‘เด็กอ่อนในสลัม’ ชีวิตที่ดีกว่า ต้องเข้าถึงโอกาส

เมืองใหญ่ๆ หนีไม่พ้นปัญหาชุมชนแออัดหรือที่เรียกว่า “สลัม” ถือเป็นปมปัญหาที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มายาวนาน เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ตามสลัมที่มีมากกว่า 2,000 แห่งในกรุง  ห้อมล้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งเสื่อมโทรม ไม่ถูกสุขลักษณะ ใช้ชีวิตบนปัจจัยเสี่ยงมากมาย นำพาพวกเขาไปสู่วงจรยาเสพติด อาชญากรรม รวมถึงปัญหาสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะเด็กอ่อนในสลัม ล้วนเป็นเด็กด้อยโอกาส

ในเดือนแห่งความรัก บริษัท เปอโยต์ ไลอ้อน ออโตโมบิล จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ เปอโยต์ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ชวนคนไทยร่วมส่งต่อความรักและความปรารถนาดีให้กับเด็กอ่อนในสลัมกับโครงการเพื่อสังคม ‘Share The Love ปันรักสร้างรอยยิ้ม’ ซึ่งมีการมอบสิ่งของจำเป็น เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ และบริจาคเงินจากทุกการจองและส่งมอบรถยนต์ เปอโยต์ รุ่น 2008, 3008 และ 5008 เจ็ดที่นั่ง ให้กับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ ซอยรัชดาภิเษก 36 นับตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.นี้

ผู้บริหาร เปอโยต์ ไลอ้อน ออโตโมบิล มอบอุปกรณ์การศึกษาให้บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่

ภูยศ  มังกรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เปอโยต์ ไลอ้อน ออโตโมบิล จำกัด กล่าวว่า  โครงการ’Share The Love’ เพื่อเด็กอ่อนในชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ เกิดขึ้นจากความตั้งใจทำโครงการเพื่อแบ่งปันให้กับเด็ก เด็กทุกคนควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ  หากน้องๆ มีพัฒนาการที่สมวัย มีพื้นฐานที่ดี จะมีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศ  ซึ่งเด็กอ่อนในชุมชนแออัด พ่อแม่รับจ้าง ประสบปัญหาต่างๆ ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง เด็กถูกทอดทิ้ง   ขาดการส่งเสริมพัฒนาการ การได้เป็นส่วนหนึ่งช่วยเหลือมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ มอบของใช้จำเป็นในการดำรงชีวิตและทำกิจกรรมศิลปะกับเด็กๆ  ตลอดจนส่งมอบเงินจากการจองและส่งมอบรถยนต์เปอโยต์รุ่น 2008, 3008 และ 5008 เจ็ดที่นั่ง  ตลอดเดือน ก.พ. จะช่วยแบ่งเบาภาระของมูลนิธิ ถือเป็นจุดเริ่มต้น หากมีโอกาสและความพร้อมจะขยายการช่วยเหลือสู่บ้านเด็กอ่อนอื่นๆ ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิ

สำหรับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ก่อตั้งมากว่า 40 ปีเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนในสลัม ตั้งแต่วัยแรกเกิดถึง 5 ปี เพื่ออบรมเลี้ยงดูเด็กด้วยความรักและเอาใจใส่ ส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ให้เหมาะสมตามวัย ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มีบ้านเด็กอ่อนที่อยู่ในความดูแล 4 หลัง ได้แก่ บ้านสมวัย (ชุมชนคลองเตย) บ้านศรีนครินทร์ (ชุมชนกองขยะหนองแขม) บ้านแห่งความหวัง (ซอยอ่อนนุช 88 แยก 10) และบ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ (ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ) ทั้ง 4 แห่งให้การดูแลเด็กๆ เฉลี่ยวันละประมาณ 250 คน ในจำนวนนี้มีเด็กต่างด้าว อย่างเมียนมาร์ และกัมพูชา ปัจจุบันสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ

โครงการ’Share The Love’ เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ

ครูต้อ – ศีลดา รังสิกรรพม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ครูผู้คลุกคลีกับปัญหาเด็กเยาวชนในชุมชนแออัด เผยว่า ปัญหาเด็กอ่อนในสลัมมีความซับซ้อนจากความยากจนขาดโอกาส โดยเฉพาะสวัสดิการขั้นพื้นฐานเด็กเล็กในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ จะเริ่มเมื่อเข้าโรงเรียน ได้เรียนฟรี หรือ กทม.มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กก็จริง  แต่จะเริ่มดูแลเด็ก 2 ปี 6 เดือน  เด็กเล็กกว่านี้ที่ครอบครัวยากจนไม่มีที่ไป บางคนส่งเด็กกลับบ้าน กลายเป็นสาเหตุให้ลูกพรากจากพ่อแม่แต่เล็ก ที่สำคัญหากเด็กไม่เข้าสู่กระบวนการดูแล รอจนอายุ 2 ปีครึ่ง พัฒนาการเด็กจะขาดหายไป ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา 

ก่อนหน้านี้ ครูต้อเผยว่า มีการต่อสู้ทำให้ไทยมีสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ถือเป็นการคุ้มครองทางสังคมขั้นต่ำสำหรับเด็กเล็กตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปีที่ได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท จำนวน 2.3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม สวัสดิการนี้จำกัดความคุ้มครองไว้ในกลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่เกินปีละ 100,000 บาท พยายามสู้ต่อเพื่อขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนถ้วนหน้า ช่วยให้เด็กทุกคนเริ่มต้นชีวิตอย่างดี

“ จากการสำรวจการเลี้ยงดูเด็ก  1 คน พ่อแม่มีค่าใช้จ่ายขั้นต้น  3,000 บาทต่อเดือน ค่านม ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ของใช้จำเป็น หากรัฐมีสวัสดิการจะช่วยให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแลมากขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้หญิงมีศักดิ์ศรี มีเงินเดือนดูแลลูก ช่วงโควิด 2 ปี ซ้ำเติม พ่อแม่เด็กตกงาน 100% มีหนี้สิน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า อยากฆ่าตัวตาย คนจนไม่มีรายได้ มูลนิธิฯ ช่วยลำพังไม่พอ ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องช่วยกัน “ ครูต้อ กล่าว

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยที่บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่

ครูต้อเล่าถึงพระเมตตาของกรมสมเด็จพระเทพฯ องค์ประธานกิตติมศักดิ์ ช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญวิกฤตโควิด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณพระองค์พระราชทานเงินส่วนพระองค์แก่มูลนิธิฯ เพื่อจัดซื้อนมให้เด็กอ่อน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ สวมชุดพีพีอีเข้าบ้านเด็กอ่อน ทรงมีพระเมตตา ทรงเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย จากพระเมตตา องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมสืบทอดโครงการนี้จนทุกวันนี้ และเตรียมเปิดโครงการเชิญชวนประชาชนบริจาคเงินซื้อนมช่วยเหลือเด็กอ่อนในสลัมในปีนี้ด้วย

ครูต้อ – ศีลดา รังสิกรรพม ผจก.มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ

ครูต้อ บอกว่า เราพยายามทำให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสได้รับการพัฒนาในช่วงวัยสำคัญของชีวิต ถ้าผ่านไปเรียกคืนมาไม่ได้ แล้วมีพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานไว้ว่า “การเริ่มต้นชีวิตที่ดีของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด” ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตที่ดีได้ เนื่องจากครอบครัวยากจน พ่อแม่เลิกรา อยู่กับปู่ย่าตายาย  พี่เลี้ยงน้อง ต้องเจอกับความยากลำบาก เห็นอาชญากรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว การเติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นยาก

“ ในชุมชนเสือใหญ่จะเป็นเด็กที่พ่อแม่มีอาชีพขับรถซาเล้ง เก็บขยะตามบ้านแล้วนำมาคัดแยก อีกส่วนมีอาชีพกรรมกรต้องทำงานตามไซส์งานก่อสร้าง และอาชีพรับจ้างเป็นแม่บ้านตามบริษัทหรืออพาร์ทเมนต์ สิ่งที่น่าเป็นห่วง พ่อแม่เด็กคัดแยกขยะจะมีการเผาทองแดง ตะกั่ว  เด็กสูดดมมลพิษเข้าไป เป็นอันตรายสุขภาพ เราพยายามให้พ่อแม่นำเด็กมาดูแลที่นี่ “ ครูต้อเล่าถึงปัญหา

บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่  1 ใน 4 แห่ง ดูแลเด็กสลัมในกรุง

ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิฯ ยังฉายภาพปัญหาของเด็กชุมชนแออัดต่างๆ อย่าง บ้านสมวัย (ชุมชนคลองเตย) จะเป็นเด็กที่พ่อแม่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด วนเวียนเข้าออกเรือนจำ เด็กพ่อแม่ติดคุกจะมีย่ายายเลี้ยง  คนยากจนเข้าไม่ถึงสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ต่อเดือน ยังพบเด็กขาดสารอาหาร เจริญเติบโตไม่สมัย ผอม ตัวเล็ก ซีดเหลือง พ่อแม่ให้กินแต่มาม่า เพราะรายได้น้อย ที่นั่นเป็นสลัมขนาดใหญ่ มูลนิธิฯ รับเด็กดูแลไม่ได้ทั้งหมด

ขณะที่บ้านแห่งความหวัง (ซอยอ่อนนุช 88 แยก 10) และบ้านศรีนครินทร์ (ชุมชนกองขยะหนองแขม) ดูแลเด็กที่พ่อแม่มีอาชีพคุ้ยขยะในแหล่งเทกองขยะของ กทม. ตอนไม่มีสถานรับเลี้ยงเด็ก เด็กๆ จะอยู่ในบริเวณกองขยะ สภาพความเป็นอยู่จะมีทั้งแมลงวัน กลิ่นขยะที่เหม็นมาก เคยลงเยี่ยมบ้านเจอเด็กนำไก่หมดอายุจากห้างสรรพสินค้ามาล้างเอาเชื้อราออก แล้วทอด รู้สึกสะเทือนใจมาก คำว่า “อาหารหมดอายุ” ไม่มีสำหรับเด็กๆ เหล่านี้ เคยถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าอยากขับรถขยะ อยากกวาดถนน ความฝันของเด็กไม่ไกล

เด็กเล็กลูกหลานชาวชุมชนเสือใหญ่ได้รับการดูแลด้วยความรัก

สลัมในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นทะเบียนมีไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ไม่รวมที่ไม่จดทะเบียน   เป็นความท้าทายในการหาทางออกดูแลเด็กอ่อนในสลัม นำมาสู่การชวนชุมชนที่เข้าใจปัญหาร่วมแก้ปัญหา

ครูต้อ กล่าวว่า มูลนิธิฯ สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ มีบ้านรับเลี้ยงเด็กใน“โครงการบ้านร่วมพัฒนาเด็ก”  เดิมเป็นชาวบ้านรับจ้างเลี้ยงเด็ก มีแต่ไกวเปลให้กิน นอน ไม่มีกิจกรรม มีบ้านแต่ขาดคุณภาพ หรือบางบ้านแม่ผูกขาเด็กไว้เอาอาหารกลางวันมาให้กิน ชวนชาวบ้านที่มีใจรักเด็กมาพัฒนาทักษะ  ฝึกอบรม สามารถประเมินการเจริญเติบโตของเด็กได้  และสนับสนุนให้เปิดบ้านเลี้ยงเด็กอ่อน โดยจัดอบรมที่มูลนิธิฯ ฟรี   มอบประกาศนียบัตร หนุนให้ชาวบ้านแข็งแรง พ่อแม่ที่มีรายได้น้อย สามารถฝากลูกให้บ้านดูแลได้ด้วยเงิน 300 บาทต่อวัน    ปัจจุบันมีบ้าน 70 หลัง ดูแลเด็กประมาณ 3,000 คนต่อปี เท่ากับขยายโอกาสไปยังเด็กในชุมชนแออัดด้วย ถ้ามีความพร้อมก็จดทะเบียนเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก  ทำให้บ้านร่วมพัฒนาเด็กเป็นเครือข่ายของมูลนิธิฯ และเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือเด็กในชุมชน หากพบเด็กเผชิญปัญหาจะนำมาส่งต่อที่บ้านนี้

“ เด็กอ่อนในสลัมทั่วประเทศลำบากมาก  แต่ขาดกลไกแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม คนจะคิดถึงผู้ใหญ่ ไม่มีใครนึกถึงเด็ก ต้องผลักดันให้เห็นความสำคัญของเด็กปฐมวัย ยังมีเด็กที่ไม่เท่าเทียยม เด็กจากครอบครัวยากจน เด็กจากพ่อแม่ไม่พร้อม แม่วัยใส ซึ่งต้องการสวัสดิการ เงิน บ้านรับเลี้ยง จะช่วยลดปัญหาทอดทิ้งลูก ท้ายที่สุดต้องเสริมพลังพ่อแม่ ใส่ใจ ดูแลลูกด้วยความรัก  ลดความรุนแรงในบ้าน สังคมไทยครอบครัวเปราะบางเยอะมาก  “   ครูต้อ-ศีลดา ย้ำปัญหาใหญ่นี้ ยังรอการแก้ไขจริงจัง!!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัตน์' เผย 'แอสตร้าเซนเนก้า' รับครั้งแรก วัคซีนโควิด มีผลข้างเคียง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ว่า