มูลนิธิคึกฤทธิ์ฯ เพิ่มรางวัลใหม่ให้’ศิลปินพื้นบ้าน’

รางวัลคึกฤทธิ์ เป็นรางวัลที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อมอบให้แก่ศิลปิน นักเขียน และผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับ มีความรู้ความสามารถ สร้างองค์ความรู้ในด้านนั้นอย่างลึกซึ้ง เป็นประจำในทุกๆปี และได้รับการยอมรับจากแวดวงศิลปวัฒนธรรมไทยว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ แต่ละสาขา ได้แก่ นาฏศิลป์ ดุริยางค์ไทย คีตศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ จะผ่านการลงมติเห็นชอบจากคณะกรรมการของมูลนิธิ

ปีนี้พิธีมอบรางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2566 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา   ณ โรงละครอักษรา คิง พาวเวอร์ ได้เพิ่มการพิจารณาใหม่ให้ครอบคลุมศิลปะการแสดงพื้นบ้าน  เพื่อยกย่องศิลปินพื้นบ้านที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริม  รักษา และสืบทอดแนวคิดหรือแนวทางที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยคิดหรือทำไว้ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย โดยปีนี้มีคณะศิลปินและผู้ที่ได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ในสาขาศิลปะการแสดง และ สาขาวรรณศิลป์   รวม 3 รางวัล   

สาขาศิลปะการแสดง สำหรับคณะบุคคล ได้แก่ คณะละครชาตรีจงกลโปร่งน้ำใจ คณะละครชาตรีที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยทางคณะได้อนุรักษ์และทำการแสดงละครชาตรีมาจนถึงปัจจุบัน และรายบุคคล ได้แก่ อำไพ บุญรอด  ศิลปินดีเด่นจังหวัดระยอง ผู้พากษ์และเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอนที่มีชื่อเสียงโด่งดังของภาคตะวันออก   ส่วนสาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ อัศศิริ ธรรมโชติ  ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัลซีไรท์ ปี 2524  นักเขียนหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ  “ขุนทอง เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง”  

อำไพ บุญรอด เจ้าของรางวัลคึกฤทธิ์ สาขาศิลปะการแสดง กล่าวว่า   เป็นความภาคภูมิใจและรู้สึกดีใจอย่างมาก เพราะศิลปะอย่างหนังใหญ่ในประเทศไทยไม่ค่อยแพร่หลาย ตนเป็นห่วงว่าจะสูญสิ้นไป เพราะปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 2 คณะที่สืบสานศิลปะสาขานี้  คือ หนังใหญ่วัดบ้านดอน จ.ระยอง และวัดขนอน จ.ราชบุรี กลัวว่าในอนาคตเด็กไทยจะเห็นหนังใหญ่ที่แปะไว้บนผนังพิพิธภัณฑ์ ขาดชีวิตชีวา เพราะหนังใหญ่ต้องเชิด ต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรี  แค่คิดก็ใจหายมาก ถ้าถึงวันที่หนังใหญ่ไม่มีลมหายใจ  

ส่วน จารุวรรณ สุขสาคร ตัวแทนคณะละครชาตรีจงกลโปร่งน้ำใจ   กล่าวว่า  ดีใจที่วิชาความรู้ที่เรามีอยู่ มีคนเห็นคุณค่าถึงให้รางวัลกับคณะเรา รางวัลเป็นการการันตีจากหน่วยงานต่างๆ จะสร้างความน่าเชื่อถือ คนจะเข้ามาเรียนเป็นลูกศิษย์ เข้ามาช่วยสืบสาน ครูไม่ได้เรียนจากกรมศิลปากร  เรียนจากพ่อแม่สอน เป็นศิลปินพื้นบ้านธรรมดา วิถีของศิลปินพื้นบ้านต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง  ไม่ได้มีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน ถึงมีงบ ศิลปินพื้นบ้านจริงๆ เขาไม่มีความรู้ว่าจะไปขอการสนับสนุนจากหน่วยงานไหน คนที่ไปของบจริงๆ คือ คนที่มีความรู้ บางคนที่ไปขอไม่ใช่ศิลปิน เงินที่ได้มาก็จัดฉากกันไป ไม่เกิดประโยชน์

“ โชคดีที่คณะละครชาตรีจงกลโปร่งน้ำใจได้อยู่ตรงพระพรหมเอราวัณ มีงานประจำ จะมีทุนสอนเด็กๆ  แต่ศิลปินพื้นบ้านทุกคนไม่สามารถทำได้อย่างเรา เมื่อทำไม่ได้ศิลปะก็จะค่อยๆ หายไป อย่างย่านหลานหลวงเมื่อก่อนมีคณะละคร 10 กว่าคณะ ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 3 คณะ ผันตัวเองไปทำอย่างอื่นกัน เพราะละครชาตรีไม่สามารถเลี้ยงชีพได้แล้ว  “ จารุวรรณ กล่าว

อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติที่ได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์  กล่าวว่า ผลงาน “ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง”  เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรก เป็นเรื่องที่ทำให้ตนพลิกภาพจากนักหนังสือพิมพ์มาเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว หนังสือเรื่องนี้เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก แม้จนถึงทุกวันนี้คนก็เอาไปใช้เรียนกัน

“ การได้รับรางวัลในฐานะนักเขียนเป็นความรู้สึกดีใจและภูมิใจ ยิ่งครั้งนี้เป็นรางวัลคึกฤทธิ์เหมือนผมได้รับรางวัลจากครู เพราะอาจารย์คึกฤทธิ์เหมือนเป็นครูนอกห้องเรียนคนหนึ่ง  ผมอาศัยครูพักลักจำสมัยที่ผมอ่านหนังสือของท่านตั้งแต่เป็นนักเรียน และยังเข้าไปทำงานที่สยามรัฐกับท่าน  เรียกว่า ท่านเป็นต้นแบบในการเขียนหนังสือ ”   อัศศิริ เผยความรู้สึก

การมอบรางวัลคึกฤทธิ์ถือเป็นการส่งเสริม สนับสนุนผู้ที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมให้มีกำลังใจที่จะดำรงและอนุรักษ์ความเป็นไทยสืบต่อไป ส่วนการเพิ่มพิจารณาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ช่วยให้ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชนและคนรุ่นใหม่ได้รู้จักศิลปะพื้นบ้านที่อาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มูลนิธิคึกฤทธิ์เปิดม่านการแสดงโขนหน้าพระที่นั่ง

การแสดงโขนรามเกียรติ์ครั้งใหญ่มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ประจำปีนี้ มีชื่อชุด “โมกขศักดิ์” ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมความสามารถของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ ที่ร่ำเรียนฝึกโขนกับศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์

มูลนิธิคึกฤทธิ์แสดงโขน-โนรา ส่งต่อมรดกชาติ

เดินหน้าส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยตลอดปี 2566 หลังจากหยุดชะงักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ปีนี้มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80  ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เตรียมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยของสถาบันคึกฤทธิ์ขึ้น