เอกสารโบราณ'วัดไก่เตี้ย' ต้นแบบอนุรักษ์ครั้งใหญ่

คัมภีร์ใบลานที่เกิดขึ้นเมื่อสี่ร้อยปีก่อน ซึ่งวัดไก่เตี้ยเก็บรักษาไว้ ซึ่งยังคงความสมบูรณ์เอาไว้ได้ครบถ้วน  ถือเป็นเอกสารโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์  นำมาสู่การจัดทำโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ย เพื่อสำรวจ อนุรักษ์ ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณต่างๆ ในวัดแห่งนี้ให้เป็นระบบ วันนี้งานอนุรักษ์เอกสารโบราณสำเร็จ ผลจากความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร (ศก.)กับคณะสงฆ์  และชุมชนในพื้นที่ร่วมกันคัดถ่ายถอด อ่าน แปล และนำข้อมูลองค์ความรู้ในคัมภีรโบราณมาเผยแพร่ อนาคตจะพัฒนาวัดเป็นแหล่งเรียนรู้เอกสารโบราณต่อไป

กิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า  โครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ยเป็นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้กับประชาชน โดยเฉพาะรักษามรดกภูมิปัญญาให้คงอยู่และต่อยอดทุนภูมิปัญญาบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่น ช่วยพัฒนาประเทศ  ความสำคัญของเอกสารโบราณดังกล่าวมีเนื้อหาที่พิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  หากอ่านออก เข้าใจภาษานั้นๆ สามารถใช้ได้เลย ไม่ต้องแปลความ เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ยมีมากถึง 653 ผูก มีทั้งอักษรขอม อักษรไทย ภาษาบาลี ภาษาบาลี-ไทย และภาษาไทย แสดงให้เห็นถึงคุณูปการที่บรรพชนทำไว้  โดยเฉพาะภาษาบาลีบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า และถ่ายถอดเป็นภาษาไทย จำนวนถึง 41 มัด

“ ที่ตื่นเต้นและเหนือความคาดหมาย เป็นการค้นพบเอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน  เรื่อง วิธูรชาดก สร้างขึ้นในปี 2163 สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อักษรขอม ภาษาบาลี ฉบับล่องชาดข้างลาย ปัจจุบันอายุ 402  ปี  ถือเป็นเอกสารสำคัญ  แล้วยังคัมภีร์ใบลาน  เรื่อง กุสลวินิจฺฉยกถา สร้างขึ้นในปี  2232 สมัยสมเด็จพระเพทราชา อักษรขอม ภาษาบาลี-ไทย ฉบับทองทึบ ปัจจุบันอายุ 333  ปี  ถัดมา คัมภีร์ใบลาน  เรื่อง ภิกฺขุปาติโมกฺข สร้างขึ้นในปี  2343  สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อักษรขอม ภาษาบาลี ฉบับล่องชาด ปัจจุบันอายุ 222  ปี คิดว่า 3 คัมภีร์ที่พบมีตั้งแต่ต้นอยุธยา จนมาสู่เริ่มมีการสังคายนาพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 1 “ กิตติพันธ์ กล่าว

นอกจากการสำรวจอนุรักษ์เอกสารโบราณ กรมศิลปากรจัดทำบัญชีทะเบียนคัมภีร์ใบลานวัดไก่เตี้ย เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ พร้อมคำชี้แจงการดำเนินการโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ย เอกสารสำเนาถวายวัด อีกส่วนจัดเก็บที่หอสมุดแห่งชาติเพื่อบริการสืบค้นแก่ผู้สนใจ ขณะที่เอกสารต้นฉบับเก็บรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

“ การดูแลสมบัติล้ำค่าเอกสารโบราณวัดไก่เตี้ย  มีคณะสงฆ์จาก 4 วัด วัอรุณราชวราราม วัดศาลาแดง วัดชนะสงคราม และวัดสามพระยาร่วมสืบสาน อ่าน แปลใบลาน   วัดไก่เตี้ยเป็นต้นแบบที่ดีสามารถขยายผลให้กับวัดอื่นๆ ในการอนุรักษ์เอกสารโบราณ เพื่อส่งเสริมเครือข่ายภาคีอนุรักษ์เอกสารโบราณต่อไป นอกจากนี้ กรมศิลป์เตรียมอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมพิตร คาดว่าจะพบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่เช่นกัน ไม่รวมภาคเหนือที่มีคัมภีร์ใบลานรออ่านอีกจำนวนมาก  เนื้อหาบันทึกพุทธศาสนา สรรพวิชา วิถีชีวิต  อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์นักอ่านภาษาโบราณ  ส่วนเอกสารโบราณถ้าเก็บรักษาดีจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และพุทธศาสตร์ของผู้ครอบครอง  “ กิตติพันธ์ กล่าว

พระครูวศินปริยัตยากร เจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย กล่าวว่า วัดไก่เตี้ยเป็นวัดเก่าแก่ สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีประวัติกล่าวไว้ว่า เดิมเป็นวัดเล็กในสวน  เจ้าพระยารัตนาพิพิธ สมุหนายกคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1   มาบูรณะวัดให้สวยงาม  พระประธานในวิหารแกะสลักด้วยหินทราย ส่วนอุโบสถเดิมเป็นศิลปะทรงโรม สร้างสมัยรัชกาลที่ 3  ก่อนจะรื้อถอนสร้างใหม่แล้วเสร็จปี 2514 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ตัดลูกนิมิตร ส่วนพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระสมัยสุโขทัย อายุ 580 กว่าปี วัดมีแผนบูรณะ โดยนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างใหญ่กรมศิลป์ รับหน้าที่ออกแบบและปรับปรุงอุโบสถหลังนี้กลับมาเป็นทรงโรมคืนความดั้งเดิม

“ ส่วนคัมภีร์ใบลานเดิมอยู่ในตู้ในพระอุโบสถ แต่ไม่ได้จัดลำดับเป็นหมวดหมู่ กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการอนุรักษ์ปีที่แล้ว คัมภีร์ที่เราเก็บรักษาไว้ไม่สูญเปล่า ต่อไปจะจัดทำพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาเอกสารโบราณ หลายวัดเอกสารโบราณลดน้อยลง บางที่นำไปทิ้ง บางที่ปล่อยปละละเลย ตัวอักษรเลอะเลือน ผุ เปื่อย ตามธรรมชาติ แต่เอกสารโบราณวัดไก่เตี้ยยังสมบูรณ์ ต้องอนุรักษ์ไว้ เพื่อจรรโลงพุทธศาสนา พุทธศาสนาอยู่ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า วัดและคณะสงฆ์จะดูแลปกป้องเอกสารสำคัญนี้ไว้   “ เจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย กล่าว

วัฒนา พึ่งชื่น  นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากเอกสารโบราณ จำนวน 41 มัด 126  เลขที่ 653 รายการ  ยังมีเอกสารโบราณที่พลัดผูก หรือชาวบ้านเรียก “แตกผูก” เป็นคัมภีร์ที่ไม่สามารถจัดเข้าหมวดหมู่ใดๆ ได้ เราเก็บและห่อมัดเพื่อเป็นกรณีศึกษา รวมจำนวน 69 มัด วัดไก่เตี้ยอาจมีอายุถึงสมัยอยุธยา  ถ้าคัมภีร์ชุดนี้ไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น แสดงว่าอยู่ที่วัดมาแต่เดิม อายุคัมภีร์ที่พบเก่าสุด 402 ปี เรื่อง วิธูรบัณฑิต หรือ วิธูรชาดก  ตกหลงเหลือมาอยู่ที่วัดไก่เตี้ย ถือเป็นไฮไลท์  ส่วนเรื่อง กุสลวินิจฺฉยกถา เป็นคัมภีร์ที่สมเด็จสังฆราชสมัยอยุธยาแต่งเพื่อนำเทศน์ถวายหน้าพระที่นั่ง ส่วนคัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อง ภิกฺขุปาติโมกฺข เก่าแก่มาก ถ้าเป็นเอกสารโบราณภาษาบาลีดั้งเดิมจะไม่มีตัวเลขปรากฎ มีแต่ตัวหนังสือ เราต้องทะลุกำแพงภาษาไปอ่าน

“ สำหรับ 69 มัดที่แตกผูก ด้วยเวลาจำกัด ในทางวิชาการผมใช้วิธีการอ่านเอกสารโบราณโดยเปิดดูบันทึกท้ายคัมภีร์ ใบสุดท้ายก่อน ต่อด้วยต้นคัมภีร์ คือ หน้าแรกๆ และกลางคัมภีร์  ที่ซ้อนเร้นความรู้ไว้ ต้องสำรวจหา  ซึ่งที่หลุดลอดจากการอ่านไปอาจมีอายุมากกว่า 402 ปี ก็ได้ ฉะนั้น ยังมีงานอนุรักษ์เอกสารโบราณต้องทำต่อไป ต้องพึ่งนักภาษาโบราณ “ นักภาษาโบราณ กล่าวในท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศรีเทพมรดกโลกฉลองใหญ่ ผู้ชมทะลุล้าน

เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง จ.เพชรบูรณ์ มีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าชมโบราณสถานอันทรงคุณค่าระดับโลกมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว นับตั้งแต่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองยอดผู้เข้าชมทะลุหลักล้าน กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม 

ไทยส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ'โกลเด้นบอย'ที่สหรัฐ ก่อนส่งคืน

26 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุประติมากรรมสำริด 2 รายการ ซึ่งมีหลักฐานว่าถูกนำออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย

อนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน 2 รัชกาล วัดราชประดิษฐฯ

คัมภีร์ใบลานที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตร คัมภีร์โบราณนี้มีความสำคัญเทียบเท่ากับวัด ซึ่งเป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  เป็นคัมภีร์ใบลานที่เคยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมตั้งแต่สมัย ร.  4 ถือว่าเป็นคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง

อัญเชิญ12พระพุทธรูปมงคลให้สักการะสงกรานต์

13 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานพิธีเปิด “งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

สรงน้ำพระธาตุ-เทวดานพเคราะห์ เทศกาลสงกรานต์

เนื่องในเทศกาลสงกรานต์สงกรานต์ กรมศิลปากรขอเชิญพุทธศาสนิกชนและผู้สนใจร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2567  เวลา 09.00-16.00 น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประดับตกแต่ง'ขบวนเรือพระราชพิธี' มรดกวัฒนธรรมล้ำค่า

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของประเทศไทย กองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตามโบราณราชประเพณี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน