เยือนบ้านนักคิด นักเขียนรุ่นใหญ่ ‘พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล’

เยือนบ้านศิลปินแห่งชาติจะพาไปบ้านกลางหุบเขาลุ่มน้ำแม่ใจ ซึ่งถือเป็นต้นน้ำอิงและกว๊านพะเยา จ.พะเยา ที่น่าสนใจ มีนักเขียนรุ่นใหญ่ พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2560 สาขาวรรณศิลป์ ใช้นามแฝง “มาชา มาชารี” เป็นเจ้าของบ้าน ทั้งอยู่อาศัยเป็นหลักและสร้างสรรค์ผลงานทั้งวรรณกรรม จิตรกรรม  

ในบ้านยังเป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะ โดยเฉพาะภาพวาดสีน้ำที่ชวนปลดปล่อยจินตนาการ  บ้านศิลปินแห่งชาติผู้นี้จึงเป็นแกลลอรีที่มีชีวิตชีวา มีโอกาสได้ชมบ้านและสนทนากับศิลปินแห่งชาติผู้นี้ ในโอกาสที่ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และนางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เยี่ยมบ้านนายพิบูลย์ศักดิ์ ละครพล ณ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง เจ้าบ้านต้อนรับด้วยรอยยิ้มและไมตรี

นักเขียนผู้นี้เคยเป็นครูในหุบเขา ถือว่าเป็นผู้ใช้ภาษาในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทเพลง รวมไปถึงความเรียงอื่น ๆ ผลงานเขียนของนายพิบูลศักดิ์ ละครพล สะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท  โดยเฉพาะปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข ฯลฯ  ควบคู่กันไปกับภาพวิถีชีวิตอันสันโดษ อบอุ่น ผูกพัน พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขาในดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย ศิลปินผู้นี้ได้เสนออุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยยุคแสวงหาซึ่งมุ่งออกทำงานในชนบท แสวงหาความหมายของชีวิต

นวนิยายและเรื่องสั้นของเขาเผยแพร่และมีบทบาทกว่า 50 ปี มีแฟนประจำมากมาย  ผลงานโด่งดัง เช่น  ‘ถนนสีแดง’ ‘ขอความรักบ้างได้ไหม’ ‘ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน’ ‘หุบเขาแสงตะวัน’ บทกวีอย่าง ‘บทกวีแห่งความรัก’ ‘ดอกไม้แด่คนหนุ่มสาว’

ผลงานจำนวนหลายร้อยชิ้นบนเส้นทางนักเขียน พิมพ์เป็นเล่มแล้วไม่น้อยกว่า 50 เล่ม หลายเรื่องพิมพ์ซ้ำ หลายครั้ง ผลงานบางเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ผลงานหลายเรื่องได้รับรางวัล อาทิ รางวัลดีเด่นและรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลรวี โดมพระจันทร์ รางวัลลูกโลกสีเขียว และรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Awards : MERLA) ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง  

ส่วนบทกวีของเขาได้รับยกย่องเป็นกวีดีเด่นจากสภากวีโลกกวีหลายบทได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น แล้วยังมีหนังสือเด็ก “ท่องเที่ยววันหยุด” “ปุยฝ้ายเด็กดี” รวมทั้งบทเพลงจำนวนมากในนามวงมาชารี  

นอกจากนี้ ยังเป็นบรรณาธิการนิตยสารสู่ฝัน และสำนักพิมพ์สู่ฝัน เปิดพื้นที่ส่งเสริมสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ไทย จัดพิมพ์หนังสือให้นักเขียนไทยจำนวนมาก เป็นนักเขียนและกวีที่มีความเป็นศิลปินผู้สร้างศิลปะวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ผิดเลยที่จะกล่าวว่า ทั้งชีวิตของพิบูลย์ศักดิ์ดำรงอยู่เพื่อรังสรรค์งานศิลปะ

ผลงานเล่มล่าสุด” ฝันจะฝากดอกไม้ไว้ใกล้หมอน” เป็นบทร้อยกรองที่ศิลปินแห่งชาติบอกว่า รังสรรค์ขึ้นเพื่อรำลึกถึง  อาจารย์เออเชนี ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา หรือที่รู้จักในนามปากกา “อุชเชนี” ผลงานสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รักวรรณศิลป์และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเดินรอยตาม   อยากสร้างผลงานให้อาจารย์ได้ภาคภูมิใจ แต่ตนเองก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่

ส่วนแผนการทำงานปีนี้ศิลปินบอกว่ามีมโนสาเร่ หลังโควิดคลี่คลายมีแผนจะจัดนิทรรศการเดี่ยววาดกวี รวบรวมผลงานภาพวาดและบทกวีจัดแสดงให้คนได้ชม การได้ทำงานที่บ้านเกิด อยู่ที่กระท่อมกลางทุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้มากมาย ธรรมชาติงดงาม และสอดแทรกแง่คิด สัจธรรมมากมาย กระตุ้นให้เกิดความคิด และคนอ่านจินตนาการต่อไปจากงานเขียนของเรา

“ จะเขียนภาพวาดทะเลสาปและภูเขา กับความงามของถ้อยคำผ่านบทกวี  ทั้งจิตรกรรมและวรรณกรรมสองศาสตร์นี้เป็นสิ่งเดียวกัน วิจิตรศิลป์ส่องทางกัน  บทกวีเป็นศรีความรู้สึก เป็นภาพเขียนที่มีเสียง  ภาพเขียนก็เป็นงานจิตรกรรมที่ทำให้เราสัมผัสถ้อยคำ ภาพเพียงภาพเดียวสามารถบรรยายได้ร้อยล้านคำ ผมพยายามทำให้สีสันสร้างความรู้สึกทุกประสาทสัมผัส “ พิบูลย์ศักดิ์ กล่าว

ในโอกาสนี้ ศิลปินแห่งชาติฝากถึงศิลปินรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักเขียนคลื่นรุ่นใหม่ว่า น้องๆ นักเขียนปัจจุบันเก่ง จากการร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณารางวัลซีไรต์ ได้อ่านผลงานคุณภาพจำนวนมาก แสดงเทคนิคและความสามารถในการใช้ภาษาและวรรณศิลป์ ตนเคยเขียนบทกวี อย่ายืมความฝันของคนอื่นมาใฝ่

“ คนรุ่นใหม่เขียนกันเก่งมาก แต่ต้องรู้ว่าลายเซ็นต์ของเราอยู่ตรงไหน ต้องการสื่ออะไร ศิลปะสื่อยังไงก็ได้ แต่รับสารได้มั้ย ความสำเร็จคือผู้รับรับสารได้ ถ้าไม่ได้ก็ล้มเหลว นอกจากนี้ ถ้าไม่มีนักอ่านก็ไม่มีนักเขียน  “ พิบูลย์ศักดิ์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม  ก่อนจะแจกลายเซ็นลงบนหนังสือเล่มใหม่มอบให้ผู้มาเยือนเป็นที่ระลึก

สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของพิบูลย์ศักดิ์ ละครพล มีแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ เพจ หนังสือของพิบูลย์ศักดิ์ ละครพล และเพจวาดกวี จะได้ติดตามผลงานของศิลปินอย่างต่อเนื่อง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต อัตลักษณ์แห่งศรัทธาสืบทอดมา 199 ปี

จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการอ๊าม (ศาลเจ้า) และองค์กรต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2567  โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

ประกาศเกณฑ์รับเงินอุดหนุนงานวัฒนธรรมปี68

28 ก.ย. 2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำโครงการงบประมาณ หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรม

เปิดงาน'ไทยฟรุ้ง ปรุงไทย' ดึงชุมชนร่วมรักษามรดกภูมิปัญญา

ยิ่งใหญ่กับการเปิดงาน“ไทยฟุ้ง ปรุงไทย” (Thai Taste Thai Fest 2024)  โดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรม

'ประเพณี12เดือน' ภาพถ่ายทันสมัย เปิดมุมมองใหม่

มุมมองใหม่ๆ ที่เปิดเผยความงดงามของประเพณีไทยและบอกเล่าวิถีชีวิตผ่านเลนส์กว่า 200 ภาพ ในนิทรรศการภาพถ่าย“ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นไทยที่น่าภาคภูมิใจเท่านั้น แต่ยังพัฒนาวงการถ่ายภาพของประเทศไทย เห็นได้จากที่มี

ศิลปินแห่งชาติ ชี้บ่อนกาสิโน สิ่งที่ได้คือ เงิน เผยสิ่งที่เสียไป ประเทศชาติพังแน่

วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ผมเกิดในยุคจอมพล ป. โตในยุคจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม

'เอก รังสิโรจน์-สำรวย รักชาติ' ร่ำไห้เปิดใจหลังสิ้นครู 'ฉลอง ภักดีวิจิตร'

เอก รังสิโรจน์ และ สำรวย รักชาติ 2 ผู้กำกับละครดังคนสนิท เผยรู้สึกเสียใจอย่างมากสิ้น ฉลอง ภักดีวิจิตร ศิลปินแห่งชาติเจ้าของสโลแกน ระเบิดภูเขา เผากระท่อม ฉลอง ภักดีวิจิตร หรือที่คนในวงการนิยมเรียก อาหลอง ผู้กำกับชั้นครู เจ้าของรางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับ-ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พ.ศ.2556 ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในวัย 93 ปี