'ตำบลแม่โป่ง' ต้นแบบอนุรักษ์ป่าชุมชน สร้างคาร์บอนเครดิต ลดโลกรวน

เสวียนกักเก็บใบไม้ อย่าง ใบตองตึง เพื่อนำไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์

ป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นที่ราบเชิงเขาที่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง มีภูเขาล้อมรอบ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติขุนแม่กวง ในอดีตมีการบุกรุกจากมนุษย์ที่หวังแต่ประโยชน์ส่วนต้น การเผา และยังเคยผ่านการสัมปทานถึง 2 ครั้ง หลังจากมีการยกเลิกสัมปทานทำให้ป่าเสื่อมโทรม แห้งแล้ง สัตว์ป่าหนีหาย ชาวบ้านที่อาศัยประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภค รวมถึงการเผชิญกับภัยธรรมชาติ ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้มีพระราชดำริในการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ ในการฟื้นฟูป่า และแก้ปัญหาปากท้อง ปัจจุบันที่นี่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์กลางศึกษาในการพัฒนารูปแบบต่างๆ โดยใช้ระบบน้ำชลประทานเป็นแกนนำ และเนื่องมาจากสภาพป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรมนี้เป็นสภาพลุ่มน้ำที่มีอยู่ค่อนข้างมากในพื้นที่ภาคเหนือ

แนวกันไฟป่า ของป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง

ต่อมาชาวบ้านก็ได้ตระหนักถึงประโยชน์ในการดูแลรักษาป่า มีการจัดตั้งคณะกรรมการในการดูแลป่าชุมชน โดยพื้นที่ตำบลแม่โป่งมีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ซึ่งหมู่ที่ 1, 3 ,6,7,8,9,10 ทั้ง 8 หมู่บ้านมีพื้นที่ป่าชุมชนรวมกว่า 8,400 ไร่ อีก 2 หมู่บ้านแม้จะไม่มีป่าชุมชน แต่ก็เข้าร่วมในการดูแลป่า อาทิ การดูทำแนวกันไฟ การสร้างฝาย การตรวจตระเวนเพื่อดับไฟป่า เป็นต้น

เลขแท๊ก ที่ติดต้นไม้ทุกต้นเพื่อวัดความอุดมสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้นำประสบการณ์การดำเนินงาน “ปลูกป่า ปลูกคน” เกือบ 40 ปีในการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย จึงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาปรับใช้กับป่าชุมชนตำบลแม่โป่งใน พ.ศ. 2563 ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตจนประสบความสำเร็จแห่งแรกๆภายใต้ “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ภาคป่าไม้  

จุดสังเกตการณ์ไฟป่า ดอยผาผึ้ง

โดยคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่จะกระตุ้นให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้ลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการ เกิดไฟป่าและลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ซึ่งเมื่อชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีก็จะบรรเทาปัญหาการว่างงาน หนี้ครัวเรือนและในขณะเดียวกัน ก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่ดอยตุง ทำให้เข้าใจว่าป่าไม่สามารถปลูกได้ หากไม่ปลูกคนก่อน เพราะการใช้พื้นที่ป่ามีการทับซ้อนกับพื้นที่อาศัยของคน ดังนั้นเมื่อคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทางเลือก ก็จะสามารถมีกำลังในการดูแลป่า ซึ่งโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเน้นที่การอนุรักษ์และดูแลป่า ไม่ใช่การปลูกป่า เพราะความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างอาจจะใช้เวลา 80 ปี ในการฟื้นฟู แต่กลับสูญเสียได้ในข้ามคืน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านที่ดูแลป่าชุมชนก็ทุ่มเทแรงกายในการดูป่า จึงได้เข้ามาร่วมสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์  ผ่านกองทุนดูแลป่าชุมชน เป็นการนำงบประมาณใช้ดำเนินการรักษาป่า เช่น ทำแนวกันไฟ ลาดตระเวน ทำเสวียน ปลูกป่า ทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น รวมถึงองค์ความรู้ในการจัดทำแปลงตัวอย่าง(T-VER) ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ป่าคาร์บอนเครดิต  และกองทุนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ เช่น นำใบไม้ในป่ามาแปรรูปเป็นภาชนะ โดยรวมกลุ่มผลิตในนามวิสาหกิจชุมชน

วิชัย เป็งเรือง

วิชัย เป็งเรือง ประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีพรบ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ชาวบ้านตั้งรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็รวมตัวกันดูแลป่า เพราะป่าสำหรับชาวต.บ้านโป่ง คือ แหล่งอาหารที่สำคัญ จึงสร้างเครือข่ายป่าชุมชนทั้ง 10 หมู่บ้าน 8 ป่าชุมชน และก็ได้เข้าร่วมกับโครงการฯ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยมีการอบรมการวางแปลงตัวอย่าง ซึ่งทุกหมู่บ้านได้เข้าอบรม เพื่อนำความรู้ที่ได้ในการวางแปลงตัวอย่างไปใช้ทุกป่า โดยในปี 2564 ได้ริเริ่มดำเนินการวางแปลงคาร์บอนเครดิต 93 แปลง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนในชุมชนรู้จักการทำแปลงคาร์บอนเครดิต ซึ่งคาดว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนเครดิตได้ 2,556 ตันคาร์บอนเครดิต  และในปี 2567 จะมีการทวนสอบคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นทางการผ่านองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก(อบก.) อีกครั้ง

การวัดพื้นที่วางแปลงตัวอย่าง

 นอกจากนี้ยังมีการตรวจตระเวนป้องกันรักษาป่าและไฟป่า ซึ่งชาวบ้านมีจุดสังเกตการณ์ไฟป่าที่ดอยผาผึ้ง สามารถมองเห็นผืนป่าบริเวณโดยรอบตำบลแม่โปง และสามารถที่จะแจ้งหน่วยจัดการไฟฟ้าเข้าไปจัดการได้ทัน สร้างฝายชะลอน้ำในรูปแบบถาวรและกึ่งถาวร เพื่อสร้างความชุมชื่นให้แก่ป่า การบวชป่า  และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่า มากกว่าการปลูกป่าเสริม เนื่องจากป่าทึบอาจจะทำให้กล้าไม้ที่ปลูกใหม่ไม่เจริญเติบโต แต่จะเน้นปลูกในพื้นที่โล่งต้นไม้น้อย เช่น ไม้ไผ่ ซึ่งชาวบ้านสามารถนำมาต่อยอดได้

จานจากใบตองตึง

“หัวใจของการทำป่าชุมชนคือการสร้างเครือข่าย ไม่สามารถที่จะทำเพียงหมู่บ้านเดียวได้ เพื่อหาแนวทางจัดการป่าชุมชนร่วมกัน โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายป่าชุมชน และมีบัญชีกองทุนเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง เพื่อบริหารจัดการเงินสนับสนุนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เกิดการพัฒนาหมู่บ้าน หรือการทำประกันอุบัติเหตุให้กับทีมดับไฟป่า ส่วนกองทุนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ชุมชนก็สามารถนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ได้ อย่าง ต้นตองตึง ที่ร่วงหล่นจำนวนมาก จึงมีการทำเสวียนเก็บใบไม้ เพราะใบไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติที่มีน้ำมันในใบทำให้เมื่อเกิดไฟป่าสามารถรุกรามได้ไว จึงนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จาน หรือเศษที่เหลือจากทำจานก็นำมาทำดอกกุหลาบของที่ระลึก หรือพวงหลีดได้ โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่สร้างรายได้ด้วย” วิชัย กล่าว

ดอกกุหลาบจากเศษที่เหลือของใบตองตึง

ประธานเครือข่ายฯ ได้นำทีมสื่อลงพื้นที่ป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 7 ตัวอย่างของการอนุรักษ์ป่าและการทำแปลงตัวอย่าง ซึ่งมีพื้นที่ป่าประมาณ 984 ไร่ แบ่งเป็นที่อนุรักษ์ประมาณ 592 ไร่ และพื้นที่ใช้ประโยชน์ 391 ไร่  ด้วยลักษณะที่เป็นป่าเต็งรัง อุดมไปด้วยพันธุ์ อาทิ เหียง เต็ง รัง ตึง รัก เห็ดนานาชนิด และสัตว์ป่า อาทิ แลน บ่าง นกท้องถิ่น กระต่าย งู ทำให้ในอดีตมีการบุกรุกจากคนภายในและภายนอก ทั้งตัดไม้  ถางป่าสร้างพื้นที่ทำกิน และเผาป่า เป็นต้น ส่งผลให้ป่าเกิดความเสื่อมโทรมร่อยหรอ ซึ่งในปัจจุบันป่าก็มีการฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าก็กลับคืนมา แต่ก็ยังมีการเผาป่าอยู่บ้าง โดยระหว่างทางก็จะสังเกตเห็นแนวกันไฟอยู่เป็นระยะรอบป่าจากชาวบ้านที่ทำกันเอง และยึดหลักการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น ทำให้ในปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากและอนุรักษ์ป่าได้อย่างเข้าใจและตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น

ส่วนของการวางแปลงตัวอย่างป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็มีทีมลงพื้นที่ในการให้ความรู้เรื่องการวางแปลงตัวอย่าง ซึ่งทุกคนในหมู่บ้านก็จะเวียนกันเข้ามาเพื่อวางแปลงตัวอย่างที่เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2564  สามารถวางแปลงได้ทั้งสิ้น 11 แปลงตัวอย่าง ขนาด 40×40 เมตร หรือขนาด 1 ไร่ กระจายตามความอุดมสมบูรณ์ของป่า ซึ่งประเมินจากข้อมูลสภาพป่าจากภาพถ่ายดาวเทียม สามารถแบ่งความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ 3 ระดับ คือ มาก ปานกลาง และน้อย เพื่อเป็นเกณพ์ในการวางแปลงร้อยละ 1 โดยมี 9 แปลงตัวอย่างที่อยู่ในระดับสมบูรณ์มาก นอกจากนี้ยังมีการติดแท็ก เพื่อตรวจวัดความสมบูรณ์ต้นไม้ทุกต้น รวมถึงการวัดแปลงให้ได้ตามเกณฑ์ ซึ่งชุมชนจะได้รับองค์ความรู้เหล่านี้ทั้งหมด และสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังจะเป็นแนวทางในการขยายองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังป่าชุมชนในอำเภอใกล้เคียงอีกด้วย

การบวชป่า ตามความเชื่อและวิถีของชาวบ้านในการอนุรักษ์ป่า


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง