"วันนอร์" เลื่อนประชุมร่วมรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญไปกลางเดือน ต.ค. รอพรรคการเมืองเสนอเพิ่มเติมพิจารณารวดเดียว "ภูมิธรรม" เล็งนัดพรรคร่วม รบ.ถกแก้รายมาตราสัปดาห์หน้า ชี้อยากให้การเมืองมีเสถียรภาพ “ชูศักดิ์” แจงริบอำนาจศาล รธน. ตีกรอบปมจริยธรรมไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ยันเดินสายกลางเพื่อความยุติธรรม ปัดเสนอนามพรรคไม่เกี่ยวอุ้ม "นายกฯ อิ๊งค์" "ปธ.สภาฯ" รอได้ผู้นำฝ่ายค้าน ถก กก.จริยธรรม "ลุงป้อม" ขาดประชุมทันที ลั่นหาก สส.ขาดลาไม่มีเหตุผลชงพ้นจากสมาชิกภาพได้ "เรืองไกร" ร้องสอบ สส.ราชบุรีพรรค พปชร. "อ้วน" ขอก้าวข้ามรัฐประหาร 49 ระบุให้อยู่กับปัจจุบัน "ปชน." เย้ยคู่ขัดแย้งข้ามขั้วจูบปากทุกอย่างจบ
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ย.นี้ว่า เดิมได้กำหนดเช่นนั้น แต่พรรคการเมืองบางพรรคจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพิ่มเติมจากเดิมที่เสนอมา และได้บรรจุในระเบียบวาระไปแล้ว จึงเห็นว่าจะรอพิจารณาพร้อมกัน ดังนั้นอาจจะต้องมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในช่วงกลางเดือน ต.ค. เพราะอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาจบในเวลาแรกในสมัยประชุมนี้ เพื่อที่คณะกรรมาธิการฯ จะได้ทำงานในช่วงปิดสมัยประชุมได้
"ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ คงไม่ทันพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากพิจารณา 3 ฉบับที่ยื่นมา และบรรจุในระเบียบวาระแล้ว และมีการยื่นเสนอเพิ่มมาอีก 2 ฉบับ ก็ต้องมีการพิจารณาอีกรอบ ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน อีกทั้งพรรคการเมืองให้ข่าวมาแล้วว่าจะส่งร่างมาโดยเร็ว ก็ขอให้รออีกนิด จะได้พิจารณา ทั้งของรัฐบาลและฝ่ายค้าน คาดว่าไม่เกินกลางเดือน ต.ค.นี้จะสามารถพิจารณาได้" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่า การเสนอร่างแก้ไข รธน.ของพรรคเพื่อไทย คาดว่าจะมีการเสนอในวันที่ 20 ก.ย.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากวันนี้มีการลงชื่อกันอยู่ ซึ่งเนื้อหาไม่ได้เหมือนกันทุกพรรค แต่เป็นความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย ที่ต้องเจรจากัน ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เรื่องใหญ่คือการแก้ร่วมกันรายมาตรา ไม่มีปัญหาอะไร
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า การนัดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราได้มีการพูดคุยกันไม่เป็นทางการบ้างแล้ว แต่บางครั้งรู้สึกว่ามีกฎระเบียบหรือวิธีปฏิบัติที่บั่นทอนการทำงานหรือการจัดการต่างๆ ก็อยากให้การเมืองมีเสถียรภาพ และต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
"หลายเรื่องเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ ถ้าดูผิวเผินเหมือนจะเป็นการลดทอนอำนาจขององค์กรตรวจสอบ แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือประเด็นและข้อกฎหมายหลายเรื่องมันค้านสายตาประชาชน ซึ่งบางกรณีเป็นนามธรรมมาก และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน ซึ่งดุลพินิจมันยากที่จะบอกว่ามาตรฐานการปฏิบัติแบบไหนเป็นสิ่งที่ควรทำ ถึงแม้เราจะเห็นแตกต่าง แต่ต้องปฏิบัติ เพราะเป็นกฎหมาย ฉะนั้นสิ่งที่จะทำควรทำให้ชัดเจนขึ้น" นายภูมิธรรมกล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป ซึ่งกฎหมายบางฉบับหรือรัฐธรรมนูญบางข้ออาจเกิดมาในสถานการณ์ที่ต้องการแก้ปัญหาบางอย่าง แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านไปก็ว่าน่าจะแก้ได้ แต่เป็นเรื่องของสภา ทั้ง สส.และ สว. เพราะฉะนั้นควรเป็นประเด็นร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล โดยจะมีการหารือกันว่ามีประเด็นไหนบ้างที่คิดว่าร่วมกันเพื่อนำเสนอในการแก้ปัญหา
พรรคร่วม รบ.นัดถกแก้ รธน.
"สัปดาห์หน้าจะเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาปรึกษาหารือ ส่วนตอนนี้ให้ไปรับฟังสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่มีปัญหา และมาเขียนเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดคือการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งสามารถแก้ได้เลย แต่ต้องเข้ากระบวนการทั้งหมดที่กำหนดไว้ และเรื่องนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งที่ผมเคยเป็นประธานตรงนั้นก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนที่จะแก้กฎหมายประชามติ เพื่อทำให้ประชามติสะท้อนความเป็นจริงให้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้จะแก้คู่ขนานกันไป" รองนายกฯ กล่าว
ถามว่า สส.พรรคเพื่อไทยจะเน้นไปเรื่องของจริยธรรมไม่ให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 60 นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องหารือกับ 6 พรรคร่วม คิดว่าประเด็นไหนมีปัญหาจะครอบคลุมหรือแก้ไขยึดโยงไปถึงระยะเวลาอย่างไร ตอนนี้ไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นเจตนารมณ์และความต้องการของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะเห็นเหมือนหรือต่างกันได้ แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคเห็นพ้องต้องกัน รวมไปถึง สส.และ สว.เห็นตรงกันประเด็นนี้ก็จะง่าย เพราะฉะนั้นจะต้องมาดูว่าสิ่งที่ 6 พรรคการเมืองคิด พรรคฝ่ายค้านคิด สภาผู้แทนราษฎรคิด วุฒิสภาคิด ย่อมมีหนทางข้อเสนอร่วมกันได้อย่างไร
ส่วนนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับพรรคเพื่อไทย 6 ประเด็นว่า ในส่วนของมาตรฐานจริยธรรม เรายังไม่มีจุดเริ่มว่าจะนับตรงไหน แต่มีความคิดว่าจะเริ่มตั้งแต่ศาลฎีการับฟ้องคดีจริยธรรมเป็นต้น ถึงจะเข้าข่ายขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรงห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยกระบวนการจริยธรรมจะต้องมีการไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน ซึ่งจะต้องมีมูล และร้องไปที่ศาลฎีกา เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีหลักฐานพอสมควรว่าฝ่าฝืนจริยธรรม แตกต่างจากเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ที่จะใช้เกณฑ์ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ เนื่องจากเป็นการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนการแก้มติศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการตัดสินความสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น สส., สว. และรัฐมนตรี จากเดิมที่ใช้เสียงข้างมาก มาใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่นั้น หากคดีดังกล่าวมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน ก็ต้องมี 6 เสียงที่สั่งให้พ้นหน้าที่ จึงจะมีผลทำให้หลุดจากตำแหน่ง โดยหลักคิดของเราการที่จะเอาคนออกจากตำแหน่งควรจะต้องใช้เสียงพอสมควร เพราะถึงขั้นเอาคนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและ สส. จึงควรเป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานพอสมควร
"ผมคิดว่าถือเป็นการสร้างความชอบธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะไปว่ากันตรงนั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา" นายชูศักดิ์กล่าว
ถามว่า รัฐมนตรีที่เคยติดคุกแต่ตัดทิ้งเพราะอะไร อย่างกรณีที่ศาลชั้นต้นตัดสินคดียังไม่ถึงที่สุด แต่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ มีแนวคิดอย่างไร รองหัวหน้าพรรค พท.ฝ่ายกฎหมายกล่าวว่า คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของคุณสมบัติ และเหตุของการพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมากกว่า เพราะเหตุที่เขาเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ความจริงแล้วยังไม่เคยถูกจำคุก หรือบางคนก็ถูกศาลสั่งให้รอลงอาญา ซึ่งคนเหล่านี้ยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่หากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว และมีเหตุนั้นเกิดขึ้นหรือคดีถึงที่สุด เป็นความชอบธรรมมากกว่า จึงได้เขียนไปเหตุสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี
ปัดอุ้มอิ๊งค์หลังแก้นามพรรค
ซักว่า การแก้ไข รธน.จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้วันไหน หลังประธานรัฐสภาระบุวันที่ 25 ก.ย.นี้ไม่สามารถพิจารณาได้ทัน นายชูศักดิ์กล่าวว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยมีการเสนอแล้วในวันนี้ (19 ก.ย.) ส่วนที่กำหนดไว้วันที่ 25 ก.ย. เป็นเพียงตุ๊กตา ซึ่งสามารถบวกลบวันที่จะพิจารณาได้ โดยหลักการคือพิจารณาไปพร้อมกันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งจะพิจารณาในรัฐสภา 3 วาระ และก่อนทูลเกล้าฯ ถวายจะต้องมีการทำประชามติสอบถามประชาชน ซึ่งคาดว่าจะทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับช่วงเดือน ม.ค.68
เมื่อถามว่า มีคนมองว่าทำไมพรรคเพื่อไทยเลือกแต่เพียงแก้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แตะการแก้อำนาจของ ป.ป.ช.อย่างที่พรรคประชาชนเสนอ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ความจริง ป.ป.ช.เราก็มีร่างแก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช.เหมือนกัน ซึ่งมีการแก้ไขหลายเรื่อง
ซักว่า กรณีที่พรรคการเมืองดำเนินการเองโดยที่ไม่เป็นร่างของรัฐบาล เป็นการป้องกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เราเห็นว่าเรื่องนี้ร่างของรัฐบาลก็มีภาระหน้าที่อยู่แล้วในการที่มีเรื่องของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ต้องทำอยู่ ถ้ารัฐบาลนำเรื่องนี้ไปทำอีก มันก็อีหลักอีเหลื่อ เราจึงคิดว่าขณะนี้ สส.ทำอยู่แล้วก็ให้ สส.ในพรรคการเมืองทำกันไป ก็แยกหน้าที่กัน เพราะการที่รัฐบาลทำทั้งฉบับอยู่แล้ว จะเสนอให้ทำเป็นรายมาตราอีก มันก็ดูยังไงอยู่ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่
ถามว่า เสียงในสภาไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นการทำประชามติจะมีอุปสรรคอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะการทำประชามติ เหมือนกับว่านักการเมืองจะได้ประโยชน์อย่างเดียวและประชาชนไม่ได้อะไร จะทำให้ถูกคว่ำประชามติ เพราะอาจทำให้ถูกร้องว่าผลประโยชน์ขัดกันนั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่า อย่าไปพูดว่าประชาชนไม่ได้อะไร เรามองว่าทำกฎหมายให้ชัดเจน ให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งเราระมัดระวังจุดนี้ ต้องทำให้เกิดความยุติธรรมในระบบ มองอย่างนั้นจะดีกว่าสบายใจกว่า ส่วนของประชาชน รอทั้งฉบับเลย เพราะรัฐบาลเขาก็ใช้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
พอถามว่า ในชั้นประชามติจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ เพราะได้แก้ไขกฎหมายโดยใช้เสียงข้างมากปกติแล้ว จากเดิมต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เมื่อถามอีกว่าในประเด็นเรื่องการถูกมองผลประโยชน์ทับซ้อน นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไร มันไม่ได้ทับซ้อนอะไร ทุกอย่างยังเดินสายกลาง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เพียงแต่จะทำให้เกิดความชัดเจน หลักเกณฑ์ชัดขึ้น ซึ่งคิดว่าสังคมจะเป็นธรรมมากขึ้นมากกว่า และคาดว่าเดือน ม.ค.ปีหน้าก็น่าจะเสร็จสิ้น
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมและการแก้ไขอำนาจขององค์กรอิสระว่า สส.หรือฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนมีบทบาทน้อย เพราะถูกตรวจสอบเยอะ จึงคิดว่าองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากเกินไปควรจะอยู่ในจุดสมดุล แม้ว่าองค์กรอิสระมีไว้เพื่อถ่วงดุล แต่ควรอยู่ในกรอบ ที่มีความชัดเจน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองง่ายๆ ส่วนการตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันหรือการกระทำผิดในส่วนนี้ตนเห็นด้วย
'วันนอร์' เล็งสอบจริยธรรมป้อม
ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีผู้มายื่นขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งขาดประชุมสภาว่า ยังไม่เห็นเนื้อหาที่มายื่น แต่คิดว่าเจ้าหน้าที่รับไว้แล้ว ซึ่งคงจะดำเนินการตามขั้นตอนแล้วส่งมาถึงตน ถ้าเขายื่นเรื่องสอบจริยธรรมทางสภาก็จะพิจารณาว่าเนื้อหาตรงกับที่ยื่นหรือไม่ หากตรงกันก็จะส่งให้กรรมการจริยธรรมของสภา ซึ่งประกอบไปด้วยประธานสภาฯ ผู้นำฝ่ายค้าน ตัวแทน สส.ของทุกพรรคการเมือง และอดีต สส. เพื่อพิจารณา และคงจะมีการนัดประชุมต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการจริยธรรมมีเรื่องต้องพิจารณาหลายเรื่อง
ถามว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้านฯ จะสามารถประชุมกรรมการจริยธรรมได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า คณะกรรมการจริยธรรมจะได้ประชุมเร็วๆ นี้ เนื่องจากคณะกรรมการฯ ต้องมีองค์ประกอบครบ ซึ่งต้องมีผู้นำฝ่ายค้านฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกอย่างพร้อมแล้ว เพียงเจ้าหน้าที่เสนอมาว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ พร้อมก็เริ่มประชุมได้
ซักว่า พล.อ.ประวิตรมีใบลาประชุมสภาหรือไม่ หรือขาดประชุมไปเฉยๆ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องดูว่าสมัยประชุมที่แล้วหรือสมัยประชุมนี้ พล.อ.ประวิตรได้มาประชุมกี่ครั้ง และมีใบลาครบตามข้อบังคับหรือไม่ เนื่องจากเราต้องพิจารณาตามข้อบังคับ
"ประชาชนสามารถตรวจสอบการเข้าประชุมได้ เพราะมีการเซ็นชื่อทุกครั้งที่มีการประชุม แม้แต่ประธานและรองประธานสภาฯ ก็ต้องเซ็นชื่อเพื่อแสดงตนว่ามาประชุม แต่กรณีของ พล.อ.ประวิตร หากมีเรื่องใบลาจะไม่มาถึงผม ส่วนมากการส่งใบลาจะอยู่ในขั้นของเจ้าหน้าที่ โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะดู ถ้ามีการลาเกินก็จะรายงานมา เพราะแต่ละสัปดาห์ สส.ไม่ได้ลาคนเดียว โดยเลขาธิการสภาฯ จะเป็นผู้รับใบลาแล้วรายงานขึ้นมา ซึ่งผมไม่ทราบว่าข้อบังคับการประชุมระบุไว้ว่าถ้าขาดประชุมเกินกี่ครั้ง แต่เขาเขียนไว้ว่าขาดโดยไม่ลาหรือลาโดยไม่มีเหตุผลพอ ก็ต้องเสนอให้พ้นจากสมาชิกภาพได้ แต่ขึ้นอยู่กับใบลาและเหตุผล ซึ่งบางคนป่วยไม่สามารถมาประชุมได้ตลอดระยะเวลาสมัยประชุมนั้นก็มี" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากที่ตนมาประชุมไม่เคยเห็น พล.อ.ประวิตร และไม่ทราบว่ามีการลงชื่อเข้าร่วมการประชุมด้วยหรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้ลงชื่อเข้าร่วมการประชุมก็ไม่สมควรได้เป็น สส. เพราะประชาชนจ่ายเงินภาษี
ถามว่า อยากฝากอะไรถึง พล.อ.ประวิตรหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ให้เขาพิจารณาตัวเอง หากไม่มีเวลามาประชุม ก็ให้ลาออกไปเถอะ ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ตนไม่ได้เอ่ยชื่อใคร ใครก็ต้องรู้ตัวเองก็แล้วกัน
นายวรชัย เหมะ อดีต สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ออกมาเตือนนักร้องที่เข้าแถวยื่นหนังสือร้องเรียน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งประเด็นการเมืองและประเด็นส่วนตัวว่า หากการยื่นตรวจสอบร้องเรียนนั้นมีข้อมูลอันเป็นเท็จ และปราศจากความจริง ก็อย่าลืมว่าท่านก็มีความผิด เพราะสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของผู้ที่ท่านร้องเรียน แม้ผู้นั้นเป็นบุคคลสาธารณะ ก็ย่อมต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นกัน ท่านอาจได้รับโทษจำและปรับต่างกรรมต่างวาระไป
“ที่ผ่านมาประเทศไทยเจริญช้าก็เพราะมีพวกชอบกระตุกขา เวลานี้ควรเห็นแก่ประชาชนที่กำลังลำบากในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ภัยพิบัติซ้ำเติม จึงควรจะปล่อยให้รัฐบาลทำงานไปก่อน หากทำงานผ่านไป 6 เดือนหรือ 1 ปีก็คงไม่ช้าไป ค่อยออกงานหาถ่านใส่ไมค์มาร้องก็ได้" นายวรชัยกล่าว
ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) เพื่อขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ในฐานะ สส.ราชบุรี พรรค พปชร. ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลคดีทุจริตระบายมันฯ จีทูจี ซึ่งมีนางบุญยิ่งเกี่ยวข้องด้วย
'อ้วน' ขอลืมอดีต 18 ปีรัฐประหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ลุกหารือ โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.แพทองธารรีบลบล้างมรดกของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากประชาชน ในวันที่ 19 ก.ย.49 เมื่อ 18 ปีที่แล้ว เป็นมรดกที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศมาจนถึงปัจจุบัน 3 เรื่อง คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการกลาโหม 2551 ที่ทำให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน 2.พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 ที่ได้ฟื้นคืนชีพกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) 3.การแก้ไขมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจนำไปสู่การปกครององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่ตอบคำถามถึงกรณีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทำรัฐประหาร พ.ศ..… เนื่องจากวันนี้เป็นวันครบรอบ 18 ปี 19 กันยายน 2549 โดยนายกฯ ไม่ได้หันมาฟังคำถาม และเดินขึ้นไปยังตึกไทยคู่ฟ้าในทันที
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีวันนี้ครบรอบรัฐประหาร 49 ว่า คิดว่าทุกคนอยู่กับปัจจุบันและอนาคตไม่ได้อยู่กับอดีต ถ้าเรามัวแต่ไปยุ่งกับอดีตมาก เราจะทำงานไปข้างหน้ายาก อดีตให้เป็นบทเรียน ไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบก็ไปเรียนรู้มัน แต่ปัจจุบันสำคัญที่สุด
ที่พรรคเพื่อไทย นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงว่า วันนี้เมื่อ 18 ปีที่แล้ว คณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ภายใต้อำนาจเผด็จการสิ่งที่เราสูญเสียไปคือโอกาสของประเทศ ประชาชนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การรัฐประหาร คืออาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ เป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตย ผลักประเทศให้เดินถอยหลังไปเกือบ 2 ทศวรรษ เราปฏิเสธการรัฐประหาร และรัฐประหารต้องไม่เกิดขึ้นอีก
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำคนเสื้อแดง โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งระบุว่า น่าแปลกใจผู้ที่กระตือรือร้นผลักดันในเรื่องนี้ กลับไม่ใช่พรรคสีแดง และผู้ผลักดันมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการที่เอาจริงเอาจังกับการไต่สวนการตายของวีรชนเสื้อแดงทุกราย และเอาจริงเอาจังกับการแก้ กม.ให้ทหารที่ฆ่าพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือนประชาชนทุกท่านก็ต้องจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจนตามหลักของ กม.
เพจเฟซบุ๊กพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์รำลึก 18 ปี รัฐประหาร 2549 ตอนหนึ่งระบุว่า ผ่านไป 18 ปี หลังรัฐประหาร เกือบ 2 ทศวรรษ ใครจะไปเชื่อสังคมไทยจะถูกนำกลับมาสู่จุดเดิม คู่ขัดแย้งทั้งหมดที่เคยนำพาประชาชนลงถนนต่อสู้กันเกือบ 2 ทศวรรษ บัดนี้พวกเขากลับมาสู่จุดที่สมานฉันท์ชื่นมื่น ก้าวข้ามประชาชนที่เคยร่วมต่อสู้ ในแง่นี้ 19 ก.ย.2549 จึงเป็นรัฐประหารที่เสียของโดยสิ้นเชิง เราไม่รู้ว่าเครือข่ายผู้รัฐประหารกับเครือข่ายผู้เคยถูกรัฐประหาร จะข้ามขั้วอยู่กันได้ยืดยาวแค่ไหน ท่ามกลางการต่อรองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่เกิดขึ้นตลอดเวลา พวกเราประชาชนยิ่งต้องยืนยันว่าต้องการอนาคตแบบใหม่
"พรรคประชาชนเห็นว่ามี 4 วาระที่รัฐบาลต้องเร่งปฏิรูป ไม่ถูกฉุดรั้งจากมรดกรัฐประหาร หรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการผ่านกฎหมาย โดย สนช. วาระ 1 ปฏิรูปกองทัพ 2.ทบทวนบทบา ท กอ.รมน. 3.กระจายอำนาจ และ 4.วาระป้องกันรัฐประหาร" เฟซบุ๊กพรรคประชาชนระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยื่นสอบอิ๊งค์แทรกแซงสื่อ เรืองไกรขู่มีอีกหลายเรื่อง
จองเวรเพิ่ม "เรืองไกร" ร้อง กกต.สอบ "นายกฯ อิ๊งค์" แทรกแซงสื่อ งัดข่าว-คลิปฉุนสื่อไม่ให้ถามยุแยง
51ปี14ตุลาย้ำปรองดอง ถกรายงานนิรโทษ17ตค.
รำลึก 14 ตุลา ครบ 51 ปี รัฐบาลย้ำส่งเสริมประชาธิปไตยเคารพความเห็นต่าง
เหยื่อดิไอคอนอื้อ‘พอล’รับโดนไถ
"บก.ปคบ." เผยยอดเหยื่อ “ดิไอคอนกรุ๊ป" พุ่งกว่าพันคน มูลค่าความเสียหาย 378 ล้านบาท
ฟัน‘พิศาล’เซ่นตากใบ จับตาเพื่อไทยขับพ้นพรรค จี้รบ.บี้ตร.ออก‘หมายแดง’
จับตาที่ประชุม "กก.บห.เพื่อไทย" ขับ "พิศาล" พ้นพรรคหรือไม่
แจ้งเตือน9จว.ใต้ เฝ้าระวังดินสไลด์ ‘ธ.SME’ซับน้ำตา
ศปช.แจ้งเตือนภาคใต้ 9 จว.เฝ้าระวังดินสไลด์หลังฝนเคลื่อนลงใต้
พท.หวังเข็น‘ประชามติ’ โทษสภาสูงเตะถ่วงกม.
"สรวงศ์" หวังเข็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติให้ทันพ่วงเลือก สจ. พร้อมยกร่าง