ขอ1ด.สางสายสีเขียว

"ชัชชาติ" ปั่นจักรยานสำรวจชุมชนแออัดย่านทองหล่อ ลุยโครงการบ้านมั่นคงช่วยคนรายได้น้อย   ลั่นสบายๆ โดน กกต.สอบ มั่นใจฝ่ายกฎหมายแจงหมดแล้ว ขอ 1 เดือน ดูสัญญารถไฟสายสีเขียว ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย “ดร.ยุ้ย” นั่งกุนซือยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนกว่า 200 นโยบาย "ศรีสุวรรณ" แจ้งจับว่าที่ผู้ว่าฯ ไม่เก็บป้ายหาเสียง ร้อง กกต.แจกใบเหลือง

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจของนายชัชชาติ ลงพื้นที่เขตวัฒนาร่วมกับ นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  นายสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา และนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ว่าที่ ส.ก.เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล เพื่อสำรวจชุมชนหลังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ (สน.ทองหล่อ), ชุมชนริมคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช พร้อมเยี่ยมหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยนายชัชชาติเดินทางจากบ้านพักส่วนตัวด้วยการปั่นจักรยาน ภายหลังเสร็จภารกิจวิ่งออกกำลังกายกับนักวิ่งเพื่อนชัชชาติที่สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ เมื่อช่วงเช้าตรู่ที่ผ่านมา

 นายชัชชาติกล่าวว่า ทองหล่อเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดในพื้นที่จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ,  ชุมชนคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช มีประชากรประมาณ 400 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ตั้งที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยมาเยี่ยมในช่วงโควิดระบาด ทราบว่าผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ทำงานในย่านทองหล่อ-เอกมัย และจำเป็นต้องอาศัยใกล้แหล่งงาน ถือเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง เช่น ประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน คนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถมีบทบาทด้านการประสานงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมระบบการออมเงินในชุมชน ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงย้ายที่อยู่อาศัยใหม่

  จากนั้นคณะของนายชัชชาติได้เยี่ยมชมหน่วยบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมระบุว่า การให้บริการสาธารณสุขของ กทม. มีความซับซ้อน แบ่งเป็นระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ หน้าที่สำคัญที่สุดของ กทม. คือการให้บริการระดับปฐมภูมิ ซึ่งถือเป็นด่านแรกในการเผชิญปัญหา ปกติด่านแรกที่ให้บริการคือศูนย์บริการสาธารณสุข ปัจจุบันมีจำนวน 69 แห่งทั่ว กทม. ซึ่งยังพบปัญหาการกระจายศูนย์ไม่ทั่วถึง ห่างไกลบ้านเรือนชุมชน ตลอดจนจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีนโยบายให้บริการหน่วยสาธารณสุขถึงชุมชน โดยร่วมมือกับภาคเอกชน และ สปสช. นอกจากนี้ยังมีแนวคิดใช้เทคโนโลยี “เทเลเมด” รถตรวจสุขภาพเชิงรุกถึงชุมชน เพื่อลดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดจนเพิ่มจำนวนและส่งเสริมความเข้มแข็งของเรื่องอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในพื้นที่ กทม.อีกด้วย นี่คือตัวอย่างการบริหารจัดการสาธารณสุขให้เข้มแข็งในระดับเส้นเลือดฝอย จะเป็นด่านหน้าที่ปะทะ ไม่ต้องให้คนไปป่วยโรงพยาบาลใหญ่ ช่วยลดคิวและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น

ขอ 1 เดือนดูสัญญา BTS

นายชัชชาติให้สัมภาษณ์ถึงการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมเตรียมตรวจสอบกรณีที่มีผู้ไปร้องเรียนกรณีกระเป๋าผ้าและเรื่องด้อยค่าระบบข้าราชการใน กทม.ว่า เคารพใน กกต. รอให้ตัดสินออกมา ไม่มีความกังวล ซึ่งฝ่ายกฎหมายได้ชี้แจงไปหมดแล้ว ไม่มีอะไร สบายๆ

"ส่วนที่ถามกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังไม่ได้เข้าไปดูในสัญญา คงต้องรอให้ทาง กกต.รับรองการเป็นผู้ว่าฯ กทม.ก่อน ไม่น่าเป็นห่วง เราเพียงจะเข้าไปดูในสิ่งที่คนอื่นทำมาแล้ว ไม่ได้ไปทำอะไรใหม่ เพียงแต่จะไปดูสัญญาเก่าเป็นอย่างไร รับหนี้มาอย่างไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร ต่อสัญญาอีก 40 ปีเป็นอย่างไร เบื้องต้นวางกรอบว่าจะใช้เวลาดูเอกสารทั้งหมด​ 1 เดือน ทุกอย่างไม่มีความรู้สึกหรือนำอารมณ์มาเกี่ยวข้อง จะดูไปตามเอกสาร ไปดูสิ่งที่คนอื่นทำมาเป็นอย่างไร จะดูตามเอกสาร เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้ความยุติธรรมกับทุกคน เรื่องต่อสัญญา เรื่องราคาค่าโดยสาร อยากให้มีความโปร่งใส มีการแข่งขัน มีคนมาช่วยดู ไม่ใช่ทำไม่กี่คน ไม่มีการแข่งขัน จึงบอกไม่ได้ว่าราคาที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่ ถ้ามีการแข่งขันก็จะชัดเจนขึ้น เพราะมีคนข้างนอกมาช่วยดู เป็นหลักง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นหลักการประมูลทั่วไปตามหลักการทำงานราชการ" นายชัชชาติระบุ

เมื่อถามว่า ข้อกังวลภาระหนี้ที่ กทม. ติดหนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส 4 หมื่นล้านบาท จะมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า หลังปี 2572 รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะอยู่ในความดูแลของ กทม.ทั้งหมด เงินทุกบาททุกสตางค์เป็นของ กทม. เราพอมีเงินในอนาคต ต้องไปดูให้ดี ต้องไปดูหนี้ที่เกิดขึ้นเท่าไหร่ ควรจะรับเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าไม่มีรายได้เข้ามา เป็นหนี้ที่อาจจะต้องเอารายได้ในอนาคตมาดู น.ส.เกษราจะมาช่วยดูในเรื่องนี้ด้วย ต้องไปดูว่าจะจ่ายอย่างไร ปัญหาคือการจ่ายต้องผ่านสภา กทม.ผ่านขั้นตอน เท่าที่เข้าใจมีการอนุมัติเดินรถไป ไม่ได้ผ่านสภา กทม. พอไปขอเงิน เขาเลยไม่จ่าย เหมือนไปจ้างก่อนขออนุมัติ เรื่องของเราเป็นการดูในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วมาเล่าให้ฟัง ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อมาแก้ปัญหา บีทีเอสทั้งหมดเราไม่ได้เป็นคนทำ เป็นเรื่องในอดีตเป็นสิบปี หลายผู้ว่าฯ ต้องมาดูเรื่องเป็นอย่างไร ให้เข้าใจตรงกัน แล้วมาหาทางแก้ เราไม่ได้ไปยุ่งอะไร แต่เป็นคนเข้าไปดู ขอไปดูข้อมูลก่อน 

ด้าน ผศ.ดร.เกษราเปิดเผยว่า แม้ขณะนี้จะอยู่ในขั้นตอนรอการรับรองจาก กกต. อย่างเป็นทางการ ซึ่งนายชัชชาติได้มีการวางโครงสร้างการบริหารในการร่วมทีมของคณะทำงานในการบริหาร กทม.เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อให้คณะทำงานจะได้ดำเนินงานในแต่ละส่วนทันที โดยจะรับหน้าที่ร่วมทีมที่ปรึกษายุทธศาสตร์ หรือ Chief Strategist ผลักดันกว่า 200 นโยบายที่ได้ให้กับประชาชนไว้ให้เป็นผลสำเร็จ คู่ขนานไปพร้อมกับการบริหารจัดการด้านงบประมาณ เน้นการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของการบริหารงานเพื่อส่วนรวมที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่คนกรุงเทพฯ จะได้รับในทุกมิติ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แจ้งจับชัชชาติไม่เก็บป้าย

ที่ สน.ลำผักชี เมื่อเวลา 13.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษว่าที่ผู้ว่าฯ  กทม. และผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งผู้สมัคร ส.ก.เขตหนองจอก ซึ่งไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียงของตนเองออกจากพื้นที่สาธารณะตามที่ กกต.กำหนดภายใน 3 วันหลังจากเลือกตั้ง อันถือได้ว่ามีความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา กกต.กทม.ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และผู้สมัคร ส.ก.ทุกคนให้ดำเนินการเก็บป้ายหาเสียงของตัวเองออกจากพื้นที่สาธารณะทุกจุดภายใน 3 วัน แต่ปรากฏว่าในบริเวณพื้นที่ริมถนนสุวินทวงศ์ เขตหนองจอก ยังปรากฏว่ามีป้ายหาเสียงของนายชัชชาติและผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อื่นๆ อีกหลายคน อาทิ ป้ายของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ น.ต.ศิธา ทิวารี นอกจากนั้นยังมีป้ายของผู้สมัคร ส.ก.เขตหนองจอกและเขตมีนบุรีด้วย การกระทำดังกล่าวของผู้สมัครทั้งหมดจึงมีความผิดตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ซึ่งเป็นโทษทางอาญา นอกจากนั้นยังเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สมาคมจึงนำพยานหลักฐานมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้สมัครทั้งหมดต่อ สน.ลำผักชี ตามด้วย สน.สุวินทวงศ์และ สน.มีนบุรีด้วย โดยวันจันทร์ที่ 30 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. จะนำความนี้ไปร้องต่อ กกต. ซึ่งอาจนำไปสู่การให้ใบเหลืองผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งอีกด้วย

นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่องกระเป๋าป้ายหาเสียงของนายชัชชาติว่า นายศรีสุวรรณมีสิทธิที่จะร้องในเรื่องที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ชัชชาติทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 ข้อความว่า “ทีมงานเพื่อนชัชชาติ ไม่อยากให้ป้ายไวนิลหาเสียงกลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง เราจึงมีแผนนำกลับมาหมุนเวียน (Recycle) โดยตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือผ้ากันเปื้อนไว้ใช้ต่อกันเองในทีม ป้ายใหม่ที่กำลังติดตั้งเพิ่มจะมีลาย Pattern ตัดเย็บให้เห็นรางๆ ลองตามหากันดูนะครับ”  ซึ่งคำว่าป้ายใหม่ที่กำลังติดตั้งเพิ่มจะมีลาย Pattern ตัดเย็บให้เห็นรางๆ ลองตามหากันดู เป็นการชี้ชวนหรือไม่ กกต.จะต้องพิจารณา เพราะหลังเลือกตั้งจะเห็นภาพคนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งเก็บป้ายหาเสียงนายชัชชาติไปทำกระเป๋ากันอย่างคึกคักเลยทีเดียว

ส่วนที่มีการแสดงความคิดเห็นว่านายชัชชาติได้คะแนนเสียงจากคนกรุงเทพฯมากกว่า 1.3 ล้านเสียง จะไปหาเรื่องเขาทำไม อันนี้ยิ่งไม่ถูกใหญ่ คะแนนเสียงคือความนิยม ซึ่งต้องแยกจากพฤติกรรม หากมีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะมีคะแนนนิยมมากเท่าไหร่ ก็มิอาจลบล้างความผิดนั้นได้ และองค์กรที่มีหน้าที่ชี้ถูกผิด ต้องไม่หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้ แต่ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ขอยกตัวอย่างที่น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นคือ ในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี หอบเอาคะแนนเสียงกว่า 11 ล้านคะแนนทั่วประเทศมาด้วย ซึ่งในขณะนั้นมีคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ คือกรณีซุกหุ้นอันลือลั่น พร้อมวลี “บกพร่องโดยสุจริต” มีการนำคะแนนนิยมที่ได้มาสร้างกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายนายทักษิณรอดพ้นคดีด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2544 โดยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนใช้เรื่องคะแนนนิยมดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการตัดสินคดีด้วย ดังนั้นคำวินิจฉัยของ กกต.ต้องอธิบายเหตุผลได้ บนหลักกฎหมาย ไม่ใช่เบี่ยงเบนไปเพราะกระแสกดดัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง