สภาผู้บริโภค จี้กสทช.ทำหน้าที่เคร่งครัด ควบคุมราคา-คุณภาพ มือถือ เน็ตบ้าน หลัง'ทรู-ดีแทค'ควบรวม

4มี.ค.2567-หลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม “มือถือ-เน็ตบ้าน” กรณี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแท็ค และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด(AWN) เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบรนด์ จำกัด (มหาชน) เกินกว่า 90 วัน แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังไม่มีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ นั้น


ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้บริโภคแถลงข่าวเพื่อเปิดแถลงรายงานการทำหน้าที่และการละเลยการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีควบรวมค่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านในมุมผู้บริโภค ซึ่งพบว่ามีการละเลยการกระทำในหลายกรณี โดยเฉพาะการไม่กำกับดูแลให้ลดราคาค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านตามเงื่อนไข


นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่าสภาผู้บริโภคจะจัดทำรายงานและยื่นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อเสนอแนะต่อ กสทช. โดยให้พิจารณาทบทวนและยกเลิกการรวมธุรกิจของกิจการโทรคมนาคมที่ดำเนินการแล้วทั้งหมด ให้พิจารณาจัดทำมติเรื่องการปรับลดราคาค่าบริการพื้นฐานร้อยละ 12 ตามมาตรการที่กำหนด โดยให้ลดค่าอินเทอร์เน็ตจาก 0.16 บาท เป็น 0.14 บาทต่อเมกะไบต์ หรือค่าโทรศัพท์จาก 0.60 บาท เป็น 0.52 บาทต่อนาที ให้กำกับการทำหน้าที่ของ สำนักงาน กสทช.อย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนสูงสุด

ส่วนข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช. คือ ให้เปิดเผยรายงานผลประกอบธุรกิจของผู้รวมธุรกิจทั้งสองกรณีที่จัดส่งให้แก่ กสทช. ทุก 6 เดือนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ทางช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ให้สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ เช่น การถูกเปลี่ยนแพ็กเกจโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้เร่งรัดผู้ให้บริการต้องลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลงร้อยละ 12 ให้เร่งรัดดำเนินการให้มีการเปิดเผยรายการส่งเสริมการขายในราคาต่ำเป็นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม และให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของบริการให้ไม่ต่ำกว่าเดิม

นางสาวสุภิญญา กล่าวด้วยว่า รายงานดังกล่าวจะมีข้อเสนอแนะต่อ กสทช.และสำนักงานกสทช. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ให้พิจารณากำหนดนโยบายการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับการแข่งขันของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ NT เพื่อเป็นทางเลือกกับผู้บริโภค

นอกจากนี้ทางสภาผู้บริโภค จะยื่นข้อเสนอแนะไปยัง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ต่อไป

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การจัดทำรายงานการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสภาผู้บริโภค โดยกรณีการดำเนินการของ กสทช.ถือเป็นหน่วยงานแรกที่สภาผู้บริโภคได้จัดทำรายงานการละเลยการกระทำเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบและกำกับการทำงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.


สำหรับกรณีการควบรวมธุรกิจโทรนาคมของสองค่ายยักษ์ใหญ่. สภาผู้บริโภคพบว่า การดำเนินการของ กสทช.และสำนักงานกสทช.เข้าข่ายลักษณะการกระทำหรือละเลยการกระทำ อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคและอาจจะขัดต่อกฎหมายใน 2 ลักษณะสำคัญ คือ


1.การลงมติรับทราบของที่ประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค.2565 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อประกาศของ กสทช.เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกิจการสื่อสารและคมนาคม พ.ศ.2549 ขัดต่อมาตรการกำกับดูแลและการรวมธุรกิจในกิจการ พ.ศ.2561 และขัดต่อระเบียบ กสทช.ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม พ.ศ.2555 ข้อ 41 ในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด
2.การไม่กำกับดูแลให้มีการดำเนินการตามมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะอย่างมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ผลักภาระให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากการปกปิด ปิดบัง โปรโมชั่นราคาต่ำ การเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยอัตโนมัติ และคุณภาพสัญญาณลดลง ไม่สามารถกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะได้ อาทิ อัตราค่าบริการเฉลี่ยต้องลดลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วัน จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค


นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ รักษาการหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า การจัดทำรายงานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. สภาผู้บริโภคได้ติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในปี 2565 – 2566 จนถึงปัจจุบัน และมีความกังวลว่าการรวมธุรกิจของสองกรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการให้บริการ รวมถึงแพ็กเกจและโปรโมชั่นจากการผูกขาดการให้บริการของสองเจ้าใหญ่ และทำให้เพิ่มสัดส่วนในตลาดและมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ถูกลดความสามารถในการแข่งขันลง

นายอิฐบูรณ์ กล่าวอีกว่าที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้มีการคัดค้านมาโดยตลอดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การยื่นหนังสือต่อ กสทช.ให้ชะลอการพิจารณาการลงมติการรวมธุรกิจ เพื่อให้มีการรับฟังความเห็นผลกระทบอย่างรอบด้าน แต่ไม่เป็นผล จากนั้นสภาผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการละเว้นการปฏิบิตหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ กสทช. เช่นเดียวกับการสนับสนุนงานศึกษาวิจัยผลกระทบการควบรวม การสำรวจผลกกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจ จำนวน 2,924 ราย จากตัวแทนองค์กรสมาชิกใน 6 พื้นที่และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


นอกจากนี้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สภาผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนมติในที่ประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 และมติเห็นชอบการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งแม้ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้อง สภาผู้บริโภคได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลมีคำสั่งรับคำฟ้อง เพราะเป็นคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาล


สำหรับการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมขนาดใหญ่ 2 กรณี กรณีแรกคือ การควบรวมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแท็ค ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้ยื่นหนังสือแจ้งการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 และในที่ประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 มีมติเสียงข้างมาก “รับทราบ” รายงานการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค
กรณีที่สอง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 กสทช. รับทราบการแจ้งความประสงค์การรวมธุรกิจ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเอไอเอส เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบรนด์ จำกัด (มหาชน) TTTBB ร้อยละ 99.87 มูลค่า 19,500 ล้านบาท และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 12/2566 มีมติเสียงข้างมาก “อนุญาต” การรวมธุรกิจของ AWN และ TTTBB
ขณะที่ นางสาวพรประภา เหม่งเวหา ผู้อำนวยการสำนักงวานสอบสวน 1 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับรายงานและข้อเสนอแนะในการแสวงหาข้อเท็จจริงจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของ กสทช. และ สำนักงาน กสทช. จากการมีมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการก่อนมีการลงมติ กระบวนการระหว่างลงมติ หรือ มติ คำสั่งทางปกครองไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมและหลักการทำคำสั่งทางปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมติหรือคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะส่วนข้อกำหนดการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ หรือประเด็นการผูกขาด ลดการแข่งขันทางการค้า ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับไว้พิจารณาต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วุฒิสภา' ชงสอบแต่งตั้ง 'เลขาฯ กสทช.' ล่าช้าเกือบ 4 ปี ชี้ผลประโยชน์ชาติเสียหาย

“กมธ. ไอซีที วุฒิสภา” ชงสำนักนายกฯ -ป.ป.ช.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการ หลังพบความผิดปกติ กระบวนการตั้งเลขา กสทช. เกือบ 4 ปียังไม่ได้ตัว จนรักษาการจะครบวาระ ยันไม่ได้ก้าวก่าย แต่ส่งกระทบผลประโยชน์ชาติเสียหาย

ศาลอาญาฯ ประทับฟ้อง 'พิรงรอง รามสูต' กสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดยื่นฟ้อง ศาสตร

กสทช.กระทุ้งยืนยันซิมการ์ดก่อนถูกระงับ

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากผลกระทบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กสทช.