'อารามอร่าม' เพิ่มสีสันมหานครที่ไม่หลับไหล

กรุงเทพฯ ได้รับการขนานนามว่า “มหานครที่ไม่เคยหลับไหล” ด้วยวิถีชีวิต กิจกรรมและการงานอาชีพของผู้คนที่หลากหลายวัฒนธรรมเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาในเมืองหลวงแห่งนี้  ช่วงส่งท้ายปีแสงสีที่สว่างไสวช่วงเวลาเย็นถึงค่ำตามวัดวาอารามในกรุงเทพฯ ฉายภาพสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่มีความสวยงามยามต้องแสงไฟ จะเพิ่มสีสันให้มหานครนี้มากขึ้นกับกิจกรรม“อารามอร่าม 10 วัดและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”  เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินงานภายใต้เทศกาลใหญ่ Thailand Winter Festivals ของรัฐบาล ที่อยากชวนชาวกรุงและนักท่องเที่ยวมาเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ชอบเที่ยววัดยามแสงแดดแผดจ้าไปทั่วกรุงเทพฯ

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มุ่งขับเคลื่อน Soft Power ด้านเฟสติวัลและด้านท่องเที่ยวรองรับนโยบาย Thailand Creative Content Agency (THACCA) ของรัฐบาล และนโยบายของนายกฯ ซึ่งเห็นว่าใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง นอกจากเวลากลางวันแล้ว ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ในเวลากลางคืนด้วย เนื่องจากอากาศไม่ร้อน เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทั้งโรงแรม ร้านอาหารและส่วนอื่นๆมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งนโยบายของ วธ.ในการส่งเสริมคุณค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆ ด้านวัฒนธรรมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

สำหรับกิจกรรม“อารามอร่าม 10 วัดและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 โดย วธ.บูรณาการความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และวัดในกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นวัดที่สายบุญ สายมูรู้จักกันดี ได้แก่ 1.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 2.วัดไตรมิตรวิทยาราม 3.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 4. วัดประยุรวงศาวาส 5. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 6. วัดสุทัศนเทพวราราม 7. วัดอรุณราชวราราม 8.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 9.วัดราชนัดดาราม 10.วัดระฆังโฆสิตาราม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะได้ชมวิวสวยๆ มาถ่ายภาพเช็คอินที่ใครเห็นต้องอิจฉา

งาน“อารามอร่าม 10 วัดและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” จะมีกิจกรรมไหว้พระเสริมสิริมงคลในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ช่วงเวลา 08.00 – 18.00 น. การเปิดไฟฟ้าส่องสว่าง (Light Up) ช่วงเวลา 18.00 – 21.00 น. เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามของวัดแต่ละแห่งและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ช่วงเวลาเย็นจนถึงค่ำ  กิจกรรมไหว้พระเสริมสิริมงคลยามค่ำคืน ได้แก่ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดสุทัศนเทพวราราม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดเวลา 18.00 – 20.00 น.  ความอร่ามของวัดยามราตรียากที่คนทั่วไปจะมีโอกาสได้พบเห็น

เทศกาลนี้ปลอดภัยไร้กังวล เพราะมีการประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ รวมทั้งติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมและจุดเช็คอินในแต่ละวัดด้วย รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมวัดแต่ละแห่งและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครมากขึ้น เพราะได้เห็นถึงความงดงามในช่วงค่ำคืน เป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจต่างจากช่วงเวลากลางวัน ทำให้ผู้ประกอบการและชุมชนแต่ละพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ

อีกงานใหญ่ที่จะจัดขึ้นกลางพระนครเย็นย่ำวันที่ 7 ธันวาคม 2566 นี้ ชื่อว่า  งานฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival) ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวราราม วัดคู่บ้านคู่เมือง  ในโอกาสที่ UNESCO จะได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 (เวลาประเทศไทยประมาณ 17.00 น.) ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา 

โกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ในวาระที่น่ายินดีของชาวไทย นี้ สวธ. มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ได้กำหนดจัดงานฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก (UNESCO) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่จะเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ วาระที่สำคัญนี้ ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง และเผยแพร่องค์ความรู้“สงกรานต์” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการสงวนรักษา อนุรักษ์ สืบสาน ปกป้อง คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันให้กับชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับในระบบสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละชนชาติ

ชวนมาร่วมฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ  ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวราราม จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทย ร่วมแสดงความยินดีในวาระสำคัญยิ่งของประเทศไทย ในโอกาสนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครและจังหวัด 76 จังหวัด พร้อมภาคีร่วมงาน 

ภายในงานจะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ ไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม ประกอบด้วย ขบวนมหาสงกรานต์จตุรทิศแผ่นดินไทย  ขบวนอันเชิญพระพุทธสิหิงค์ ขบวนตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน นำโดยแอนโทเนีย โพซิ้ว รองอับดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ ประจำปี 2567  ตามด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ขบวนแตรวงกลองยาว และยังมีการแสดงดนตรีโดย วงสุนทราภรณ์ ในเวลา 19.00 ณ ลานคนเมือง กทม. อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งท้ายปีกับงานสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคล ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วัดทั่วประเทศและวัดไทยในต่างประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 – 1 มกราคม 2567  ทุกกิจกรรมถือเป็นสปอตไลท์ส่องไฟให้มหานครแห่งนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกสมกับติดอันดับต้นๆ เมืองท่องเที่ยวที่ผู้คนหลงไหล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วธ.ลุยตลาดเมืองคานส์ ชวนลงทุนถ่ายทำหนังในประเทศ

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ คานส์ ฟิล์ม เฟสติวัล 2024 ที่เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2567 มีนานาประเทศร่วมเทศกาลเพื่อแสดงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ สำหรับประเทศไทย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

พัฒนาเมืองเพชร ดัน'พระนครคีรี'มรดกโลก

ครม.สัญจรแรกหลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ลงพื้นที่แข็งขันตรวจเยี่ยมการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ของ จ.เพชรบุรี ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ อ.เขาย้อย

วธ.พา'โนรา'อวดโฉมเทศกาลไทยกลางกรุงโตเกียว

10 พ.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดทำแผนโครงการส่งเสริมและเผยแพร่อำนาจละมุน (Soft Power) ของไทยในกรอบทวิภาคีประจำปี

'สุดาวรรณ' รมว.วธ. ไฟแรงชูนโยบาย'หนึ่งภูมิภาค หนึ่งมรดกโลก'

9 พ.ค.2567- ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เดินทางเข้ากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นวันแรก ถือฤกษ์ดีเวลา 08.19 น. เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำ วธ. ประกอบด้วย จุดที่ 1 ศาลตา- ยาย จุดที่ 2 ศาลพระภูมิ จุดที่ 3 พระพิฆเนศวร์

'รมว.สุดาวรรณ' เข้ากระทรวงวัฒนธรรม 9 พ.ค.นี้

6 พ.ค.2567 - น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตนจะเดินทางเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคม2567 เวลา 8.00 น. ในส่วนการทำงานไม่ได้มีเรื่องอะไรที่หนักใจ

ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา สัมผัสอัตลักษณ์บ้านสบคำ

อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งลาว ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทยวน พม่า  เมี่ยน ม้ง ลั้วะ อาข่า ลาหู่ โดยเฉพาะในชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ต.เวียง อ.เชียงแสน  เป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนน้อย