'ทำไมฤดูร้อนของไทย อากาศร้อนจนแทบอยู่ไม่ได้ ?'

ภาพถ่ายจากเครื่องมือบนดาวเทียม Terra ของ NASA แสดงค่าเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิพื้นผิวในไทยและอินเดียในเดือนเมษายน 2559 (ที่มา :NASA Earth Observatory)

“ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส การศึกษาในปี 2563 [6] คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยจะเท่ากับของทะเลทรายซาฮาราภายในปี 2613 โดยสูงมากกว่า 29  องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนที่เบาที่สุดในช่วงปี 2613 จะเทียบได้กับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุด ณ ปัจจุบัน และทำให้ประเทศไทยร้อนเกินกว่าที่จะอาศัยอยู่ได้ตลอดทั้งปี”

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ออกบทความ “ทำไมฤดูร้อนของไทยอากาศร้อนจนแทบอยู่ไม่ได้ ?”มีเนื้อหาดังนี้

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร อากาศจึงร้อนเป็นธรรมดา นี่เป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย และหากจะตอบว่าเป็นเพราะโลกร้อนขึ้นอาจจะเหมารวม (oversimplify) ไปนิด เรื่องนี้เราต้องพิจารณาในทางเวลาหลายระดับ


ในช่วงฤดูร้อนของไทย อุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวันอาจทะลุไปมากกว่า 40 องศา ดังที่เราเคยประสบ ประเทศไทยเจออากาศร้อนสูงขึ้น 12 องศาเซลเซียส มากกว่าค่าเฉลี่ยในพื้นที่ส่วนใหญ่ และมีการทำลายสถิติอุณหภูมิรายวันมากกว่า 50 ครั้ง จากข้อมูลที่ประมวลจากภาพถ่ายจากเครื่องมือบนดาวเทียม Terra ของ NASA แสดงค่าเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิพื้นผิวในไทยและอินเดียในเดือนเมษายน 2559 ข้อมูลที่บันทึกโดยกรมอุตนิยมวิทยาระหว่างปี 2494-2565 จังหวัดแม่ฮ่องสอนทุบสถิติอากาศร้อนสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียสในวันที่ 28 เมษายน 2559 [1]

แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกร้อนมากน้อย ไม่ใช่เป็นตัวเลขอุณหภูมิล้วนๆ แต่คือสิ่งที่เรียกว่า “ดัชนีความร้อน(Heat Index)” คิดจากอุณหภูมิอากาศ(Air Temperature) และเปอร์เซ็นต์ของความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity%) กล่าวง่ายๆ คือเป็นอุณหภูมิที่เรารู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิอากาศจริง

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเจออุณหภูมิ 44.6 องศาเซลเซียสในวันนั้นที่แม่ฮ่องสอน และมีความชื้นสัมพัทธ์ 15% เราจะรู้สึกร้อนประมาณนั้นซึ่งจริงๆ แล้วก็เกินระดับเฝ้าระวัง ทำให้เราอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวได้

แต่เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ขึ้นเป็น 35% ในอุณหภูมิ 44.6 องศาเซลเซียส ดัชนีความร้อน(ซึ่งไม่มีหน่วย) จะกลายเป็น 54 ที่ทำให้เราเป็นภาวะลมแดด(heat stroke) ในทันที

อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือน

ที่มา :http://berkeleyearth.lbl.gov/regions/Thailand


ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี เราสามารถสัมผัสกับอากาศร้อนที่อาจสูงถึง 40°C ในปี 2559 ประเทศไทยต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 65 ปี

เรารับรู้ถึงอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและจากสภาพอากาศสุดขั้ว ข้อมูลที่วิเคราะห์โดย Berkeley Earth [3] ชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนของประเทศไทยในทศวรรษล่าสุด (ปี ค.ศ.2020 – เส้นสีแดง) เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนระหว่างทศวรรษ 1951-1980 (เส้นสีดำและแถบสีเทา)เกือบตลอดทั้งปี เดือนที่ร้อนที่สุดคือเมษายนโดยมีค่าเฉลี่ย 30.6 องศาเซลเซียส(พ.ศ.2562) เดือนที่มีอุณหภูมิต่ำสุดคือธันวาคมโดยมีค่าเฉลี่ย 23.8 องศาเซลเซียส(พ.ศ.2562 และ 2563)

อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยระยะยาวของไทย


ข้อมูลที่วิเคราะห์โดย Berkeley Earth [4] ที่เก็บรวบรวมตั้งแต่ พ.ศ.2383 (ช่วงรัชกาลที่ 3 ปีที่ 59 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นต้นมา อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส มากกว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.3 องศาเซลเซียส

ทำไมเราต้องแคร์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 1 หรือ 2 องศาเซลเซียส เพราะการผกผันของอุณหภูมิในแต่ละวันของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ก็มากกว่านั้นอยู่แล้ว

คำตอบคือ การบันทึกอุณหภูมิพื้นผิวโลกนั้นแทนค่าเฉลี่ยของพื้นผิวทั้งหมด อุณหภูมิที่เราเจอในพื้นที่และในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นผันผวนขึ้นลงอย่างมากเนื่องจากเหตุการณ์ที่เป็นวัฐจักรซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ (กลางคืนและกลางวัน ฤดูร้อนและฤดูหนาว) แบบแผนของกระแสลมและการตกของฝน/หิมะ/ลูกเห็บ/น้ำค้างที่คาดการณ์ยาก แต่อุณหภูมิผิวโลกขึ้นอยู่ปริมาณพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์และพลังงานที่แผ่กลับออกไปนอกโลก ซึ่งขึ้นอยู่องค์ประกอบของสารเคมีในชั้นบรรยากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซเรือนกระจกที่มีคุณสมบัติกักเก็บความร้อน

อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาองศาเซลเซียส จึงมีนัยสำคัญยิ่งเนื่องจากต้องใช้ความร้อนมหาศาลในการทำให้มหาสมุทร ชั้นบรรยากาศและผืนแผ่นดินร้อนขึ้น(ที่ 1 องศาเซลเซียส) ในทางตรงกันข้าม การลดลงของอุณหภูมิผิวโลกเพียง 1 หรือ 2 องศา ในอดีตสามารถทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง (Little Ice Age) การลดลงของอุณหภูมิผิวโลก 5 องศา เพียงพอที่ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนืออยู่ใต้มวลน้ำแข็งหนาเมื่อ 20,000 ปีก่อน

ดังนั้น “โลกร้อน” จึงมิได้หมายถึงอุณหภูมิทุกจุดบนพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น 1 องศา อุณหภูมิในปีหนึ่งๆ หรือในทศวรรษหนึ่งๆ อาจเพิ่มขึ้น 5 องศาในที่หนึ่ง และลดลง 2 องศาในอีกที่หนึ่ง ฤดูหนาวที่เย็นผิดปกติในภูมิภาคหนึ่งอาจตามมาด้วยฤดูร้อนรุนแรงในเวลาต่อมา หรือฤดูหนาวที่เย็นยะเยือกในที่หนึ่งอาจถ่วงดุลด้วยฤดูหนาวที่อุ่นขึ้นอย่างผิดปกติในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก โดยรวม ผืนแผ่นดินจะร้อนขึ้นมากกว่าพื้นผิวมหาสมุทร เนื่องจากมวลน้ำจะค่อยๆ ดูดซับความร้อนและค่อยๆ คายความร้อนออก (มหาสมุทรโลกมีความเฉี่อยทางความร้อนมากกว่าผืนแผ่นดิน) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจึงแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภาคพื้นทวีปและแอ่งมหาสมุทร

กลับมาที่ประเทศไทย เมื่อใช้แถบสี(Climate Stripe) [5] ด้านล่าง เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวระยะยาวในประเทศไทยซึ่งชี้ชัดถึงหน้าตาของภาวะโลกร้อนที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ได้เป็นอย่างดี

แถบสีแสดงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาวของประเทศไทย (พ.ศ.2383 – 2563) / ที่มา :http://berkeleyearth.lbl.gov/regions/Thailand


Berkeley Earth ยังได้ใช้แบบจำลองคาดการณ์อนาคตซึ่งหากไม่มีการลงมือทำอย่างจริงจังของประชาคมโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนถึง พ.ศ.2643 อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 2.5-5.5 องศาเซลเซียส โดยมีค่ากลางที่ 3.8 องศาเซลเซียส

ฉากทัศน์วิกฤตความร้อนในประเทศไทย


เป็นเวลาหลายพันปีที่เผ่าพันธุ์มนุษย์วิวัฒนาการในพื้นที่ที่มีอุณภูมิเฉลี่ยทั้งปี (Mean Annual Temperature) ระหว่าง 11-15 องศาเซลเซียส โดยเป็นลักษณะของสภาพอากาศของโลกในช่วงแคบๆ แท้ที่จริงแล้ว เผ่าพันธุ์มนุษย์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ที่มีอุณภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่านี้มาก และต้องรับมือกับอุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนที่ท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์

จากการศึกษาเกี่ยวกับคลื่นความร้อนของไทยในปี 2561 แม้แต่คลื่นความร้อนที่มีกำลังน้อยถึงปานกลางก็สามารถสร้างความเสียหายได้ นอกจากความเครียดจากความร้อนโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงเครื่องปรับอากาศ ยังเพิ่มอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ โรคปอดบวม และโรคติดเชื้ออื่นๆ

ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส การศึกษาในปี 2563 [6] คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยจะเท่ากับของทะเลทรายซาฮาราภายในปี 2613 โดยสูงมากกว่า 29 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนที่เบาที่สุดในช่วงปี 2613 จะเทียบได้กับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุด ณ ปัจจุบัน และทำให้ประเทศไทยร้อนเกินกว่าที่จะอาศัยอยู่ได้ตลอดทั้งปี

กลุ่มประชากรในไทยที่ต้องเผชิญอากาศร้อนจัดมักเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท หรือมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงระบบการลดความร้อน / ที่มา : https://earth.org/data_visualization/too-hot-to-live-in/
พื้นที่ตั้งถิ่นฐานขนาดใหญ่ในประเทศไทยทั้งหมดจะต้องเผชิญกับช่วงความร้อนสูงที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า อะไรคือมาตรการรับมือในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศต้องขยายตัวมากขึ้น เครือข่ายระบบเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่พอที่จะปกป้องประชากรส่วนใหญ่จะเป็นคำตอบหรือไม่

รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายไม่มีทางเลือกนอกจากพิจารณาถึงแผนการรับมือและปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้งยาวนาน อุทกภัย และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เป็นต้น

สิ่งสำคัญคือลงมือกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศบนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคม

หมายเหตุ :

[1] https://www.tmd.go.th/climate/tempmaxstatlatest

[2] http://www.arcims.tmd.go.th/Research_files/%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99.pdf

[3] http://berkeleyearth.lbl.gov/regions/Thailand

[4] Berkeley Earth จัดตั้งโดย Richard และ Elizabeth Muller ในช่วงต้นปี 2553 เมื่อพวกเขาพบข้อดีในข้อกังวลบางประการของผู้สงสัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาจัดตั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อทบทวนและวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิผิวโลก และเผยแพร่ข้อค้นพบครั้งแรกในปี 2555 ปัจจุบัน Berkeley Earth เป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร

[5] Climate Stripe คิดโดย Professor Ed Hawkins (University of Reading) เพื่อให้บทสนทนาเรื่องโลกร้อนไปสู่วงกว้างมากขึ้นและสื่อสารออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ละแถบแสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละปี (ถ้าเป็นสีฟ้าคือเย็นกว่าค่าเฉลี่ย ถ้าเป็นสีแดงคือร้อนกว่าค่าเฉลี่ย

[6] https://www.pnas.org/content/117/21/11350

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)

ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน

กฎหมาย PRTR เตรียมเข้าสภาฯ เปิดข้อมูลมลพิษ

ร่าง พรบ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. … หรือ ที่เรียกว่า “กฎหมาย PRTR” จ่อคิวเข้าสภาผู้แทนราษฎรเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนหน้านี้ หลากหลายองค์กรทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาชนต่างพยายามขับเคลื่อนกฎหมาย PRTR ในแบบฉบับของแต่ละส่วนมาอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การเปิดเวทีเสวนา “สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

เอ็นจีโอ รวมตัวออกแถลงการณ์ จี้สนง.ปรมาณูฯ แจงสาเหตุซีเซียม-137 หาย ที่ผ่านมากำกวม ไม่เคลียร์

มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทยได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีสารกัมมันตรังสีซีเซียม -137สูญหา