2 เดือนมานี้คนไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อนโหดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งล่าสุดรายงานกระทรวงสาธารณสุขระบุ 4 เดือนแรกของปี 2567 นี้ มีคนไทยตายจากฮีทสโตรกหรือภาวะ’ลมแดด’ เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566
กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้จะไม่ใช่จังหวัดที่จะเจอกับความร้อนมากที่สุด แต่กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่มีโอกาสที่อุณหภูมิจะขยับมากขึ้นๆ เสี่ยงต่อการตั้งถิ่นฐานจากภาวะโลกเดือด
เรื่องนี้มีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) อย่าง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์ประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นจังหวัดที่มีอากาศร้อนแรงที่สุด แต่ในอนาคต 60 ปีข้างหน้า จังหวัดในภาคกลางตอนบนจะเจออุณหภูมิสูงสุด ได้แก่ จ.พิจิตร 48.74 องศาเซลเซียส จ.ชัยนาท 48.48 องศาเซลเซียส จ.นครสวรรค์ 48.08 องศาเซลเซียส ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.มหาสารคาม 47.85 องศาเซลเซียส จ.ขอนแก่น 47.58 องศาเซลเซียส จ.ร้อยเอ็ด 47.56 องศาเซลเซียส จ.นครราชสีมา 46.19 องศาเซลเซียส ภาคเหนือ จ.ลำปาง 47.19 องศาเซลเซียส จ. ลำพูน 47.13 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพมหานครจะมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 44.90 องศาเซลเซียส
“ กรุงเทพฯ ในอนาคต แม้ไม่มีความเสี่ยงร้อนที่สุดในไทย แต่จะเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ ปัจจุบันกรุงเทพฯ ติดอันดับหนึ่งเมืองที่น่าท่องเที่ยว แต่สิ่งที่จะเผชิญในอนาคต ข้อมูลจากแบบจำลองชุดใหม่พบจำนวนวันในรอบปีของกรุงเทพฯ ที่อุณหภูมิสูงสุดเกิน 35 องศาเซลเซียส จากปัจจุบัน 15 วัน อนาคตจะเพิ่มประมาณ 80 วัน เกือบ 3 เท่าตัว ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน- พฤษภาคม กรุงเทพฯ อีกทั้งอุณหภูมิสูงแตะ 44 องศาเซลเซียส จะไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่มาอยู่ระยะยาว ฉะนั้น การสร้างสภาวะแวดล้อมเมืองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำอย่างไร เป็นการบ้านใหญ่ของรัฐบาล ทำควบคู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ รศ.ดร. เสรี กล่าว
ส่วนจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดในประเทศไทย 8 จังหวัดในอนาคต ได้แก่ สุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร ตาก แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และกาญจนบุรี สำหรับสุโขทัยอนาคตอุณหภูมิสูงสุด 49.01 องศา จำนวนวันอุณหภูมิสูงสุดเกิน 40 องศา เดือนมีนาคม จะร้อน 23 วัน เดือนเมษายน จะร้อน 25 วัน พฤษภาคมอีก 25 วัน รวมวันที่อากาศร้อนจะเพิ่ม 63 วัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อน กล่าวต่อว่า รัฐบาลและกรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จะมีแนวทางอย่างไรเพื่อทำให้กรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิที่เย็นลง อนาคตจะร้อนระอุ 44.9 องศา ประชาชนจะอยู่กันได้อย่างไร ตนคิดว่า การออกแบบเมืองสีเขียวมีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถใช้กลยุทธ์ 2 P ประกอบด้วย P – Park หมายถึงกรุงเทพมหานครต้องมีสวนสาธารณะและต้นไม้ให้มากที่สุด มีดัชนีชี้วัดเมืองสีเขียวกำหนดสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 7 ตารางเมตรต่อคน แต่กรุงเทพฯ มีตัวเลขอยู่ที่ 3.5 ตารางเมตรต่อคน ต่ำกว่ามาตรการ WHO ที่กำหนดไว้ กทม. ต้องเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐาน ต้องเร่งเครื่องเพิ่มอีก 1 เท่าตัว แคมเปญปลูกต้นไม้ล้านต้นต้องมีกลไกจูงใจ ส่วนภาคเอกชนร่วมปลูกต้นไม้ พบปัญหาตามมา ปลูกแล้วขาดงบ ขาดคน มาดูแล จะทำอย่างไรให้ได้พื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน รวมถึงต้องมีการติดตามประเมินผลว่า กทม. ปลูกต้นไม้ที่มีประโยชน์จริงตามระบบนิเวศทำได้ตามเป้าที่ประกาศหรือไม่
P ต่อมา คือ Pool พื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง บ่อ สระ กระจายในเมืองใหญ่ นอกจากนี้จะต้องสร้าง Cool Walkway ถนน ทางเดินที่ลดอุณหภูมิ ไม่จำเป็นต้องใช้คอนกรีตอย่างเดียว ในต่างประเทศมีการใช้บล็อกคอนกรีตแล้วปลูกหญ้าตามบล็อกให้น้ำซึมผ่านได้ อนาคตเมืองกรุงเทพฯ ต้องปรับปรุงทางเท้าให้สอดรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
“ มีตัวอย่างการสร้างเมืองสีเขียวของประเทศสิงคโปร์ เป็นโมเดลต้นแบบติดอันดับสองของโลก ซึ่งรัฐบาล ภายใต้ความชาญฉลาดของผู้นำประเทศใช้นโยบายหรือมาตรการในลักษณะเพิ่มแรงจูงใจในการปรับเมืองเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำสวน ปลูกต้นไม้ ทำพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้มาเบิกกับรัฐ การสร้างอาคารในสิงค์โปรมีการตระหนักถึงทิศทางการระบายอากาศ ทิศทางลม ไม่ใช้จุดอับ รวมถึงไม่ใช่วัสดุที่สะท้อนความร้อนออก มา ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิเมืองสูงขึ้น รวมถึงสร้างห้องแอร์สาธารณะเพื่อบริการประชาชนเมื่อเดินกลางแจ้งนานๆ มีจุดพัก ซึ่งมีทั้งรูปแบบห้องสมุด ห้องนิทรรศการ ฯลฯ ถ้านโยบายประเทศขับเคลื่อนลักษณะนี้จะไปเกิดความเป็นรูปธรรม หันกลับมาที่ประเทศไทย การอนุมัติอนุญาตสร้างตึกอาคารสูงในเมืองใหญ่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องเหล่านี้ ผู้นำประเทศไม่เคยพูดถึง “ รศ.ดร.เสรี กล่าว
นวัตกรรมใหม่ในสิงค์โปร์เพื่อสู้อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น รศ.ดร.เสรี บอกว่า ล่าสุด สิงค์โปร์ริเริ่มโครงการ” DISTRIC COOLING “ สร้างหอทำความเย็น ส่งน้ำเย็นไปให้อาคาร สำนักงาน คอนโดมิเนียมต่าง ๆ ในเมือง อาคารเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีคอมเฟรสเซอร์ น้ำเย็นจะทำปฏิกริยากับสารทำความเย็นแล้วปล่อยเป็นแอร์เข้ามาภายในอาคาร วิธีนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประหยัดพลังงาน แต่ประเทศไทยยังไม่ทำ มีแต่ติดเครื่องปรับอากาศของตัวเองเพิ่มขึ้นๆ สร้างความเย็นให้ตัวเอง แต่ไม่มีที่ทำความเย็นส่วนกลาง สิงค์โปร ทำ 1 เขต 1 หอคอย เป็นเรื่องที่ไทยต้องศึกษา ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องเติมโครงการลักษณะนี้ในนโยบาย เพราะตอนนี้ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งดัชนีความร้อนและดัชนีภัยแล้ง ปีนี้ร้อนระอุที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึก
ผลกระทบที่จะตามมา คือ ภัยคุกคามที่ไม่สามารถย้อนเวลากลับได้นอกจากภัยความร้อน กรุงเทพมหานครยังเสี่ยงผลกระทบจากโลกเดือดรอบด้าน นักวิชาการด้านภัยพิบัติ กล่าวต่อว่า อนาคตข้างหน้าฝนตกหนักในเวลาจำกัด 3 ชม. 5 ชม. น้ำท่วมจะสูงขึ้น 20-30 เซนติเมตร จะต้องเผชิญกับน้ำรอการระบายหรือน้ำท่วมเมืองบ่อยมากขึ้น ปีนี้ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม กทม.ในหลายพื้นที่ อีกปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงทำให้น้ำกร่อยมากขึ้น กระทบต่อระบบการผลิตน้ำประปา ไอพีซีซี คาดการณ์ว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงอีก 40 เซนติเมตร ใน 30 ปี และขยับเพิ่มเป็น 80 เซนติเมตร ในอีก 60 ปีข้างหน้า อนาคตกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองจมน้ำ นอกจากนี้ น้ำกร่อยยังส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรม พืชพันธุ์ที่ใช้น้ำจืดในการเพาะปลูก อย่างสวนทุเรียน จ.นนนทบุรี จะอยู่ไม่ได้แน่นอน สวนกล้วยไม้ชานเมืองกรุงเทพฯ อยู่ยาก กระทบความมั่นคงทางอาหารและเสี่ยงสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านสาธารณสุข อากาศร้อนจัดยังกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะฮีทสโตรก ไอพีซีซีคาดการณ์ไว้ว่าประเทศโซนร้อนจะเผชิญฮีทสโตรกรุนแรง ในต่างประเทศหากอุณหภูมิเกิน 35 องศาเซลเซียส ประกาศเตือนภัยฮีทสโตรก แต่ไทยยังไม่มีคำจำกัดความหรือเกณฑ์เข้าสู่ฮีทสโตรก อนาคตข้างหน้าเนื่องจากโลกร้อนมากขึ้น ผลกระทบจะยิ่งมากขึ้น อนาคตจะต้องขยับเวลาทำงาน ขณะนี้แหล่งท่องเที่ยวก็มีการปรับตัวให้เที่ยวยามค่ำคืน เพราะสภาพอากาศร้อนจัด กรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน ทุกภาคส่วนธุรกิจ สังคมเมือง และชนบทจะได้รับผลกระทบมากน้อยในช่วงเวลาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมโดยไม่ประมาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนกรุงอ่วม! สภาพอากาศมีผลกระทบสุขภาพถึง 33 พื้นที่
เพจกรุงเทพมหานคร โพสต์กราฟฟิกพร้อมเนื้อหา
อุตุฯ เตือนมวลอากาศเย็นระลอกใหม่ ลมแรง อุณหภูมิลด กทม. ต่ำสุด 23 องศา
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้
อุตุฯ เตือนอากาศเย็นมีหมอกบางตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย ใต้ฝนตกหนัก
รมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณช่องแคบมะละกา
ฝุ่น PM 2.5 กทม. แนวโน้มลดลง เกินค่ามาตรฐานเหลือ 15 พื้นที่ อยู่ฝั่งธนบุรีเป็นส่วนมาก
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร
คนกรุงเทพฯ สำลักฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม 63 พื้นที่
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ณ เวลา 07.00 น. : ตรวจวัดได้ 34.3-74.3 มคก./ลบ.ม. พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 63 พื้นที่ คือ
นักวิชาการ เตือนคนกรุงฝุ่น PM 2.5 สูงมาก อากาศข้างนอกเย็นสบาย แต่ออกไปอาจป่วยตายได้
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า กรุงเทพฯช่วงนี้ อากาศข้างนอกเย็นสบายแต่ออกไปอาจป่วยตายได้..