แนวทางและมาตรการประเพณีสงกรานต์ 66

ครม. เห็นชอบ 9 แนวทางสืบสานประเพณีสงกรานต์ปี 2566 เน้นเล่นสงกรานต์อย่างรู้คุณค่า เหมาะสม ปลอดภัย เร่งประชาสัมพันธ์ปูทางเสนอ ‘สงกรานต์’ เป็นมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก

29 มี.ค.2566 – นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบแนวทางการรณรงค์ เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ตามที่  วธ. เสนอ โดยมีคณะกรรมการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดแนวทางรณรงค์เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่ดีงาม เหมาะสม ป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงกำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ในโอกาสที่ไทยเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการรณรงค์ เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” พอสรุป  9 ข้อ ดังนี้ 1.ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนร่วมจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ สืบสานคุณค่าสาระของประเพณีอันดีงามพร้อมประชาสัมพันธ์สู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ 2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่าง ๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์ที่ดีงาม เหมาะสม 3. รณรงค์ให้ประชาชนร่วมสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถาน สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป และขอพรผู้สูงอายุ 4. รณรงค์ให้แต่งกายที่สร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทย  ย้อนยุค หรือชุดสุภาพ ร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยต่อชาวต่างชาติ

5. ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสืบสานประเพณี โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม 6. หน่วยงานด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และด้านบริการประชาชนให้รักษามาตรการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่สร้างความสุข ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 7.ขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้ยานพาหนะและใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่องหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม 8. การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม 608 (กลุ่มเสี่ยง) ให้รักษาตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และโรคทางเดินหายใจ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้เข้าร่วมงาน 9. ส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ในโอกาสที่สงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่เข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก

ทั้งนี้ จากการที่ ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบเอกสารนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ขณะนี้กระบวนการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโก คาดยูเนสโกจะพิจารณาการขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติภายในเดือนธันวาคม 2566

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาภรณ์จากผ้าไทยร่วมสมัย เฉลิมพระเกียรติ’พระราชินี’

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ รักษา และสืบทอดงานผ้าไทย งานหัตถศิลป์ไทย อันเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติ

'ภูเก็ต' เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร

20 พ.ค.2566 - นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม และนายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนคร ร่วมเปิดงานเทศกาลอาหารอร่อยเมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการ

‘รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม’ ประชันการแสดงพื้นบ้าน

ประเทศไทยมีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่วิถีชีวิตและสื่อใหม่ในปัจจุบัน ทำให้สิ่งเหล่านี้เลือนหายไป การขยายผล ต่อยอดการแสดงพื้นบ้าน โดยพัฒนาทักษะและเทคนิคการแสดงผ่านการจัดประกวด

บวงสรวงใหญ่งานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

20 เม.ย. 2566 - เวลา 8.19 น. ที่ลานสังคีต พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเทพยดา งาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” โดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ นำ

ไหว้พระโบราณเสริมมงคลงานสงกรานต์ที่สยามพารากอน

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสยามพารากอนจัดงาน “สงกรานต์ประเพณีไทย สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” อัญเชิญ “พุทธบูชา มหาสงกรานต์” 9 องค์สำคัญให้ประชาชนสักการะบูชาเป็นสิริมงคล ณ แฟชั่น แกลลอรี่ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน สำหรับพระพุทธรูปมงคลโบราณ 9 องค์ กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ