'อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์'แท่นสลายพลัง ' ลดมลภาวะทางเสียง-แรงสั่นสะเทือนรถไฟ'

การขยายตัวของระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทย ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการคิดหาทางลดผลกระทบที่เป็นมลภาวะทางเสียง  และแรงสั่นสะเทือนจากรถไฟ ที่รบกวนคุณภาพชีวิตชุมชนและบริเวณใกล้เคียงที่รถไฟวิ่งผ่าน  ซึ่งในต่างประเทศ ใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการลดเสียงจากต้นกำเนิด หรือปรับการสั่นสะเทือนด้วยการติดตั้งแท่งสลายพลังงาน (Track Damper) บนรางรถไฟ    สำหรับประเทศไทย ได้นำแนวคิดนี้มาวิจัยพัฒนาต่อยอดจนได้ผลงานที่ชื่อว่า“อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์”ซึ่งเป็นแท่นสลายพลังงานลดมลพิษทางเสียงและการสั่นสะเทือนบนรางรถไฟ ที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้วัสดุที่เป็นส่วนผสมจากยางธรรมชาติ  และวัสดุรีไซเคิล หรือเรียกว่าเป็น BCG recycled 100% ซึ่งผลงานวิจัยของสถาบันเทคโนโลจีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง เผยว่า สจล.ได้มีแนวคิดในการประยุกต์ใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อให้สามารถลดมลพิษทางเสียงและมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ส่วนผสมจากยางธรรมชาติภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)กระทรวง อว. ร่วมกับ บริษัท AUT ผู้ผลิต Track Damper ส่งออกไปต่างประเทศ ทำให้เกิดเป็น อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์ (GreenTuned Rail Damper) เป็นรายแรกของโลก ที่สามารถช่วยลดมลพิษทางเสียงและการสั่นสะเทือนบนรางรถไฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ล่าสุดได้มีการลงนามระหว่างบพข.สถาบันเทคโนโลจีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  เอกชนไทยโดย บริษัท เอ. ยู. ที. จำกัด(AUT) บริษัท M&S Engineering ประเทศออสเตรเลีย และ บริษัท UUDEN Rail Products ประเทศเนเธอร์แลนด์ในการผลิต  เพื่อขยายผลในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  ด้วยการส่งออกไปจำหน่ายในยุโรปและออสเตรเลียเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. พร้อมด้วย ดร.นคร จันทศร อนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล   คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด นายธรณิน ณ  เชียงตุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.ยู.ที. จำกัด และตัวแทนจากบริษัทเอกชนไทย ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ร่วมเป็นสักขีพยาน

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า โครงการนี้นับเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางเสียงและการสั่นสะเทือนบนทางรถไฟด้วย Green Technology โดยได้มีการพัฒนาวิธีการติดตั้งแดมเปอร์แท่งสลายพลังงานบนรางรถไฟจากวัสดุ BCG สามารถ recycled 100%ด้วยการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม ทำให้ได้อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์จากส่วนผสมยางธรรมชาติซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว วิธีการนี้ยังทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่สมเหตุสมผลทั้งยังเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรของไทยด้วย  นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ จึงถือเป็นการยกระดับความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยวางรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ และขับเคลื่อน BCG ของประเทศไทย

ตัวอย่างแท่นไอีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์ไแท่นสลายพลัง

ผศ.ดร.รัฐภูมิ   กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า เราได้ร่วมมือกับ บริษัท AUT ซึ่งเดิมทีทางบริษัทฯเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งก็คือ Track Damper และส่งออกไปต่างประเทศมากกว่า 300,000 ชิ้นและมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการขยายตัวของระบบรางทั่วโลกโดยวัสดุส่วนใหญ่นั้น   เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีแหล่งกำเนิดที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น  โครงการวิจัยนี้จึงได้พัฒนาต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการแทนที่เนื้อวัสดุบางอย่างด้วยวัสดุในประเทศ 2 ชนิดคือยางพาราและเศษยางรถยนต์เก่าและเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีความอัจฉริยะด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดและวิเคราะห์  การเคลื่อนผ่านของการรถไฟด้วยระบบ AI และ IOT ทำให้  นอกจากเพิ่มมูลค่าจากความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วระบบเซ็นเซอร์ฝังตัวอัจฉริยะยังสามารถใช้เป็นระบบตรวจวัดเพื่อการแจ้งเตือนและเป็นข้อมูลเพื่อวางแผนบำรุงรักษาได้อีกด้วย  โดยเราได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทในประเทศออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์มีเป้าหมายในการส่งผลิตภัณฑ์ของเราออกไปขายยังทวีปยุโรป เอเชีย และออสเตรเลียเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยและสร้างรายได้เข้าประเทศ

หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบราง สจล. กล่าวอีกว่า จุดเด่นผลิตภัณฑ์  Track Damper  ที่วิจัยและพัฒนราขึ้นใหม่นี้คือ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางเสียงจากรถไฟ สามารถลดเสียงดังที่ต้นเหตุ ได้ตั้งแต่ 3 – 7 เดซิเบล   สามารถเพิ่มสมรรถนะของทางรถไฟ ลดวงรอบการซ่อมบำรุงจากการเจียรราง อีกทั้ง ติดตั้งง่าย ไม่ต้องบำรุงรักษา คุ้มค่ากว่ากำแพงกันเสียง

ส่วนวัสดุที่ใช้เป็นวัสดุ BCG recycled ได้ 100%  ซึ่งสามารถใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมได้ถึง 50% ของวัสดุพอลีเมอร์สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษต  นอกจากนี้ ยังเป็นการ ยกระดับจากอุตสาหกรรมจาก Tire 3 สู่ Tier 1 ที่ออกแบบผลิตและทดสอบโดยนักวิจัยไทย ร่วมกับบริษัทเอกชนไทยโดยใช้วัสดุในประเทศ 100% ทำให้เกิดองค์ความรู้และการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยคนไทย ผลงานที่ได้ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการและใช้จริงในประเทศไทย ทั้งรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมืองและมีความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) อยู่ในระดับ  8 พร้อมสำหรับการต่อยอดในเชิงพาณิชย์

“สรุปในภาพรวม ถือได้ว่าผลงานนี้  ช่วยยกระดับและสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ  โดยเรามีเป้าหมายส่งออกไปยังทวีปยุโรป เอเชียและออสเตรเลีย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ”ผศ.ดร.รัฐภูมิ กล่าว.


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สจล.จัดกอล์ฟประเพณี8เกียร์ รวมพลัง8สมาคม ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์

สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล., คุณชัยพจน์ ตันตระวิวัฒน์ นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และรศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ แถลงเปิดตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดวลวงสวิงครั้งยิ่งใหญ่ ‘กอล์ฟประเพณี 8 เกียร์ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2566’ (8 GEARS TRADITIONAL GOLF TOURNAMENT ENGINEERING ALUMNI ASSOCIATION) ในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ณ สนามบางกอก กอล์ฟ คลับ จังหวัดปทุมธานี