
จังหวัดลำพูนมีประเพณีที่โดดเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงกับมิติศาสนา อย่างประเพณีตักบาตรผักและผลไม้ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา เดินหน้านโยบาย “นำธรรมะสู่ใจประชาชน” ด้วยการจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญเป็นประจำทั้งในวันพระและวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น เสริมสร้างความอบอุ่นและความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันในวันพระ สามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่นำสินค้าวัฒนธรรมของชุมชนมาจัดจำหน่าย อาทิ อาหาร เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

อธิบดี ศน. กล่าวต่อว่า กรมการศาสนาจัดกิจกรรมดังกล่าวนำร่อง ในส่วนกลางช่วงเดือนมกราคมที่ผ่าน ณ วัดบำเพ็ญเหนือ กรุงเทพมหานคร และขยายผลไปยังส่วนภูมิภาค ในวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2566 ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวัดเครือข่ายศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศพอ.) และโครงการพลังบวรในมิติศาสนาของกรมการศาสนา ชุมชนบ้านห้วยต้มเป็นชุมชนที่มีชาวกะเหรี่ยงพักอาศัยอยู่ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “ปกาเกอะญอ” ซึ่งได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยต้ม โดยครูบาชัยวงศาพัฒนา หรือครูบาวงศ์ได้อนุญาตให้มาตั้งถิ่นฐานบริเวณรอบวัดจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ด้วยความศรัทธาในวัตรปฏิบัติของครูบาวงศ์ จึงได้นับถือพระพุทธศาสนาและถือมังสวิรัติตามคำสอนของครูบาวงศ์ สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากชุมชนบ้านห้วยต้มเป็นชุมชนเกษตรกรรมและถือมังสวิรัติ จึงก่อให้เกิดจารีตประเพณีการทำบุญตักบาตรด้วยผักและผลไม้ จนกลายเป็นจารีตประเพณีที่โดดเด่นของจังหวัดลำพูน
” ทุกวันธรรมสวนะ หรือ วันพระ จะถือเป็นวันหยุดของชุมชน คนในชุมชนจะพาครอบครัวเข้าวัดปฏิบัติธรรม ในตอนเช้าจะหุงหาอาหารนำไปถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แล้วจึงกลับบ้านไปทานอาหารพร้อมทั้งเก็บผักและผลไม้ที่ปลูกในสวน ไร่ นา บริเวณบ้าน นำไปตักบาตรผัก ผลไม้ ถวายแด่พระสงฆ์ในช่วงเพล เพื่อให้ทางวัดนำไปปรุงเป็นภัตตาหารถวายแด่พระสงฆ์สามเณรในวันต่อไป และวัตรปฏิบัติของชาวบ้านชุมชนมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงเดินถอดรองเท้า ตั้งแต่ทางเข้าวัด และกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด ทุกวันพระภายในวัดจะมีตลาดชุมชนเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง ” นายชัยพล กล่าว

วัดพระพุทธบาทห้วยต้มถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนห้วยต้ม แต่เดิมเป็นวัดร้างเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ตามความเชื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับรอยพระบาทไว้เป็นที่จารึก จากนั้นจึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “ห้วยต้มข้าว” แล้วจึงเพี้ยนมาเป็น “ห้วยต้ม” ต่อมาครูบาวงศ์และพุทธศาสนิกชน ได้ร่วมกันบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานจนกลายเป็นวัดพระพุทธบาทห้วยต้มจนถึงปัจจุบัน

สำหรับโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน”นายชัยพลระบุดำเนินการไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมไหว้พระ สวดมนต์ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ที่วัดและแหล่งศาสนสถานและวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม อาทิ ทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว บริเวณท่าเรือวัดติโลกอาราม ริมกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา แต่งไทยใส่บาตร ปูสาด ริมโขงจังหวัดมุกดาหาร นุ่งผ้าไทย ใส่บาตร ริมโขง จังหวัดหนองคาย เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการทำบุญ ฟังเทศน์ และปฏิบัติเจริญจิตภาวนา ยังเป็นสนับสนุนให้ชุมชนคุณธรรม และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์รอบวัดและแหล่งวัฒนธรรม ได้จัดชุดภัตตาหารสุขภาพใส่บาตรสำหรับพระสงฆ์ เพื่อบริการให้กับนักท่องเที่ยวโดยขอความร่วมมือของผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลุกสีสันท่องเที่ยวมิติศาสนา หลัง'ลิซ่า'ไหว้พระ 3 วัดดังอยุธยา
7 มิ.ย.2566 - นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า ตามที่นางสาวลลิษา มโนบาล หรือ“ลิซ่า” ศิลปินน้องร้องชื่อดังระดับโลก แห่งวง BLACKPINK เดินทางไปท่องเที่ยว จ.พระนครศรีอยุธยา โดยโพสต์ภาพสวมชุดไทยไหว้พระ กราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดหน้าพระเมรุ
เพลง 'วิสาขบูชา' เวอร์ชั่นใหม่ โดนใจวัยรุ่น
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากลของโลก กรมการศาสนานำบทเพลงวันวิสาขบูชา มาเรียบเรียงและสร้างสรรค์ใหม่อีกครั้ง เพื่อมอบเป็นเสียงเพลงแห่งคีตธรรมน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เทศกาลวันวิสาขบูชา 2566
เดือนมิถุนายน 2566 ที่จะถึงนี้ มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันวิสาขบูชา เป็นวันที่มีความอัศจรรย์เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นถึง 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกัน คือ วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 อีกทั้งวันวิสาขบูชายังได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชา
บวงสรวงใหญ่งานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
20 เม.ย. 2566 - เวลา 8.19 น. ที่ลานสังคีต พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเทพยดา งาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” โดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ นำ
ย้อนรอยประเพณีพื้นเมือง สงกรานต์ล้านนางดงาม
ประเพณีสงกรานต์ในภาคเหนือของประเทศไทย ถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่และงดงามด้วยศิลปวัฒนธรรมล้านนาอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด เพื่อถ่ายทอดอัตลักษณ์สงกรานต์ล้านนาและเชิญชวนชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมตามแบบแผนประเพณีอันดีงาม
ตามรอยพระเถราจารย์'พ่อท่านคล้าย'เมืองคอน
ในแต่ละภาคของประเทศไทยมีพระเถระนักพัฒนาที่ชาวบ้านในพื้นที่เลื่อมใสศรัทธาด้วยวัตรปฏิบัติงดงามและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทั้งยังเป็นพระสงฆ์ต้นแบบช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ มีพระเถระดัง คือ