ถอดบทเรียนวัคซีนโควิด-19 ในไทย 3ปี ฉีดเข็ม 3 ยังแผ่วเฉียด40%

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ  จัดเสวนาวิชาการออนไลน์ ในหัวข้อ “ย้อนรอยโอมิครอน กับการใช้วัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นของประเทศไทย” โดยมีกรมควบคุมโรค และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.เชียงใหม่ร่วมด้วย   ในภาพรวมของการฉีดวัคซีน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนโควิด เข็มแรกของโลกถูกฉีดเมื่อเดือนธันวาคม.2563 ที่ประเทศอังกฤษ โดยทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 14,000 ล้านโดส หากมาดูสถานการณ์โควิด  ในขณะนี้มีจำนวนการติดเชื้อและการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ประเทศไทยเราเจอผู้ป่วยรายแรกในสายพันธุ์อู่ฮั่น ต่อมามีการพบสายพันธุ์อัลฟ่า เดลต้า และโอมิครอน

โดยอัตราการติดเชื้อในปี.2563-2564 มีจำนวน 2.22 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 21,698 คน และในปี พ.ศ.2565 พบผู้ติดเชื้อ  2.49 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 11,896 คน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ เนื่องจากการเข้ารับวัคซีน และมาตรการป้องกันโควิด-19 ต่างๆ ในส่วนของปีพ.ศ.2566 พบผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจลดลงเรื่อยๆ และอัตราผู้เสียชีวิตก็ลดลงเหลือเพียง 10 กว่าราย/สัปดาห์ นับว่าเป็นช่วงที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโอมิครอน ประเทศไทยจึงต้องมีการติดตามเฝ้าระวังโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้า อย่าง ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

การระบาดของโอมิครอนปี.2565  พบกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงคือ กลุ่มวัยทำงาน รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มสูงอายุเฉลี่ยแล้วพบป่วย 100 คน จะเสียชีวิต 4 คน สูงสุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่มวัย  ในกลุ่ม  0-19 ปี พบว่า กลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 5-9 ปี จึงเป็นเหตุผลให้ต้องวางแผนการให้วัคซีนในเด็กอย่างเหมาะสม

ส่วนการฉีดวัคซีนของไทย เข็มแรกฉีดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564  และรณรงค์การฉีดวัคซีนช่วงเดือนก.พ.-เม.ษ. 64 โดยเป็นการฉีดวัคซีนซิโนแวค ที่เป็นเชื้อตาย   โดยนับตั้งแต่ มีฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64  ถึงการฉีดครบ 100 ล้านโดส ใช้เวลาไม่ถึง 10 เดือน นับว่าเป็นสถิติที่เร็วที่สุดในไทย เป็นการฉีดวัคซีนซิโนแวคไปกว่า 20 ล้านโดส  วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากว่า 40 ล้านโดส ใกล้เคียงกับวัคซีนไฟเซอร์  ส่วนโมเดอร์นาถือว่าเป็นวัคซีนทางเลือกมีประมาณ 7 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอีกกว่า 10 ล้านโดส  ส่วนวัคซีนบูสเตอร์ที่เหลืออยู่ไทยขณะนี้คือ แอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ 


ทางด้านสถิติการรับวัคซีนในไทยขณะนี้สะสมแล้วกว่า 146 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 57.59 ล้านโดส เฉลี่ย 82.81% ครบ 2 เข็ม จำนวน 54.11 ล้านโดส เฉลี่ย 77.79% ในเข็มที่ 3 จำนวน 27.28 ล้านโดส เฉลี่ยเกือบ 40% มีข้อน่าสังเกตคือ ในภาพรวมประเทศมีเปอร์เซ็นการได้รับวัคซีนอยู่ที่ 60-120% สีเหลืองในพื้นที่ยะลามีการได้รับวัคซีนอยู่ที่เกือบ 60% แต่ในพื้นที่ภาคใต้ 2 จังหวัด นราธิวาสและปัตตานี ยังคงเป็นพื้นที่สีแดง หมายถึง จำนวนประชาชนได้รับวัคซีนต่ำเป็นพิเศษไม่ถึง 50% ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอยู่เสมอหากมีการระบาดระลอกใหม่”

สำหรับการติดตามผลของวัคซีน นพ.โสภณ กล่าววา  ทั้งนี้มีข้อมูลจากการศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ผู้สูงอายุที่ได้วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันและลดการเสียชีวิตได้ 41 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ได้รับวัคซีน 1-2 เข็ม  ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดในสัปดาห์ที่แล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 17 ราย พบว่าจำนวน 8 ราย ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งไม่ต่างจากในปีที่แล้วที่พบผู้เสียชีวิตในทุกสัปดาห์ที่ไม่ได้รับวัคซีนเกือบครึ่งเช่นกัน ดังนั้นประชาชนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 


“สรุปว่า โดยรวมประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องเตรียมพร้อม เพราะอาจจะมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป้าหมายในปี2566 ที่จะรณรงค์เดินหน้าการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้เรามีวัคซีนเพียงพอทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์สำหรับประชาชนทุกคน ส่วนต่างชาติมีการคิดค่าวัคซีนและบริการการฉีด”

นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์


ด้านประสิทธิผลการให้วัคซีนโควิด-19 สูตรผสม ในเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน  นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วง2564 ความต้องการของวัคซีนมีจำนวนมาก จึงได้มีการใช้วัคซีนสูตรผสมคือ ซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2  และเข็มกระตุ้นแอสตร้าเซนเนก้า หรือฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ ซึ่งการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่ากระตุ้นภูมิได้ดี  แต่เมื่อนำมาใช้กับคนแล้วผลการกระตุ้นภูมิเป็นอย่างๆไร อาจมีความแตกต่างกันจึงเป็นที่มาการศึกษาข้อมูลในพื้นที่จ.เชียงใหม่ โดยการค้นพบสำคัญ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ในเดือนต.ค.-ธ.ค.64  ในเชียงใหม่พบการติดเชื้อประมาณ 20,000 คน เสียชีวิต 156 คน หรือ 0.78% พบว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโควิดประมาณ 63% ลดรุนแรง/ตาย ได้ 89% ผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโควิดประมาณ 95%  ไม่พบอาการรุนแรงหรือตาย 100%

นพ.สุวัฒน์  กล่าวต่อว่า ต่อมาในช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เดือนก.พ.-เม.ย.65 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 300,000 คน เสียชีวิต 175 คน หรือ 0.06% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด ลดรุนแรง/ตายได้ 80% ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโควิดประมาณ 31% ลดรุนแรง/ตายได้ 89% แต่ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ถึง 75% ไม่พบอาการรุนแรง 100% แต่พบเสียชีวิตในเดือนพ.ค.-มิ.ย.65 จำนวน 2 ราย โดยพบว่าได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 มาแล้วเกิน 4 เดือน  ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ หรือชนิด mRNA จึงเป็นสิ่งที่สำคัญคือช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ประมาณ 13 เท่า

ทั้งนี้ประสิทธิผลช่วยลดความรุนแรง/ตายในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 สูตรผสม ได้ผลดีที่สุดในช่วง 14-120 วันหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายเฉลี่ย  91-93% หากนานกว่า 4 เดือนขึ้นไป ประสิทธิผลจะเริ่มลดลงเฉลี่ย 71% และถ้านานกว่า 6 เดือน จะลดลงเหลือ 68% ซึ่งประชากรในกลุ่ม 608 แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปหลังจากวันที่ฉัดวัคซีนเข็มสุดท้าย

“โดยในขณะนี้เข็ม 3 ในไทยฉีดไปประมาณ 39% ส่วนตัวมีความรู้สึกว่ายังดีไม่พอ เพราะเดิมเมื่อกลางปีที่แล้วเข็ม 3 ฉีดอยู่ที่ 35% แต่ควรจะครอบคลุม 60-80% ซึ่งในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซียฉีดเข็ม 3 สูงกว่าบ้านเรา สัดส่วนของเขาอยู่ที่  60-70% และเราควรมีการฉีดกระตุ้นเข็ม 4 โดยไม่ต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่ เพราะต้องยอมรับว่า วัคซีนในขณะนี้ ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้” นพ.สุวัฒน์  กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กล่าวเสริมในส่วนของการใช้แอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ออกฤทธิ์ยาว (LAAB) ว่า LAAB ประกอบด้วยแอนติบอดีสองชนิดได้แก่ Tixagevimab และ Cilgavimab เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด 19 ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการได้ 82.8% เมื่อติดตามไป 6 เดือน ส่วนประสิทธิภาพในการรักษา ลดความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต(จากทุกสาเหตุ) ได้ 88% ในกลุ่มที่ได้รับ LAAB ภายใน 3 วันหลังแสดงอาการและยังลดความเสี่ยงถึง 50% ในกลุ่มที่ได้รับ LAAB ภายใน 7 วันหลังแสดงอาการ

“ทั้งนี้สายพันธุ์ BA.2.75 ที่ระบาดในไทยถาพรวมทั้งประเทศประมาณ 90% สายพันธุ์BA.4 BA.5 ประมาณ 7% และโอมิครอน 2% โดยประสิทธิภาพของ LAAB สามารถตอบสนองต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ได้ดี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยขณะนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่หากเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในอเมริกา ก็อาจจะลดประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อลง” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า แนวทางการให้ LAAB คือต้องมีอายุ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ผู้ที่อายุ 70 ปี ขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และต้องไม่เป็นสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และผู้ที่แพ้ยา L-Histidine,L-Histidine hydrochloride monohydrate, Sucrose และPolysorbate 80 ส่วนรูปแบบการให้บริการปัจจุบันคือ Opt-in ผู้สมัครใจแจ้งความประสงค์เพื่อรับบริการ แต่รูปแบบใหม่คือ Encouraging decision ทุกคนลงนามแจ้งความประสงค์ว่าต้องการหรือไม่ต้องการฉีด ในสถาพยาบาล เช่นคลินิกอายุรกรรมและคลินิกเฉพาะโรค สถาพยาบาลสังกัด สธ. สังกัดกรมการแพทย์  สังกัดกรมควบคุมโรค โรงเรียนแพทย์ และสถานดูแลผู้สูงอายุ โดยล่าสุด LAAB มีการจัดส่งไปยังสถานพยาบาลดังกล่าวกว่า 1.24 แสนโดส คงคลังอีกกว่า 1.37 โดส และให้บริการไปแล้วกว่า  2 แสนโดส .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่นควัน PM2.5 ย่ำแย่หนัก เชียงใหม่ ประกาศเขตภัยพิบัติไฟป่าเพิ่มเติม ที่ อ.เชียงดาว

จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเขตภัยพิบัติไฟป่า เพิ่มเติมที่ อ.เชียงดาว ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นย่ำแย่หนักคละคลุ้งปิดทั้งภูมิภาค จนท.ดับสุดล้า ฝนหลวงทำงานหนักทุกวัน

‘บิ๊กป้อม’ อ้อนชาวเชียงใหม่ อยากให้ ปท.เป็นหนึ่งเดียวต้องเลือก พปชร.

‘ประวิตร’ ขึ้นเวทีปราศรัยเชียงใหม่ อ้อนอยากให้ประเทศเป็นหนึ่งเดียวต้องเลือก พปชร. ลั่นทุกนโยบายเป็นรัฐบาลแล้วจะทำทันที เมินไม่ติด 1 ใน 10 อันดับแรกนายกฯในใจ ขอเดินหน้าต่อ