
การสร้างฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” ปีนี้ ได้พัฒนาให้อลังการมากขึ้น นอกจากมีส่วนสำคัญยิ่งกับการแสดงโขนและช่วยให้คนดูมีความรู้สึกและจินตนาการไปกับเรื่องราว ยังมีส่วนสำคัญในการสืบสานงานศิลปกรรมช่างไทยทุกแขนงด้วย

ช่างฝีมือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดสร้างเครื่องประกอบฉาก
ก่อนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะโลดแล่นบนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยปลายเดือนตุลาคมนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชวนชมห้องปฏิบัติงานสร้างฉากโขนสะกดทัพ ณ อาคารเรียน-รู้-เรื่อง-โขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างประติมากรรม และเครื่องประกอบฉาก พาชมเบื้องหลังการจัดสร้างประติมากรรมยักษ์หนุมานแปลงกายสุดยิ่งใหญ่ ที่เหล่าช่างฝีมือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กว่า 50 ชีวิต จัดทำด้วยความมุ่งมั่น รวมถึงงานจิตรกรรมฉากที่ทีมเพาะช่างเกือบ 20 คน บรรจงรังสรรค์ ภายใต้การนำทีมของอาจารย์วิชัย รักชาติ ผู้ดูแลการเขียนฉาก

ประติมากรรมหนุมานแปลงกายจัดสร้างใหม่
อาจารย์สุดสาคร ชายเสม กล่าวว่า การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” มีความคืบหน้างานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขน 95% มีฉากไฮไลท์ที่แตกต่างจากเดิม เนื่องจากเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ได้แก่ ฉากหนุมานแผลงฤทธิ์ แปลงร่างใหญ่ยักษ์ 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า ประติมากรรมหนุมานแปลงกายอ้างอิงมาจากภาพจิตรกรรมวัดพระแก้วและภาพหนุมานแปลงกายจากตู้พระธรรมโบราณสมัยอยุธยา พร้อมมีเทคนิคพิเศษในการออกแบบกลไกให้เคลื่อนไหวได้เพื่อให้เป็นไปตามบทพระราชนิพนธ์ ที่หนุมานใช้มือจับแมลงภู่ในหุบเขาไร้รักแล้วขยี้จนตาย ไมยราพที่ฝากดวงใจไว้ในแมลงภู่ก็ขาดใจตายในที่สุดจากนั้นหนุมานช่วยพระรามที่ถูกขังไว้ในดงตาล เข้าสู่ฉากสุดท้ายเหล่าเทพมาชุมนุมยินดี
“ เหตุที่เลือกฉากจบ ตอน”สะกดทัพ” ตามบทพระราชนิพนธ์ร. 1 เพราะมีความพิเศษตอนที่หนุมานใช้มือขยี้แมลงภู่ ห้ามกระพริบตา นอกจากนี้ ยังได้โชว์หนุมานขนาดใหญสูงถึง 7.50 เมตร ถือเป็นประติมากรรมหนุมานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา ยิ่งกว่านั้นเด็กๆ ชอบฉากหนุมานมาก “ อาจารย์สุดสาคร ย้ำไฮไลท์

ขั้นตอนลงสีลวดลายเครื่องศาสตราวุธ
นอกจากนี้ อาจารย์สุดสาครเผยมีฉากที่เคยสร้างความประทับใจอย่าง ฉากหนุมานอมพลับพลา ขนาดใหญ่ สูง 8.50 เมตร ซึ่งนำโครงสร้างเดิมนำกลับซ่อมบำรุงปรับปรุงใหม่ให้อลังการและมีความคงทนถาวรมากขึ้น เพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง ฉากกึ่งถาวรนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้งานศิลปกรรมฉากให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งตามพระราชเสาวณีย์ของสมเด็จพระพันปีหลวงสัมฤทธิ์แล้วในการฟื้นฟูโขน ฟื้นฟูศิลปะราชสำนัก ตระกูลช่างหลวง ชาติไทยเรารักษาเก่ง เป็นสิ่งที่เราประสบความสำเร็จ สมเด็จพระพันปีหลวงพระวิสัยทัศน์กว้างไกล
“ การสร้างสรรค์งานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขนเป็นความตั้งใจถวายพระเกียรติพระองค์ท่าน งานฉากทั้งรูปแบบและความงดงามเป็นตัวเล่าเรื่องและขยายจินตนาการของผู้ชมที่เคยฝันไว้ในบทพระราชนิพนธ์ออกมาเป็นจริง ช่วยขยายความท่าร่ายรำตัวละครโขนอยู่ในเหตุการณ์อะไร สร้างรสนิยมให้ผู้ชมในการชมซิลปะการแสดงในราชสำนักชั้นสูง เพิ่มอรรถรส และความตื่นเต้นให้กับคนดู เช่น ฉากเขาชนกัน ซึ่งหนุมานต้องฝ่าด่านภูเขาไฟที่ร้อนระอุ นอกจากงานฉาก ยังมีเทคนิคแสง สี เสียง ทำงานร่วมกัน โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดแล้ว อยากให้คนไทยได้มาชมพระอัจฉริยะภาพของสมเด็จพระพันปีหลวง รวมถึงมาให้กำลังให้คนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง “ อาจารย์สุดสาคร กล่าว

ช่างฝีมือเพาะช่างสร้างฉากโขน’สะกดทัพ’
การสร้างฉากที่จะดึงดูดสายตาผู้ชมโขน ตอน”สะกดทัพ” อาจารย์สุดสาคร เล่าว่า ฉากออกแบบและเขียนใหม่เกือบทั้งหมดระดมช่างฝีมือดีมาช่วยกันสร้างสรรค์ฉากให้สวยสมบูรณ์แบบ โดยมีฉากใหญ่ 4 ฉาก เช่น ฉากเขาชนกัน ฉากป่าตาล ฉากป่าทึบ ฉากม่านพระ และฉากขา ซึ่งเป็นฉากย่อย

อ.สุดสาคร ชายเสม โชว์แบบร่างฉากม่านพระ
ความพิเศษเป็นฉากม่านพระจัดทำขึ้นใหม่แทนฉากเดิมที่ทอด้วยพรมของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งชำรุดเสียหายไปหมดแล้ว โดยฉากม่านพระใช้ผ้าทอไร้รอยต่อจากประเทศจีน สูง 12 เมตร ยาว 20 เมตร ออกแบบภายใต้แนวคิดการจัดงานพิธีที่ต้องอัญเชิญพระพุทธเจ้า และทวยเทพทุกพระองค์ อาทิ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระภรตมุนี พระพิฆเนศวร พระวิษณุกรรม พระประโคนธรรพ พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น นับเป็นฉากที่ต้องใช้ความปราณีตในการจัดทำ มีความยาก วาดด้วยลายรดน้ำสีทองบนพื้นสีดำ ใช้เวลาทำเพียง 1 สัปดาห์ นับเป็นอีกความอัศจรรย์ของงาน และเป็นความสิริมงคลกับผู้ชม
“ ฉากออกแบบให้มีความประสานกับนาฏศิลป์โขนละครที่จะแสดง รวมถึงได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู เพื่อให้คนไทยเห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่ครูบาอาจารย์สั่งสมงานศิลปกรรมให้กับลูกศิษย์ได้ใช้สร้างงานจนทุกวันนี้ ซึ่งงานเขียนฉากทีมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รับผิดชอบทุกปี ตนมีแนวคิดจัดทำหนังสือกว่าจะเป็นการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในอนาคต “ อาจารย์สุดสาคร กล่าว

ขยายแบบจัดสร้างฉากม่านพระขึ้นใหม่
ความวิจิตรบนเวทีนอกจากฉากและประติมากรรม ยังมีความวิจิตรเครื่องโขนที่เตรียมสะกดทุกสายตา ทั้งพัสตราภรณ์ เครื่องแต่งกายโขน และถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องประดับตกแต่ง ซึ่งจัดทำโดยช่างฝีมือรุ่นใหม่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่มีทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญมากว่า 10 ปี ครั้งนี้ มีการสร้างเครื่องแต่งกายของไมยราพและตัวโขนอื่นๆเพิ่มอีกกว่า 100 ชุด เพื่อให้พัสตราภรณ์งดงามสมการรอคอยโขนมากว่า 3 ปี
สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” กำหนดจัดแสดงวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในวันที่ 28 ต.ค.นี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวธ.สนับสนุนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
29 ต.ค.2565 - มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการ รับเงินสนับสนุน จำนวน 6,000,000 บาท ตามโครงการเงินอุดหนุนการจัดแสดงโขน ดนตรี
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรโขนรามเกียรติ์ ตอน'สะกดทัพ'
29 ต.ค.2565 - เวลา 19.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพ
15ปี'โขนศิลปาชีพฯ' อลังการศาสตร์ศิลป์
เหลือเวลาอีก 48 วัน ที่โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะยกทัพมาแสดงบนเวทีสร้างความประทับใจให้ผู้ชม สำหรับปีนี้จัดการแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” ตามบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ รัชกาลที่ 1 หลังจากโควิด-19 ทำให้งดแสดงโขนมา 2 ปี ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตัวอย่างการแสดงฉากสำคัญที่น่าตื่นตาตื่นใจ ได้แก่ ขบวนไมยราพและหุงสรรพ
นักแสดงรุ่นใหม่สืบสาน ’โขนพระราชทาน’มรดกล้ำค่า
โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หรือโขนพระราชทาน ซึ่งคนไทยและคนต่างชาติต่างรอคอย กลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ตอนนี้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เตรียมพร้อมหลังจากที่ว่างเว้นยาว 2 ปีจากสถานการณ์โควิดระบาด โดยเลือกเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ”
เก่งเกินอายุ! นักแสดงรุ่นเยาว์ร่วมโขนพระราชทานตอน'สะกดทัพ'
เพื่อเป็นการส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสฝึกฝีมือและมีใจรักในการแสดงโขน ล่าสุด มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดให้มีการทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” มาร่วมทดสอบความสามารถในครั้งนี้ โดยผู้เข้าร่วมทดสอบจะได้รับบทบาทตามความสามารถ
สืบสาน'โขน' เฉลิมพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน
การแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีชื่อเสียงและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากว่า 10 ปี ความงดงามของศิลปะการแสดงโขนที่สร้างสรรค์ขึ้นหลอมรวมศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง