ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และอยู่ในอันดับที่ 36 จาก 134 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าคุณภาพอากาศแย่กว่าปี 2565 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 นี้เป็นรายงานฉบับที่ 6 ซึ่ง IQAir จัดทำขึ้น ซึ่งมีการวิเคราะห์ผลโดยนักวิทยาศาสตร์เพื่อนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ PM2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศมากกว่า 30,000 สถานีใน 7,812 พื้นที่ ครอบคลุม 134 ประเทศ และภูมิภาค

ข้อค้นพบหลักรายงานคุณภาพอากาศโลก 2566 พบว่า 7 ประเทศที่มีคุณภาพอากาศต่ำกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) (ค่าเฉลี่ยรายปี 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ได้แก่ ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ กรีนาด้า ไอซ์แลนด์ มอริเชียส และนิวซีแลนด์

5 ประเทศที่คุณภาพอากาศแย่สุดในโลกได้แก่

บังคลาเทศ มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 15 เท่า

ปากีสถาน มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 14 เท่า

อินเดีย มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 10 เท่า

ทาจิกิสถาน มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 9 เท่า

บูร์กินาฟาโซ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 9 เท่า

ทั้งนี้ กว่า 124 ประเทศจาก 134 ประเทศและภูมิภาคมีคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีสูงเกินค่าแนะนำของ WHO

ข้อค้นพบหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยรายปีพบว่าปี 2566 แย่กว่า ปี 2565 โดยมีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 และใน 5 พื้นที่ที่คุณภาพอากาศแย่ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปี 2565 ไม่มีพื้นที่ไหนที่มีค่าเฉลี่ยรายปีสูงเกินนี้

สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่กว่าร้อยละ 60 เป็นของภาคประชาชน สถาบันการศึกษา ในขณะที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของหน่วยงานรัฐมีจำนวนน้อยกว่ามาก

ข้อค้นพบหลักในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 36 ของโลก และอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปีที่ 23.3ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 4.7 เท่า

โดยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 37 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี 21.7ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดเชียงราย และ อำเภอปายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 แย่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปี 2565 โดยเพิ่มจาก 18.1ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ในปี 2566 เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายเดือนเพิ่มจาก 53.4 เป็น 106.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 150 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายเดือนของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนเป็นวิกฤตสุขภาพที่คุกคามประชาชนในภาคเหนือมาร่วม 20 ปี โดยปี 2566 ที่ผ่านมาประชาชนในภาคเหนือต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นปีที่มีฝุ่นพิษเลวร้ายที่สุด จะเห็นได้จากข้อค้นพบในรายงานที่ระบุว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จังหวัดเชียงราย และ แม่ฮ่องสอน มีตัวเลขค่าเฉลี่ยค่าฝุ่นพิษ PM2.5 รายชั่วโมงพุ่งสูงสุดเกิน 300 AQI และกลายเป็นเมืองที่ติดอันดับมลพิษสูงสุดของโลก

ข้อมูลจากรายงานของกรีนพีซ ประเทศไทยเผยว่าการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือตัวการสำคัญในการขยายการลุงทุนข้ามแดนและพื้นที่เพาะปลูกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ท้ายที่สุดก็ก่อฝุ่นพิษข้ามแดนกลับมายังไทย รัฐควรเร่งกำหนดให้พ.ร.บ.อากาศสะอาดมีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานและบังคับใช้กฎหมายที่สามารถเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการทำลายป่า เพราะนี่คือวิกฤตเร่งด่วนที่รัฐต้องให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน มากกว่าผลกำไรของบริษัทอุตสาหกรรม”

อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมากรีนพีซ และองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันรณรงค์ผลักดันกฎหมาย PRTR เพื่อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันหน่วยงานรัฐยังขาดฐานข้อมูลการปลดปล่อยสารมลพิษ (emission inventory) จึงทำให้การกำหนดนโยบายและแผนบริหารฝุ่นพิษ PM2.5 ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าแหล่งกำเนิดที่แท้จริงมาจากที่ใดบ้าง และมีปริมาณการปลดปล่อยมลพิษออกมามากน้อยเท่าใด มาตรการของรัฐที่เห็นจึงมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการไฟป่า การเผาของภาคเกษตร และการจราจร ที่ใช้งบประมาณและทรัพยากรจำนวนมาก ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการปล่อยมลพิษกลับถูกละเลยไปทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดที่ปล่อยมลพิษเกือบ 24 ชั่วโมงและตลอดทั้งปี

จากข้อมูลรายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 แสดงให้เห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่ต้นเหตุของแหล่งกำเนิด PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยต้องกำหนดนโยบาย งบประมาณ และยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเหนือกลุ่มทุนอุตสาหกรรม เพราะการเข้าถึงอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

สำหรับ IQAir เป็นบริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศในสวิตเซอร์แลนด์ที่ส่งเสริมให้ บุคคล องค์กร และชุมชน ใช้ข้อมูลปรับปรุงคุณภาพอากาศ การทำงานร่วมกัน และเทคโนโลยีการแก้ปัญหา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทนนิสโลก'วางใจประเทศไทย ไฟเขียวจัดแข่งหวดนานาชาติอีก

นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ สมาคมฯ ได้จัดการแข่งขันเทนนิสผ่านไปแล้วเกือบ 30 รายการ เพื่อให้นักกีฬาทุกระดับได้มีเวทีในการแข่งขัน โดยเฉพาะระดับอาชีพ ซึ่งมีทั้งรายการนานาชาติ และภายในประเทศ ล่าสุด สมาพันธ์นักเทนนิสชาย หรือ เอทีพี ยังได้ไว้วางใจมอบให้สมาคมฯ จัดการแข่งขันเทนนิสอาชีพชาย เอทีพี ชาลเลนเจอร์ ระดับ 100 รายการ Bangkok Challenger (บางกอก ชาลเลนเจอร์) ชิงเงินรางวัลรวม 133,250 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,863,625 บาท ณ ศูนย์พัฒนากีฬาเทนนิสแห่งชาติ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ระหว่างวันที่ 22-29 ก.ย. 2567

ไทยคว้ารางวัลจัดงาน 'เวิลด์ ยูธ'ยอดเยี่ยม 'บัวขาว'หนุน'มวยไทย'บรรจุโอลิมปิก

ประเทศไทยคว้ารางวัลจัดงาน "เวิลด์ ยูธ เฟสติวัล แบงค็อก 2022" ยอดเยี่ยมจนได้รับคำชมทั่วโลกในงาน "สปอร์ต แอคคอร์ด เวิลด์ สปอร์ต แอนด์ บิสซิเนส ซัมมิท" ที่เมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ ขณะที่บูธ มวยไทย ชาวต่างชาติให้ความสนใจคึกคัก ด้านโคตรมวยอย่าง "บัวขาว บัญชาเมฆ" ประทับใจเชียร์กีฬามวยไทย บรรจุชิงชัยโอลิมปิกเกมส์ ส่วนกีฬาทหารโลกอ้าแขนรับ "มวยไทย" เข้าบรรจุชิงชัย

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)