดำรงอยู่ของมนุษย์และธรรมชาติที่มีความเงียบและสมถะ ผลงานชิ้นที่น่าสนใจ เช่น วัดอิเซ่ (พ.ศ. 2519) Red Torii (พ.ศ. 2519) และ ฤดูใบไม้ร่วง-2 (พ.ศ. 2520)

ผช.ศ.ดร.วิชญ มุกดามณี ภัณฑารักษ์


4.มุ่งมั่นค้นหาจิตวิญญาณอันนิ่งสงบ: Imagery of Serenity (พ.ศ. 2520 – 2545) เป็นการตกผลึกจากประสบการณ์อันหลากผลงานในยุคนี้เปรียบเสมือนภาพแทนอุปนิสัย วิถีชีวิต และจิตวิญญาณของอาจารย์ดำรงที่ค้นหาอย่างลึกซึ้งไปสู่ความสงบและสมถะ เช่น ภาพมหจิตรกรรมเพื่อแผ่นดินไทย หรือบ้านไม้หลังเล็กๆในทิวทัศน์ชนบทอันกว้างใหญ่ ปรากฏอยู่ในผลงานจิตรกรรมนับสิบนับร้อยชิ้นคล้ายกับการฝึกฝนจิตของศิลปินซ้ำแล้วซ้ำเล่าเสมือนภาพแทนกาลเวลาที่หยุดนิ่งในใจท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของสังคมรอบ ๆ ตัว

ไทม์ไลน์ชีวิตการทำงานของ อ. ดำรง วงศ์อุปราช


ผู้สนใจสามารถรับชมนิทรรศการดำรง วงศ์อุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ -5 ธันวาคม 2564 ณ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น8 ในวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 19.00 น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์'บ้านเขา เมืองเรา'

วันที่ 11 ธ.ค.2566 - เวลา 8.50 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ พระราชดำเนินทรงเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “บ้านเขา เมืองเรา : Theirs and Ours” ประจำปี 2566 ครั้งที่ 17 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

'สูงวัย...ขยาย(ความ)' ศิลปะลดความขัดแย้งช่วงวัย

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว  และมีแนวโน้วการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ข้อมูล World Population Prospects 2022  ชี้ให้เห็นแนวโน้วสังคมสูงวัยในปี พ.ศ. 2593 ประชากรโลกที่มีอายุเกินกว่า 65 ปี จะมีสัดส่วนเพิ่มจากปัจจุบัน 10 % เป็น 16% ต่อประชากร

กฟผ. ชวนคนไทยชมนิทรรศการ “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9)

ม็อบปากคาบประชาธิปไตย ปลุกระดมหนัก ประกาศปิดแยกปทุมวัน สุดท้ายมากันหรอมแหรม

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มม็อบสามนิ้วด้อมส้ม โพสต์ข้อความระดมมวลชนปิดสี่แยกปทุมวัน เริ่มเวลา 17.00 น. เคลื่อนขบวนไปแยกราชประสงค์