กรมวิทย์ฯ ร่วมภาคีจีโนมิกส์ประเทศไทย ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยกว่า 10,000 คน หวังเข้าถึงการรักษาโรคหายาก-โรคมะเร็ง ได้แม่นยำขึ้น

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมเครือข่ายวิจัยทางคลินิกด้านจีโนมิกส์ 36 แห่งทั่วประเทศ เก็บตัวอย่างเลือดผู้ป่วย 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคที่วินิจฉัยไม่ได้หรือโรคหายาก โรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และด้านเภสัชพันธุศาสตร์ สกัดดีเอ็นเอและถอดรหัสพันธุกรรมแล้วมากกว่า 10,000 ตัวอย่าง ตั้งเป้า 5 ปี ถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยชาวไทย 50,000 ราย เพื่อวางแผนป้องกันและรักษาโรคให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลแม่นยำมากขึ้น ยกระดับการบริการทางการแพทย์ และมีฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทยเพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรค

27มี.ค.2566- นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 และได้รับอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการวงเงิน 4,470 ล้านบาท ในดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยชาวไทยจำนวน 50,000 ราย หน่วยงานเครือข่ายได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลจีโนมแห่งชาติ ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทาวการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ สร้างองค์ความรู้ ต่อยอดไปสู่การแพทย์แม่นยำทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในผู้ป่วยชาวไทยจำนวน 50,000 ราย มีกลุ่มเป้าหมายใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคที่วินิจฉัยไม่ได้หรือโรคหายาก โรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และด้านเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดและนำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการวางแผนป้องกันและรักษาโรคให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ยกระดับการบริการทางการแพทย์และการเข้าถึงการบริการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและแม่นยำมากขึ้น และมีฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทยเพื่อการศึกษาวิจัย พัฒนากำลังคน และสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาใหม่

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า กระบวนการการถอดรหัสพันธุกรรม เริ่มต้นจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัย ที่เข้าร่วมเครือข่ายวิจัยทางคลินิกด้านจีโนมิกส์ 36 แห่งทั่วประเทศรับผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ ให้คำปรึกษาและขอความยินยอมจากผู้ป่วยเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดส่งไปยังศูนย์สกัดสารพันธุกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งรับผิดชอบกระบวนการสกัดสารพันธุกรรมดีเอ็นเอจากเลือด ปัจจุบันศูนย์สกัดสารพันธุกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถสกัดสารพันธุกรรมได้ประมาณ 800-900 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ และมีตัวอย่างเลือดที่ถูกสกัดดีเอ็นเอแล้วทั้งหมดจำนวน 23,024 ตัวอย่าง จากนั้นตัวอย่างสารพันธุกรรมจะถูกขนส่งภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศา เพื่อการถอดพันธุกรรมทั้งจีโนมที่ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ บริษัท ไทยโอมิกส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ชั้น 8 อาคาร 10 ปี เภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี


“สำหรับการถอดรหัสพันธุกรรมนั้น เริ่มต้นถอดรหัสพันธุกรรมครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งปัจจุบันสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ประมาณ 350 ตัวอย่างตัวอย่างต่อสัปดาห์ และมีตัวอย่างดีเอ็นเอที่ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไปแล้วจำนวน 10,751 ตัวอย่าง ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลขนาดใหญ่ถูกส่งไปเพื่อวิเคราะห์และจัดเก็บที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้พร้อมสำหรับการวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย และจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย ข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วยได้นำไปใช้สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลในเครือข่ายวิจัยแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข การวินิจฉัย การเลือกวางแผนการรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการทำนายโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีคุณภาพมากขึ้นต่อไป” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัย' ยันรัฐบาลมุ่งเพิ่มสิทธิรักษามะเร็งมะเร็งครบวงจร!

นายกฯ มุ่งมั่นเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษามะเร็ง 'มะเร็งครบวงจร' เพิ่มการตรวจคัดกรองเชิงรุก และการดูแลรักษามะเร็ง ให้แก่ผู้ใช้บัตรทอง 30 บาท เพื่อความครอบคลุม ทั่วถึง เท่าเทียม

ป.ป.ท.จับ 2 จนท.สถาบันชีววิทยาศาสตร์การแพทย์ปลอมเอกสารเท็จจัดซื้อจัดจ้าง!

ป.ป.ท.ร่วมปฏิบัติการจับกุมและตรวจค้น 2 เจ้าหน้าที่ 'สถาบันชีววิทยาศาสตร์การแพทย์' ทำเอกสารเท็จ-ปลอมลายมือชื่อ 'ทุจริตจัดซื้อพัสดุ 44 ครั้ง' มูลค่าความเสียหายกว่า 4.3 ล้านบาท