สร้าง‘ดอนกอยโมเดล’ พัฒนาผ้าครามไทยสู่สากล

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมการทอผ้าของไทย ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเกี่ยวกับผ้าไทยพื้นถิ่นตามชุมชนในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ทรงสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอย่างครบวงจร

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามเกิดเป็นลวดลายใหม่ๆ ดีไซน์ทันสมัย และหลายเฉดสีตามเทรนด์แฟชั่น สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จาก’ดอนกอยโมเดล’ต่อยอดสู่โครงการต้นแบบที่ยั่งยืนด้วยการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (มท.)และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดำเนินงานตามพระราชดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ มุ่งพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนบ้านดอนกอยสู่การเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ วันที่ 8 ม.ค. 2566 มท.น้อมนำแนวทางพระดำริจัดสร้าง “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษาฯ “ เพื่อประกาศพระเกียรติคุณที่ทรงมีพระเมตตาต่อคนไทย โดยเฉพาะบ้านดอนกอย พระราชทานโครงการพระดำริแห่งแรก “ดอนกอยโมเดล” เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณประโยชน์ 

จุดเริ่มต้นดอนกอยโมเดลมาจากเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย วันที่ 15 พ.ย. 2563 มีพระประสงค์พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านดอนกอยให้มีความทันสมัย ยกระดับภูมิปัญญาและชิ้นงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น

เหตุนี้ กรมการพัฒนาชุมชนบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยและผู้เชี่ยวชาญออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวบรวมองค์ความรู้วัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า การย้อมคราม และการใช้สีธรรมชาติ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นสากล รวมถึงยกระดับเป็น Premium OTOP ส่งเสริมภาพลักษณ์ผ้าไทย

ปลัด มท. กล่าวว่า ส่งเสริมให้มีการพัฒนามาจากลายดั้งเดิมของชุมชนบ้านดอนกอย ต่อยอดด้านการใช้สีธรรมชาติจนพัฒนาได้ถึง 10 โทนสี รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ชุมชนบ้านดอนกอย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผ้าไทย ทำให้สวมใส่ได้ในทุกโอกาส การพัฒนาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามเป็นผ้าไทยที่ใส่สนุก มีลวดลายใหม่ๆ ดีไซน์ที่ทันสมัย  ทุกอำเภอของสกลนครนำโมเดลนี้ไปขับเคลื่อน ปัจจุบันต่อยอดสู่โครงการ “ดอนกอยโมเดลสู่สากล” สร้างคอลเลคชั่นร่วมสมัย พร้อมจัดทำหนังสือ “ดอนกอยโมเดล”  รวบรวมการพัฒนาหมู่บ้านย้อมครามดอนกอย  

ในฐานะหัวเรือสำคัญบอกด้วยว่า การฟื้นฟูภูมิปัญญาผืนผ้าพื้นถิ่นมีความร่วมมือจาก 10 กลุ่มชุมชนร่วมโครงการ คัดเลือกผ้าที่โดดเด่นนำไปออกแบบเสื้อผ้าโดยนักออกแบบชั้นนำ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มทอผ้า จากเดิม 700 บาทต่อคนต่อดือน เพิ่มเป็นเดือนละกว่า 15,000 บาท ส่วนศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยจะเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองจ.สกลนคร เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการทอผ้า และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เล่าว่า เมื่อครั้งพระองค์เสด็จไปทรงเยี่ยมกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ได้มีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำเรื่องลายผ้าโบราณ เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ย้อมผ้าในโทนสีที่อ่อนลงให้มีความร่วมสมัย และปรับการทอชายผ้าถุงให้กว้าง ปรับทอหัวผ้าถุงให้ยาวขึ้น ทรงมีพระวินิจฉัยให้ผสมลวดลายเดิมเข้าด้วยกันให้เกิดลายใหม่ร่วมสมัย เช่น  ทอผ้าลายโคมไฟใหญ่สลับกับลายพิกุลทอง ทอผ้าลายต้นกล้วยแทรกด้วยลายฟันปลา และทอผ้าลายตุ้มป่องใหญ่ให้มีสัดส่วนลายเล็กลง เมื่อครั้งเสด็จเปิดงาน OTOP City 2020  กลุ่มบ้านดอนกอยนำผ้าที่ทอขึ้นตามพระวินิจฉัย ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทอดพระเนตร พระองค์ตรัสว่าสวยมาก และพระราชทานพระดำริให้ปรับขั้นตอนการค้นหมี่ ให้ฟืมกับโฮงหมี่มีขนาดเท่ากัน ไม่ให้เส้นขอบด้ายมีพื้นที่เหลือเกินจำเป็น

ด้าน นางถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย กล่าวด้วยความซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณว่า อดีตเราทอผ้าแบบโบราณ  ทอเฉพาะใช้   พระองค์ท่านมาพระราชทานเสริมให้ลายผ้ามีความหลากหลาย เพื่อให้ชุมชนเรามีรายได้  พระองค์ทรงตรัสว่า “แม่ ๆ หนูมานี่มาให้กำลังใจแม่ ๆ นะ แม่ ๆ อย่าขี้คร้านนะ” ทรงมีน้ำพระทัยนัก  เมื่อพระองค์ทรงใช้พระหัตถ์จับเครื่องมือเครื่องทอ ได้แต่ทูลว่าเป็นห่วงพระองค์ ทรงตรัสตอบว่า “แม่ไม่ต้องห่วง หนูทำได้ หนูเคยตามเสด็จสมเด็จย่าบ่อย ๆ” นอกจากนี้ สิ่งที่พวกเราทำไม่ได้ พระองค์ทรงโปรดให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญช่วยให้แง่คิด ข้อชี้แนะ องค์ความรู้ด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น รายได้เพิ่ม ลายผ้าเฉดสีมากขึ้น ทั้งครามน้ำหนึ่ง ครามน้ำสอง ครามน้ำกลาง และผสมผสาน เราจะน้อมนำพระดำริมาทำให้วิชชาลัยดอนกอยเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกหลานได้สืบสาน รักษา และพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มท.เผยยอดไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ 50,830 ราย สำเร็จแล้ว 28,253 ราย

กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัด อำเภอ เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่องด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้

'อนุทิน' นำ รมช.-ขรก. จัดงาน 132 ปี วันสถาปนากระทรวงมหาดไทย

'อนุทิน' นำข้าราชการ จัดงานครบรอบ 132 ปี วันสถาปนากระทรวงมหาดไทย น้อมรำลึกและสืบสานปณิธานแห่งองค์ปฐมเสนาบดี บำบัดทุกข์บำรุงสุข

มท.โชว์ยอดไกล่เกลี่ยหนี้สำเร็จ 2.5 หมื่นราย พบมีส่งต่อให้ ตร. ดำเนินการ 376 คดี

ปลัดมหาดไทย เผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว 42,717 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 25,867 ราย มูลหนี้ลดลง 1,019 ล้านบาท กำชับทุกจังหวัดเร่งรัดไกล่เกลี่ยหนี้อย่างต่อเนื่อง

สั่งผู้ว่าทั่วปท. เข้มสงกรานต์ ลดอุบัติเหตุทางถนน ตั้งด่านค้นอาวุธ-ยาเสพติด

ปลัด มท. เน้นย้ำผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ บูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดำเนินมาตรการเข้มข้นทุกมิติ เพื่อสร้างความปลอดภัยในสวัสดิภาพของประชาชนต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ 2567

รีบด่วน! มหาดไทยเคานต์ดาวน์เปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 3 วันสุดท้าย

ปลัดมหาดไทยเผย ผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 88 ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 1.47 แสนราย มียอดหนี้นอกระบบรวมกว่า 10,744 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 17,287 ราย มูลหนี้ลดลง 737 ล้านบาท เน้นย้ำ ทุกพื้นที่เร่งประชาสัมพันธ์ช่วงสุดท้าย พร้อมเร่งดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยให้ครบ 100% ตามเป้าหมาย โดยจะปิดรับลงทะเบียน 29 ก.พ. 67 นี้

“บิ๊กเก่ง” ทิ้งทวนก่อนหมดอำนาจ ทำศึกชิงเก้าอี้ปลัดมท.ระอุหัววัน

ศึกชิงเก้าอี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ที่จะมาแทน บิ๊กเก่ง-สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่จะเกษียณอายุในเดือนกันยายนปีนี้ ส่อเค้าเดือดระอุแต่หัววัน