สิ้นสงสัย ผลกระทบกัมมันตรังสี สธ.ยันนร. 25 คนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ส่วนปัสสาวะคนงาน ไม่พบซีเซียม137

28 มี.ค. 2566- นพ. สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวถึงความคืบหน้าผลการสอบสวนโรคในเด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านโคกกระท้อน ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานหลอมเหล็กที่มีการหลอมวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ทยอยมีอาการป่วยต่อเนื่องหลายราย ว่า ได้รับรายงานผลการสอบสวนโรคกรณีดังกล่าวจาก นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จังหวัดปราจีนบุรี ว่า จากการลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกันระหว่าง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 (สคร.) จังหวัดชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี และโรงพยาบาลกบินทร์บุรี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 พบว่า โรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รวมกัน 129 คน และบุคลากรรวม 11 คน มีอาการป่วยทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่วันที่ 21-27 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 25 ราย คิดเป็น 19.38% ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 7 ราย ตามมาด้วย ประถมศึกษาปีที่ 3 และ 1 ชั้นละ 5 ราย ประถมศึกษาปีที่ 5 และ 4 ชั้นละ 4 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น และไอ ปัจจัยเสี่ยงมาจากการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งเป็นช่วงสอบปลายภาค นักเรียนที่มีอาการป่วยรายแรกจึงไม่ได้หยุดเรียนและมาร่วมสอบกับเพื่อนตามปกติ

นพ.สุเทพกล่าวต่อว่า เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการป่วยกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัด (Common Cold) ได้สั่งยารักษาตามอาการ โดยให้ผู้ป่วยรับยาที่ รพ.สต.ลาดตะเคียน และ รพ.สต.หาดนางแก้ว ส่วนผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่า การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) จากโรงพยาบาลกบินทร์บุรี ในกลุ่มที่มีอาการ 19 ราย ผลปกติทุกราย และตรวจ โควิด 19 ด้วย ATK ในกลุ่มนักเรียนที่มีอาการ 23 ราย ผลเป็นลบทุกราย ทีมสอบสวนโรค สคร.ที่ 6 ได้เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย 5 ราย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจ ด้วยเทคนิค RT-PCR พบสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ 3 (H3N2) ทั้งหมด ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการป่วยเป็นกลุ่มก้อนดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับซีเซียม 137 ซึ่งทีม MCATT โรงพยาบาลกบินทร์บุรี ได้สอบถามพูดคุยกับครู ผู้ปกครอง และนักเรียน เพื่อเยียวยาจิตใจ ขณะที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี และ สคร.ที่ 6 ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจและสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

สำหรับการตรวจวัดปริมาณรังสีซีเซียม 137 ในตัวอย่างปัสสาวะของคนงานในโรงงานหลอมเหล็ก ที่เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ด้วยเครื่องแกมมาสเปคโตรมิเตอร์ จำนวน 52 ตัวอย่าง มีค่าอยู่ในระดับปริมาณรังสีพื้นหลัง ไม่พบการเปรอะเปื้อนกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในร่างกายของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และได้ทำการเก็บตัวอย่างปัสสาวะจากคนงานในโรงงานที่ยังไม่เคยส่งตัวอย่างเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนการเก็บตัวอย่างในสิ่งแวดล้อมและตรวจวัดรังสีแกมมาในอากาศแบบเรียลไทม์ ภายในจังหวัดปราจีนบุรี และรอบโรงงานหลอมเหล็ก ได้รับข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังและตอบสนองกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในพื้นที่เกิดเหตุ จังหวัดปราจีนบุรี ว่า อยู่ในเกณฑ์ความปลอดภัย และไม่พบบริเวณที่มีรังสีสูงอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.เอ้' ถอดบทเรียน ซีเซียม-137 หายอันตรายถึงตาย จี้โรงงานยึดหลักสากลอย่างเคร่งครัด

'ดร.เอ้' ถอดบทเรียน ซีเซียม-137 หายไป อันตรายถึงตาย สะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิตคนไทยที่ขาดการดูแล แนะทุกโรงงานที่มีการครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีต้องมีมาตรฐานตรวจสอบรัดกุมเข้มงวด ยึดหลักสากลอย่างเคร่งครัด หน่วยงานรัฐต้องรายงานผลอย่างซื่อตรงชัดเจนไม่หมกเม็ด