ต้นแบบ Premium T-VER ยกระดับฟื้นป่า เก็บคาร์บอน

ประเทศไทยตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น  และมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับประชาคมโลก โดยกระตุ้นและส่งเสริมให้ทุกแหล่งกำเนิดร่วมกันลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านลดการใช้พลังงาน เปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการปลูกป่า อย่างโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)  ซึ่ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ( อบก.)  จะพิจารณาขึ้นทะเบียน และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้เป็น “คาร์บอนเครดิต” ใช้รายงานการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรได้ 

ปัจจุบัน อบก. มีการยกระดับโครงการ T-VER   สู่โครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) เน้นภาคป่าไม้  ซึ่งจะมีความพิเศษขึ้น เนื่องจากให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า โดยนำร่องพื้นที่ต้นแบบ Premium T-VER ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาว ฝั่งขวา จ.ลำปาง ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) 

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กล่าวว่า การลดก๊าซเรือนกระจกคงไม่สามารถลดลงให้หมดได้ในทันที ดังนั้น จึงต้องสร้างการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องสมดุลกับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปี 2561  ไทยสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มพูนจากภาคป่าไม้และภาคเกษตรได้อยู่ที่ 86 ล้านตัน ลดลงจากปี 2559  ที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มพูนอยู่ที่ 90 ล้านตัน เพื่อให้ความสมดุลเกิดขึ้นจากกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ศักยภาพว่างเปล่า ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามเป้าหมาย 120 ล้านตัน รวมถึงลดการใช้พลังงานฟอสซิล เป็นต้น 

เกียรติชาย  กล่าวต่อว่า หากประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าผลลัพธ์ที่ต้องการให้เหลือแค่ศูนย์ โดยสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่เหลือไปแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่นๆ ได้ ดังนั้น จากเดิมที่ไทยทำโครงการ T-VER ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) จึงมีการพัฒนามาเป็น Premium T-VER เน้นภาคป่าไม้ โดยยึดหลักตามมาตรการของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งในมาตรา 6 ระบุว่า ประเทศต่างๆ สามารถที่จะถ่ายโอนผลลัพธ์การลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างกันได้ โดยสร้างมาตรฐานที่สากลยอมรับ โดยเลือกพื้นที่การดำเนินงานภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. ในพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา ลำปาง เพื่อทดสอบระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทป่าไม้ เครื่องมือการคำนวณที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผลที่ได้รับไปปรับปรุงสำหรับใช้เป็นแนวทางในการขยายผลต่อไป  

“ ภาคส่วนที่ต้องการเข้าร่วม Premium T-VER แต่ละโครงการจะต้องผ่านการประเมินที่เข้มข้นขึ้น ทั้งหลักการคำนวน การพิสูจน์การดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานปกติ การประเมินความเสี่ยงจากการปลูกป่า ต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( SDGs) อย่างน้อย 2 ข้อ รวมถึงการรับฟังความเห็นจากชุมชน เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มาตรการของไทยยังไม่เข้มข้นหรือมีบทลงโทษผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน แต่ในอนาคตจะมีข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ปลดปล่อยต้องรับผิดชอบและปรับตามการปลดปล่อยจริง” เกียรติชาย  กล่าว

สำหรับแนวทางสู่ Premium T-VER  ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์เครดิต กล่าวว่า การทำโครงการ T-VER โดยผู้ที่เข้าร่วมสามารถนำโครงการที่เคยปลูกป่ามาก่อนหน้าเข้าร่วมได้ และส่วนคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มพูนจากโครงการเดิมก็สามารถนำมาคำนวนรวมได้เช่นกัน  แตกต่างจากโครงการ Premium T-VER จะต้องโครงการปลูกป่าใหม่ โดยจะต้องมีการยื่นเจตจำนง (MoC) มาทาง อบก.   และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนเริ่มโครงการ และการคำนวนคาร์บอนเครดิตจะคิดในระยะเวลา 15 ปี ส่วนที่เพิ่มพูนมากกว่าปกติหรือต้นไม้ที่มีการปลูกใหม่ ขณะนี้มีองค์กรที่ยื่นเจตจำนงเข้าร่วม Premium T-VER จำนวน 14 โครงการ แบ่งเป็นภาคป่าไม้ 7 โครงการ

 ด้าน ชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า  กฟผ. ได้ร่วมดำเนินโครงการ T-VER ตั้งแต่ปี 2557 ผ่านโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในพื้นที่โรงไฟฟ้าและกิจการของ กฟผ.จำนวน 10 โครงการ นับคาร์บอนเครดิตกว่า 400,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ ยังดำเนินภารกิจองค์กรเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 1 ล้านไร่ ภายในปี2574

“ ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ปลูกป่าไปแล้วกว่า 1 แสนไร่ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเพื่อให้เกิดต้นแบบการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ กฟผ. จึงยื่นขอขึ้นทะเบียนยกระดับมาตรฐาน T-VER  ให้เป็น Premium T-VER ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ระดับสากลแห่งแรกของไทย โดยร่วมกับพันธมิตรเลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบโครงการ Premium T-VER แห่งแรกของประเทศ จำนวน 1,998 ไร่  เป็นอำเภอใกล้เคียงกับ อ.แม่เมาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าต้นน้ำ เสี่ยงที่จะโดนบุกรุก และเกิดไฟป่า ตลอดจนอยู่ในบริเวณใกล้กับแหล่งที่ทำกินของชุมชน  “ ชัยวุฒิ กล่าว

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว กฟผ. ได้มีการจัดประชาคมกับชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงผลกระทบและผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยในระยะเวลา 15 ปีนับตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2581  จะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 18,000 ตัน ตลอดระยะเวลาโครงการและสามารถเพิ่มฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้

จากกรณีศึกษาโครงการ Premium T-VER พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาว ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายว่า พื้นที่ของโครงการอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งขวา ซึ่งไม่มีการอนุญาติให้ราษฎรทำกินหรือดำเนินการใดๆ ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเป็นประชาชนในตำบลแม่ตีบที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่า นำมาสู่การจัดประชาคม ทั้งการให้ข้อมูลและการเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยชุมชนจะได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากป่า  เนื่องจากพื้นที่ป่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำ หากมีการดูแลรักษาให้อุดมสมบูรณ์ จะสามารถป้องกันน้ำภัยพิบัติ ทั้งน้ำป่าไหลหลาก บรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก  เป็นต้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้ทางชุมชนได้รับทราบความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนวิธีการปลูกป่า Premium T-VER ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมนี้ นักวิชาการป่าไม้จาก ม.เกษตร กล่าวว่า ได้มีการคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับระบบนิเวศเดิมที่เป็นป่าผลัดใบ ซึ่งอยู่ในประเภทป่าเบญจพรรณ เช่น ไม้สัก มะค่าโมง ประดู่ เป็นต้น โดยในระยะเวลา 10 ปี ไม่อนุญาติให้มีการนำไม้ออก อีกทั้งไม่มีกิจกรรมในการรบกวนดิน เช่น ลดการไถพรวน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น ทั้งนี้ จากการศึกษาในขอบเขตพื้นที่โครงการยังไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อม อาทิ มลพิษทางน้ำ การเปลี่ยนแปลงการยึดครองดิน ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตามแนวทางฟื้นฟูป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐาน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฟผ.ชวนสัมผัส “ELEXTROSPHERE โลกใหม่ Right คาร์บอน” โซนใหม่ศูนย์การเรียนรู้ จัดเต็มความรู้คู่ความสนุก พบกัน 2 เมษายนนี้!

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งทำขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การแบ่งปันองค์ความรู้สู่สังคม หรือ Learning for Society

อบก. ไฟเขียว สวนยางพาราขายคาร์บอนเครดิตได้ กยท.เดินหน้าพัฒนาสู่เป็นกลางทางคาร์บอน 20 ล้านไร่

อบก. ไฟเขียว ต้นยางพาราสามารถนำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ กยท. รับลูก เร่งขับเคลื่อนพัฒนาสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่า 20 ล้านไร่ทั่วประเทศ

ฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่ 5 ดาว ประหยัดไฟ รักษ์โลกมากกว่าเดิม

แม้ไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนเพียงไม่นาน แต่บางพื้นที่มีอุณหภูมิร้อนแรงแตะ 45 องศาเซลเซียส ทำให้หลายคนเตรียมปาดเหงื่อทั้งจากอากาศที่ร้อนจัด

ตามโผ ‘ครม.’ ตั้ง ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ นั่ง ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่

ครม.มีเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายเทพรัตน์  เทพพิทักษ์  ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย