เร่งหางบอัดฉีด‘คนละครึ่งเฟส5’

ปลัดคลังรับลูกรัฐบาล เร่งหางบอัดฉีดคนละครึ่ง เฟส 5 ยันรอไม่นานได้เห็นความชัดเจน ขอประเมินภาพรวมจัดเก็บรายได้ปีงบ 2565-พ.ร.ก.เงินกู้สู้โควิด หลังเหลือติดปี๊บ 7 หมื่นล้านบาท แทงกั๊กยืดอายุมาตรการลดภาษีดีเซล 3 บาทต่อลิตร ระบุยังมีเวลา พร้อมการันตีมีนโยบายช่วยต่อแน่นอน ชงทางเลือกยืดเวลา-ลดภาษีเพิ่ม

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง โดยคาดว่าไม่นานนี้จะได้เห็นความชัดเจน

 “ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด โดยเฉพาะการจัดการงบประมาณมาอุดหนุนโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องขอประเมินการจัดเก็บรายได้ และดูผลกระทบต่อฐานะการคลังให้ชัดเจนอีกครั้ง” นายกฤษฎากล่าว

ทั้งนี้ การใช้เงินในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะมาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่ 2) กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือ 7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเพียงพอรองรับการดำเนินการ ส่วนที่ว่าจำเป็นต้องมีการกู้เงินมาใช้เพิ่มเติมหรือไม่ ต้องขอประเมินการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในเดือน เม.ย.2565 ที่จะมีความชัดเจนหลังวันที่ 15 พ.ค.นี้ จึงจะเห็นแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ทั้งปี 2565 ถ้าเกินเป้าหมาย ก็ยังมีช่องว่างในการทำนโยบายอยู่

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาทนั้น ขณะนี้ยังเหลือเวลาพิจารณา เนื่องจากมาตรการมีอายุถึงวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งนโยบายช่วยเหลือมีแน่นอน ทั้งการขยายอายุลดภาษีดีเซลออกไป หรือจะมีการลดภาษีเพิ่มเติม ส่วนจะเลือกใช้แนวทางใดบ้าง ต้องขอพิจารณาอีกครั้ง ให้รอดู ซึ่งการลดภาษีดีเซลอีกสามารถทำได้ และยืนยันว่าไม่กระทบกับฐานะการคลังทั้งปี

สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่จะหมดอายุในวันที่ 20 พ.ค. นี้ ครม.ได้อนุมัติลดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลทุกรายการลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนเสนอให้ขยายเวลาลดภาษีดังกล่าวออกไปอีก 3 เดือน

นายกฤษฎากล่าวว่า สำหรับมาตรการแก้หนี้บัตรเครดิต ที่ผ่านมาได้หารือไปหลายรอบ ทั้งการแก้หนี้ประชาชน รวมถึงแก้หนี้บัตรเครดิต ที่ขอความร่วมมือภาคเอกชน รวมทั้งในส่วนของธนาคารออมสินก็ได้ดำเนินการไปหลายเรื่อง ทั้งการลดหนี้บัตรเครดิต ลดดอกเบี้ย รวมทั้งการลดดอกเบี้ยเช่าซื้อ

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องบูรณาการความร่วมมือในการช่วยกันแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของคนไทย โดยมีมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า คนรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น วิธีการเสริมรายได้ให้คนไทย เป็นต้น เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่รายได้ไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และระหว่างนี้ต้องทำมาตรการปัจจุบันให้เกิดประสิทธิผล และเกิดเป็นรูปธรรม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้และการรวมหนี้  เป็นต้น

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนมี 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเงินกับประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ก่อนกู้ยืมหรือลงทุน เริ่มต้นจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษา 2.สถาบันการเงินต้องมีความรับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อ และต้องดูเรื่องความสามารถชำระหนี้ และต้องดูว่าหลังจากกู้แล้วมีเงินเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ แม้หากชำระหนี้ได้แต่เหลือเงินใช้น้อย ก็จะไม่ทำให้การแก้หนี้เกิดความยั่งยืน โดยไม่ได้กำหนดว่าหนี้ต่อรายได้หรือดีเอสอาร์จะต้องอยู่ที่เท่าไร แต่ ธปท.ได้ให้คำนิยามเดียวกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนด

3.หน่วยงานกำกับอย่าง ธปท. ต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้ทางการเงินและกำหนดนโยบายต่างๆ แก่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ 4.เมื่อเกิดปัญหาและต้องแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. และสถาบันการเงินได้ร่วมกันแก้ไขออกมาตรการ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากเดิมที่มาการพักหนี้ซึ่งเป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดมาตรการพักหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ต้องกลับมาชำระหนี้เหมือนเดิม และจะมีกระบวนการไกล่เกลี่ย เจรจาลูกหนี้ก่อนที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

5.ธปท.อยากเห็นการรวมศูนย์ข้อมูลลูกหนี้ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ เช่น เครดิตบูโรแล้วก็ตาม และทุกวันนี้ข้อมูลลูกหนี้ยังกระจาย และล่าช้าในเรื่องการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหากมีข้อมูลลูกหนี้ที่รวมศูนย์จะทำให้สถาบันการเงินเห็นข้อมูลได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อการปล่อยกู้แก่ลูกหนี้ เช่น คนไม่มีรายได้ประจำ อย่างการใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ แต่ต้องดูเรื่องกฎระเบียบ การยินยอม และข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย โดยขณะนี้มีหลายทางเลือกอาจเป็นการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ หรือใช้หน่วยงานเดิมก็ได้แล้วแต่อุปสรรคของกฎหมาย

 “เรื่องหนี้เสียที่ผ่านมาไม่ได้เพิ่มมากขึ้น จากการปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรการต่างๆ และหลังจากนี้หนี้เสียจะไม่ได้ขึ้นมาก แต่จะเป็นทยอยปรับเพิ่ม มั่นใจสถาบันการเงินสามารถจัดการได้ ส่วนการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเจวีเอเอ็มซี เริ่มทยอยเข้ามาหวังในปีนี้จะเกิดขึ้นได้” นายรณดลกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง