มหรสพสมโภชที่ท้องสนามหลวง วันที่ 3 คึกคัก ปชช.ชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวง สัมผัสสวนแสงสุดตระการตา พบการแสดงศิลปวัฒนธรรม-ดนตรี มากมาย
13 ก.ค.2567 – นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย วันนี้เป็นวันที่ 3 ของการจัดงาน มีประชาชนสนใจร่วมงานต่อเนื่อง ภายในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ ท้องสนามหลวง ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ“ทศมินทรราชา 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” เผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แบ่งออกเป็น 3 โซน
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า โซนที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกร โซนที่ 2 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ส่วนโซนที่ 3 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ นิทรรศการ ประกอบด้วย ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดย “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร นอกจากนี้ ยังมีจัดนิทรรศการของกระทรวงวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ
รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ภายในงานจัดแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติ “มหาทศมินทรราชา” โดยจัดแสดงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ประดับคำว่า“ทรงพระเจริญ”และ“LONG LIVE THE KING”ตกแต่งด้วยดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10 และนำเอาสื่อสัญลักษณ์ของสถานที่สำคัญอันเป็นสถานที่มงคล ทั้ง 4 ภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำมาจำลองอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ ภาคเหนือ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง เป็นปีพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังตกแต่งด้วยสื่อสัญลักษณ์ “ดอกกุหลาบ” เพื่อสื่อถึงความอ่อนโยนและความอ่อนหวานของดินแดนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชสักการะ สรงน้ำองค์พระธาตุพนมถวายเป็นพุทธบูชา อีกทั้งยังตกแต่งด้วย “ดอกบัว”สื่อถึงคติสัญลักษณ์แห่งสายใยผูกพันของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)
นอกจากนี้ ยังตกแต่งด้วย “ต้นข้าว” เพื่อสื่อถึงอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ และภาคใต้ ศาลหลักเมืองประจำจังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลหลักเมืองประจำจังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ ยังตกแต่งด้วย“ดอกบานบุรี ” ซึ่งนิยมปลูกกันในแถบภาคใต้เพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวปักษ์ใต้ และมีจุดถ่ายภาพด้วยระบบ AI สามารถเลือกแต่งกายด้วยชุดอัตลักษณ์แต่ละภาคและฉากหลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้โดยให้บริการประชาชนฟรี
นอกจากนี้ มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ แบ่งเป็น 2 เวที คือ เวทีกลาง จัดแสดงวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.30-22.00 น. ซึ่งวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “เทิดไท้องค์ราชัน พระมิ่งขวัญ ปวงชนชาวไทย” การแสดงละครนอก ตอน ถวายลูกแก้วหน้าม้า การแสดง “มหานาฏกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ” โดยไทยร่วมกับ 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 การแสดงดนตรี “มหาดุริยางค์ 4 เหล่า” เป็นการแสดงร่วมกันของกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การแสดงดนตรี “สดับคีตศิลป์ทศชาติชาดก” (10 พระชาติชาดก เฉลิมพระเกียรติ) และการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา”
นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดการแสดง“ศิลปะร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน”ภายใต้งานมหรสพสมโภช การแสดงศิลปะร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน เป็นชุดการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบการแสดงประกอบแสง สี เสียง และสื่อผสม สะท้อนแนวคิดการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี 10 รัชกาล มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจ ผ่านการสร้างสรรค์และส่งเสริมงานศิลปะร่วมสมัย แบ่งการแสดงออกเป็น 10
ผอ.สศร. กล่าวต่อว่า สำหรับคอนเซปต์การแสดงทั้ง 10 องค์ นำเสนอความรุ่งเรืองโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมในแต่ละรัชสมัย สะท้อนบทบาทการทำนุบำรุงสืบสานศิลป์แห่งแผ่นดิน ผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้ประเทศไทยดำรงความเป็นชาติที่มีขนบวัฒนธรรมอันแข็งแกร่งมาอย่างยาวนาน จนได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอิทธิพลทางมรดกวัฒนธรรมของโลกประกอบด้วย การแสดงโขน การแสดงงิ้วร่วมสมัย การขับร้องประสานเสียง การแสดง Thai Contemporary เรือง “เงาะป่า”การแสดงเดี่ยวเปียโน บทเพลงมัทนะพาธา การแสดงContemporary Dance การแสดงบัลเล่ต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์เรื่อง “มโนราห์” เป็นต้น จัดแสดงในวันที่ 15 กรกฎาคม เวลา 21.00 – 22.30 น.ในงาน “งานมหรสพสมโภช”ฯ ณ ท้องสนามหลวง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วธ. แถลงข่าวโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 113 โครงการ รวมกว่า 44 ล้านบาท
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานแถลงข่าวโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร
วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท