เริ่มเห็นผล 'ทำนายั่งยืน'ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ชาวนาร่วมอบรมการใช้เครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ

“ข้าว” พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย มียอดส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศอินเดีย และยังเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่เบื้องหลังกระบวนการทำนา  มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  อิงตามรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 2 (The 2nd Biennial update report: SBUR) ระบุว่า ภาคเกษตรไทย ยังคงมีวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่นิยมให้มีน้ำขังอยู่ในแปลงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซมีเทน ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 55% ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

ดังนั้นในการเพิ่มพื้นที่การทำนาข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ จะช่วยให้มีศักยภาพสูงมากในการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างดี เกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ของการผลิตข้าว จึงเป็นกำลังการขับเคลื่อนสำคัญที่ต้องเริ่มหันมาคำนึงถึงประโยชน์และร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับ   องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ทำโครงการการทำนาที่ลดผลกระทบจากโลกร้อน  หรือที่เรียกว่า โครงการ Thai Rice NAMA  โดย GIZ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร จาก NAMA Facility กองทุนที่ก่อตั้งโดยอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2561-2566) เพื่อดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกรหนึ่งแสนครัวเรือนในเขต 6 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จ.ชัยนาท,สิงห์บุรี,อ่างทอง,พระนครศรีอยุธยา,ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่   เป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (GAP++) มีมาตรการจูงใจสนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบในการลดการปล่อยก๊าซ

รวงข้าวที่ผ่านการปลูกด้วยวิธีแบบยั่งยืน

ผลสำเร็จของแนวทางการทำนาข้าวที่ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศน้อยลง หรือการทำนายั่งยืน ในโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม(Thai-German Climate Programmer-Agriculture) ในพื้นที่ลุ่มจ้าพระยา 6 จังหวัด ดังกลาว   มีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนการเกษตรทั้งในส่วนกลาง และในระดับจังหวัดเข้ารับการฝึกอบรมการผลิตข้าวยั่งยืนรวม 30,389 คน รวมพื้นที่นากว่า 2 ล้านไร่

 โดยทั้ง 6 จังหวัด ได้ร่วมอบรมและปรับรูปแบบการทำนา เป็นการทำนาแบบยั่งยืน คือ การปรับเปลี่ยนที่ประยุกต์กับการทำนาแบบดั้งเดิมของไทยผ่าน 4 วิธีหลัก ได้แก่ 1.ใช้เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ที่มีความละเอียดแม่นยำ สามารถปรับหน้าดินในสภาพที่ดินแห้งได้มีประสิต่อทธิภาพ เหมาะสมในระดับความคลาดเคลื่อน +/- 2 ซม. ทั่วแปลง  2.การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว โดยข้าวต้องการน้ำมากที่สุดตั้งแต่ 20 ก่อนการออกร่วง และ 20 วันหลังการออกรวง ซึ่งไม่ใช่การขังน้ำไว้ในนาตลอดเวลา เพราะน้ำที่ขังในนาเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการสะสมของก๊าซมีเทนได้มาก

3.เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารในนาข้าว ตั้งแต่การเลือกใช้ชนิดปุ๋ยให้เหมาะสม เพียงพอ ให้ตรงตามเวลาที่ข้าวต้องการ คือ ระยะกล้า ระยะแตกกอ และ ระยะสร้างรวงอ่อน และ 4.เทคโนโลยีการจัดการฟางข้าวและตอซังข้าว โดยไม่ใช้วิธีการเผา คือ การไถกลบฟาง/ตอซังขาวลงในนา และ ย้ายฟางข้าวออกจากนา ไปเป็นอาหารสัตว์ วัสดุทำเพาะเห็ด หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ บวกกับอีก 1 วิธี คือ ใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การใช้กับดักแสงไฟ ตาข่าย ปลูกพืชเป็นแนวกันชน และทางเลือกสุดท้ายคือการใช้สารเคมี  

หลังจากทำนาด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือ ระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ(Measurement, Reporting and Verification :MRV) เพื่อจัดเก็บและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ  ที่ช่วยวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทางโครงการฯได้พัฒนาขึ้น ซึ่งในช่วงก่อนเริ่มโครงการฯ ได้มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากนาข้าวทั้ง 6 จังหวัดได้ 1.22 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หลังจากทำโครงการฯได้ 4 ปี จึงมีการประเมินอีกครั้งพบว่าก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวปลดปล่อยลดลง 0.87 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หรือ 29% ต่อฤดู  

กฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์ข้าวในประเทศไทยยังคงดี ซึ่งผลผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 30 ล้านตัน และข้าวสารประมาณ 20 ล้านตัน โดยราคาเป็นไปตามกลไกของตลาดของข้าวแต่ละชนิด ด้านการส่งออกข้าวไทยประเภทข้าวเปลือกประมาณ 10 ล้านตัน และข้าวสาร 6-7 ล้านตัน ครองตำแหน่งประเทศการส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 เนื่องจากมีพื้นที่การปลูกน้อยกว่าอินเดียที่ครองอันดับ 1 ทั้งนี้ในด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ร่วมกับโครงการฯของ GIZ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะการใช้ระบบ MRV ในตรวจวัดก๊าซเรือนกระจก ในพื้นที่นำร่องทั้ง 6 จังหวัด จำนวนกว่า 2 ล้านไร่นั้น พบว่าสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้เกือบ 1 ล้านตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่า

กฤษ อุตตมะเวทิน

“โครงการทำนาแบบยั่งยืนนี้ ทำให้ชาวนาได้ทั้งประโยชน์ในการลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้น ปรับสู่การผลิตสมัยใหม่ ลดข้อกีดกั้นผลผลิตจากนานาชาติด้วยมีวิธีการปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการออกสัญลักษณ์ในการรองรับมาตรฐาน จึงนับว่าเป็นอีกแผนงานในผนวกการทำนายั่งยืนมาปรับใช้ในเกษตรกรที่จะมีการขยายพื้นที่ต่อไปอีก 25 จังหวัด อย่างไรก็ตามต้องสร้างความใจให้กับเกษตรกร ในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำนา เบื้องต้นก็ได้มีการพัฒนาคู่มือการจัดทำระบบ MRV และเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ  ชุดสื่อการเรียนรู้การผลิตข้าวยั่งยืน”กฤษ กล่าว

ดร.โทมัส แยเคล

ดร.โทมัส แยเคล ผู้เชี่ยวชาญ GIZ-CIM ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ 6 จังหวัดว่า ในการประเมินการตรวจสอบที่สำคัญคือพื้นที่และวิธีการทำนา โดยในการตรวจวัดคือการนำตัวอย่างก๊าซที่พบในนาใส่ลงไปในเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ  เพื่อนำไปคำนวนการปลดปล่อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นกลางและนำไปใส่ในระบบ MRV โดยในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด ผลที่ได้มาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าในช่วงฤดูฝนปี 2019-2021 ที่มีน้ำเยอะ พบว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าฤดูอื่นๆ อย่างในพิ้นที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 5 จังหวัด อีกทั้งยังมีสภาพภูมิจังหวัดลักษณะเป็นแอ่ง จึงเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นอีกปัจจัย นอกจากการทำนาแบบเดิม

ดร.โทมัส กล่าวอีกว่า ในการทำนาแบบเดิมของชาวนาพบในแปลงนาสาธิตของจ.ปทุมธานีพบการปล่อยก๊าซมีเทน 3.58 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน ส่วนอีก 5 จังหวัดเฉลี่ยมีการปล่อยก๊าซมีเทนราวๆ 1.23 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน เท่ากับว่าจ.ปทุมธานีมีการปลดปล่อยสูงถึง 3 เท่า แต่หลังจากมีการปรับการใช้น้ำในแปลงนา พบค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซมีเทนจ.ปทุมธานีลดลงราวๆ 1.88 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน และจังหวัดอื่นก็ลดลงรวมเฉลี่ย 0.50  กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน ยิ่งในช่วงฤดูแล้งก็ทำให้ก๊าซมีเทนที่ถูกปลดปล่อยลดลง รวมไปถึงราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะช่วยทำให้เกิดการบูรณาการในภาคการเกษตรอื่นๆ และการใช้เทคโนโลยีต่างก็สามารถนำไปใช้กับพืชเกษตรที่ไม่ใช่เพียงแค่ข้าวเท่านั้นอีกด้วย


โครงการจะจบลงในปี 2566 ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกดำเนินโครงการนำร่องผลิตข้าวที่ยั่งยืน  โดยเชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำนา สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แพทองธาร' ชูวิสัยทัศน์เวทีกรุงเบอร์ลิน ยกระดับไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยวระดับโลก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในงาน Amazing Thailand Networking Event with the Prime Minister of Thailand ซึ่งจัดขึ้นภายใต้งาน Internationale Tourismus-Börse Berlin 2025 (ITB Berlin 2025)

นายกฯ ถึงนครซูริก หารือผู้บริหารบริษัท DKSH ขอช่วยสนับสนุนสินค้าเกษตรกรไทย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับ นาย Stefan P. Butz ผู้บริหารบริษัท DKSH Holding Ltd. ระหว่างการเดินทางไปยังนครเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อร่วมงาน ITB Berlin 2025

มช. นำ Big Data พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ร่วมบูรณาการ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ภายใต้ โครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศไทย

สภาพภูมิอากาศวิกฤตหนัก ‘ซีเค พาวเวอร์’ เดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างฤดูหนาวที่รัฐแคชเมียร์ประเทศอินเดียปีนี้อุณหภูมิสูงขึ้นราว 6-8 °C ทำให้ต้องเผชิญฤดูหนาวที่ไม่มีหิมะซึ่ง

'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จับมือ TOA เดินหน้าพิชิต Net Zero มุ่งใช้นวัตกรรมสีรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ยกระดับที่อยู่อาศัย เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

“เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” ผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน จับมือพันธมิตร “TOA” ผู้นำเบอร์หนึ่งในตลาดสีทาอาคาร เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง