ลิตเติ้ลอินเดีย : พาหุรัด แลนมาร์คประวัติศาสตร์

ย่านพาหุรัดและคลองโอ่งอ่างเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาวอินเดียในประเทศไทย เพราะแสดงถึงความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยกับชาวอินเดีย  ที่สำคัญมีวิถีชุมชนชาวอินเดียที่มีชีวิตชีวาและเป็นที่คุ้นเคยมาตราบจนปัจจุบัน

พาหุรัดตอนนี้พื้นที่ประดับประดาไปด้วยแสงไฟในเทศกาลดิวาลี  ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในฐานะ “ลิตเติ้ลอินเดีย” (The Little India) ผ่านการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี/ดีปาวลี (Diwali/Deepavali) หรือที่ใช้ชื่อ “เทศกาลแห่งแสงสว่าง” ให้แก่คนเชื้อสายอินเดีย   ซึ่งมีวิถีชีวิต  วัฒนธรรม ศาสนา  อาหารการกิน เป็นตัวเล่าเรื่องและดึงดูดให้ผู้มาเยือนทำความรู้จักเรื่องราวของอินเดียน้อยในไทย

บรรยากาศย่านเก่าที่มีงานดิวาลีคึกคักเช้าจรดค่ำ  ชาวอินเดียมาสักการะบูชาพระพิฆเนศและพระแม่ลักษมีเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ  ตลาดผ้าเลื่องชื่อผู้คนมาเลือกซื้อเสื้อผ้า ชุดส่าหรี เป็นของขวัญและของฝากให้กับคนที่รักเนื่องในเทศกาลสำคัญ ร้านอาหารอินเดียลูกค้าไม่ขาดสาย ไม่รวมร้านขายเครื่องหอม ทั้งกำยาน น้ำมันหอม ธูปเทียนหอม ตะเกียงดินเผา ใกล้กันมีร้านขายเครื่องบูชาและเทวรูป มีชาวฮินดูกำลังจับจ่ายซื้อของในเทศกาลอันเป็นอัตลักษณ์

นอกจากงานฉลองดิวาลีระหว่างวันที่ 21-23 ต.ค.2565 แล้ว สมาคมอินเดียประเทศไทย กรุงเทพมหานคร  และภาคีเครือข่าย ยงมีกิจกรรมเดินทอดน่องพาเที่ยวลิตเติ้ลอินเดีย ไปชมวิถีแห่งซิกข์ที่คุรุดาวา แวะร้านอาหารอินเดียระดับตำนาน   พาไปเลือกซื้อเครื่องบูชาและเทวรูปรับเทศกาลดิวาลี  ชวนเดินลัดเลาะไปลิ้มลองซาโมซ่าเจ้าแรกในประเทศไทย เป็นแป้งรูปสามเหลี่ยม ไส้แน่นๆ ทอดในกะทะ รสชาติถึงเครื่อง

จากนั้นเดินข้ามถนนไปออกถนนคนเดินเลียบคลอง สู่พื้นที่คลองโอ่งอ่าง ที่มีร้านอาหารอินเดียดังๆ เปิดขายริมคลอง ตื่นตาตื่นใจกับเทศกาลดิวาลีริมคลองโอ่งอ่าง รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองของคนอินเดียมากมาย ล้วนเป็นกิจกรรมที่สานต่อประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชนอินเดียและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย แต่ละเรื่องราวตื่นเต้นและน่าสนใจครบรส

นายชวน ธากูร์ นายกสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย  เล่าความเป็นมาของชุมชนอินเดียที่นี่ว่า ชาวอินเดียได้เดินทางมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยยาวนานกว่า 200 ปีแล้ว  จากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันเป็นคนเชื้อสายอินเดียรุ่นที่ 6 ชาวอินเดียส่วนหนึ่งนับถือศาสนาซิกข์ มีวิถีที่ผูกพันกับศาสนา ในชุมชนมี”คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา” หรือที่เรียกกันว่า “วัดซิกข์”วัดแห่งนี้มีประวัติยาวนาน  สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ระเบิดลงกลางศาสนสถานแห่งนี้แม้สร้างความเสียหายให้อาคาร แต่ไร้คนเจ็บและตาย แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของที่แห่งนี้ ปัจจุบันเป็นศูนย์รวมใจชาวซิกข์ ส่วนชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีวัดวิษณุ ตั้งอยู่ในเขตสาทร เป็นวัดสำคัญ

“ ดิวาลีเป็นเทศกาลที่มีความหมายสากล เป็นการฉลองชัยชนะธรรมะเหนืออธรรม เป็นสัญลักษณ์พระรามกลับเมืองพร้อมนางสีดา หลังปราบทศกัณฐ์ พสกนิกรจุดไฟให้แสงสว่างต้อนรับ สำหรับพระแม่สีดาเป็นอวตารหนึ่งของพระลักษมี เทพเจ้าแห่งการเงินนำความรุ่งโรจน์มาให้ ชาวอินเดียแต่ละภาคมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่เมื่อถึงงานดิวาลีจะมารวมกันฉลองงานปีใหม่อินเดียคล้ายเทศกาลตรุษจีน    เช้าไปวัดแล้วพบปะเยี่ยมเยือนพี่น้องตามบ้าน มีขนมให้กัน รวมถึงจะซื้อทอง ซื้อเสื้อผ้า และเครื่องประดับใหม่ๆ เป็นของขวัญ แม้มาจากต่างพื้นที่กัน แต่ชาวอินเดียที่อยู่ในไทยจะรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยมีพาหุรัดเป็นไอคอนิกมาตลอด” นายชวน บอก

มาเที่ยวงานดิวาลี เขาบอกจะได้สัมผัสพิธีทางศาสนา มีการสวดขอพรพระคเณศและพระลักษมีสำหรับงานดิวาลีโดยเฉพาะ ขนมหวาน โดยเฉพาะขนมลาดู ขนมโมทกะ ที่ชาวไทยเชื้อสายอินเดียนำไปถวายพระพิฆเนศและพระแม่ลักษมีจะนำมาให้แบ่งปันคนเชื้อสายอินเดียและนักท่องเที่ยวได้รับประทาน เพื่อเป็นมงคลชีวิตอีกด้วย  

สำหรับกรุงเทพมหานครที่ร่วมจัดงานดิวาลีครั้งแรก มีเป้าหมายให้ พาหุรัด คลองโอ่งอ่าง และสะพานเหล็ก เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ อยู่ในโรดแมปของนักท่องเที่ยว เหมือนที่นักท่องเที่ยวไม่พลาดการเดินทางไปเยือนไชน่าทาวน์ที่ถนนสายมังกรเยาวราช

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  กรุงเทพฯ มีความแตกต่าง หลากหลาย มีความผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมาแต่อดีต อย่างคลองโอ่งอ่าง มีความสำคัญคือเป็นจุดบรรจบของเขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีทั้งชุมชนชาวจีนและชุมชนชาวอินเดียในพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตหลากหลายมาอย่างยาวนาน ส่วนพาหุรัดมีความร่ำรวยของวัฒนธรรม กลางพาหุรัดยังมีศาลเจ้าของคนไทยเชื้อสายจีนตั้งอยู่อีกด้วย

“ หัวใจของเมือง คือ การรวมตัวของพหุวัฒนธรรม ดินแดนที่มีความหลากหลาย โดยกรุงเทพฯ ถือเป็นชุมชนประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่รวมตัวของชาติพันธุ์มากมาย การร่วมจัดเทศกาลดิวาลีจะเป็นการปักธงสำคัญ หวังจะเป็นการปักธงงานแรกที่สำคัญ ทำให้ย่านลิตเติ้ลอินเดีย พาหุรัด คลองโอ่งอ่าง และบริเวณใกล้เคียงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก” นายศานนท์ ย้ำ

 รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้จะโอบล้อมไปด้วยแสงไฟและแสงเทียน ทำให้ทุกคนได้เข้าถึงวัฒนธรรมที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาวอินเดีย เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดงานหรือกิจกรรมในย่านลิตเติ้ลอินเดียแห่งนี้ขึ้นอีก โดยไม่ต้องไปจัดในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าแล้วต้องรื้อทิ้งเมื่อจบงานเหมือนที่ผ่านมา แต่เราจะทิ้งร่องรอยประวัติศาสตร์ ทิ้งความหวัง ทิ้งความทรงจำเกี่ยวกับอินเดียไว้ที่นี่ ขอชวนชาวกรุงเทพฯ และคนในย่านร่วมกันส่งต่อความหวังนี้ เพื่อให้ย่านลิตเติ้ลอินเดียกลายเป็นย่านที่สำคัญของกรุงเทพฯ ต่อไป

ดิวาลีจะกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย เป็นอีกทัศนะจาก ปรีชา จำปี หรือ “วิคกี้” กรรมการผู้จัดการ เดสติเนชั่น สยาม กล่าวว่า ปัจจบันนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทยเป็นอันดับหนึ่ง  เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา ถือเป็นตลาดอนาคต ในฐานะที่เป็นคนเชื้อสายอินเดีย และเติบโตในธุรกิจท่องเที่ยว งานดิวาลีครั้งนี้จัดยิ่งใหญ่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาคนอินเดียทั่วโลก จากดิวาลี จะจัดงานอื่นๆ ต่อไป เดือนมีนาคม ปีหน้าจัดเทศกาลสาดสีโฮลี เป็นโอกาสนำเข้านักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ 

ชวนเที่ยวดิวาลี พื้นที่จัดงาน แบ่งเป็นคลองโอ่งอ่าง จัดกิจกรรมบันเทิงและการแสดง มีดีเจเปิดเพลงอินเดีย, มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองของอินเดีย, โชว์แสงสีเสียงสไตล์บอลลีวูด และจำหน่ายอาหารอินเดียทุกภาค ส่วนห้างอินเดีย เอ็มโพเรียม เป็นพื้นที่จัดแสดงด้านการท่องเที่ยว และโชว์เคสให้คนไทยไปท่องเที่ยวอินเดีย  ,ห้างไชน่าเวิลด์ เป็นพื้นที่ทางศาสนาและวัฒนธรรม เปิดให้สักกาะบูชาพระพิฆเนศ และพระแม่ลักษมี เพื่อเสริมดวงชะตา โชคลาภ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต  ส่วนวัดซิกข์  พื้นที่ทางศาสนาและวัฒนธรรม และยกครัวทานมาแจกจ่ายอาหารให้ประชาชน โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนาตามหลักคำสอนของศาสนาซิกข์

หากการผลักดันพาหุรัดเป็น”ลิตเติ้ลอินเดีย” สำเร็จจะเป็นแลนด์มาร์คใหม่และสร้างความเข้าใจพหุวัฒนธรรมมากขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์ริมคลองรอบกรุง 'คลองโอ่งอ่าง-สะพานหัน-วัดบพิตรพิมุข'

สงกรานต์นี้เปิดเส้นทาง “คลองโอ่งอ่าง-สะพานหัน- วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร” เลาะเลียบคลอง ชมสตรีทอาร์ต เรียนรู้ประวัติศาสตร์พหุวัฒนธรรมให้เย็นฉ่ำชื่นใจ ถือเป็นพื้นที่น้องใหม่งาน Water Festival 2024 พร้อมเชิญร่วมกิจกรรมมงคล ย้อนวันวานตักบาตรริมคลองยามเช้า

เด็ก รทสช.ข้องใจ กทม.ทิ้งร้างคลองโอ่งอ่างทั้งที่เป็นแลนด์มาร์ค

สส.รวมไทยสร้างชาติกระทุ้ง กทม.ปล่อยทิ้งคลองโอ่งอ่างให้กลับสู่สภาพเดิมจนหมดคุณค่าความเป็น Landmark แห่งใหม่ เมินจัด “ถนนคนเดิน” ทั้งที่สร้างรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่

นายกฯ ย้ำกลางครม. ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ไม่ใช่หาเสียง แต่ติดตามปัญหาระบายน้ำ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสั่งการ และคำปรารภของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โฆษกรัฐบาลเผยนายกหนุนปรับภูมิทัศน์ทั่วกรุงเทพชูคลองโอ่งอ่างต้นแบบ

โฆษกรัฐบาล เผย “นายกฯ” สนับสนุนการปรับภูมิทัศน์ทั่วกรุงเทพ ฯ ชู "โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง" ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ มอบ กทม. กวดขันมาตรการ COVID Free Setting รองรับนักท่องเที่ยว ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ นี้