สั่งปรับ‘สมดุล’ แก้ปัญหาปชช. ยุคหลัง‘โควิด’

รัฐบาลเปิดเก็บตกคนละครึ่งเฟส 3 อีก 1.1 แสนสิทธิ เริ่มลงทะเบียน 1 พ.ย.นี้ “บิ๊กตู่” สั่งยกเครื่องดูแลเรื่องร้องเรียน ปชช. สอดคล้องยุคโควิดและเปิดประเทศ ปธ.หอการค้าไทย เชื่อไม่กลับไปล็อกดาวน์อีก ขออัดงบกระตุ้น ศก. ด้าน พท.เผยเกษตรกรหนี้ท่วม จี้รัฐเร่งเยียวยาหลังข้าวราคาถูกค่าปุ๋ยแพง

เมื่อวันที่ 31​ ต.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ว่า เป็นโครงการที่ครองใจประชาชนมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเต็มจำนวน 28 ล้านสิทธิแล้ว แต่ทางกระทรวงการคลังได้ทำการตรวจสอบประมวลผล พบว่ายังมีผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จอีกจำนวนทั้งสิ้น 119,974 สิทธิ จึงได้ทำการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ยังไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้สำเร็จ ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 อีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. ของทุกวันจนกว่าจะเต็มจำนวนสิทธิ ผ่านเว็บไซต์ w ww.คนละครึ่ง.com หรือผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายให้มีเม็ดเงินสะพัดมากขึ้น สอดคล้องกับการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย 1 พฤศจิกายนนี้

โฆษกประจำสำนักนายกฯ​ กล่าวว่า ประชาชนที่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 อยู่แล้ว รัฐจะมีการเพิ่มวงเงินสนับสนุนให้อีกจำนวน 1,500 บาทต่อคน ในวันที่ 1 พ.ย.64 ซึ่งจะได้รับโดยอัตโนมัติ ส่วนผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับวงเงินสนับสนุนรัฐร่วมจ่ายทั้งสิ้น 4,500 บาทต่อคน และสามารถใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ส่วนบริการฟู้ดเดลิเวอรีแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

ขณะนี้มีทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ GRAB LINEMAN และ TRUE FOOD ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมูลการใช้จ่ายผ่านฟู้ดเดลิเวอรีแพลตฟอร์ม ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2564) โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีการใช้จ่ายสะสมประมาณ 932.3 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนใช้สะสมจ่าย 481.5 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 450.8 ล้านบาท สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มียอดใช้จ่ายของประชาชนสะสม 595,542 บาท และมูลค่าการใช้ e-voucher สะสม 179,112 บาท โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มให้บริการผ่านฟู้ดเดลิเวอรีแพลตฟอร์มแล้ว กว่า 65,000 ราย

ขณะที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องการสร้างสมดุลภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เพื่อรองรับนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย. รวมทั้งให้เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1111 ผ่าน 4 ช่องทาง คือ โทร.สายด่วน 1111, ตู้ ปณ.1111, เว็บไซต์และแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง และเตรียมซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่เสียหายจากอุทกภัยในทุกพื้นที่อย่างเร่งด่วน

ปลัดสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้ความสำคัญทุกเรื่อง โดยเฉพาะได้ติดตามสอบถามเรื่องร้องทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชนด้วยตนเองทุกสัปดาห์ และท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน เร่งแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยเร็ว รวมทั้งขอให้นำข้อเสนอแนะของประชาชนไปพิจารณาพัฒนางานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้จะมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะต้องเร่งหาทางป้องกันและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง และอยากเห็นรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้านให้ครอบคลุม เร่งนำงบประมาณที่มีออกมากระตุ้นเศรษฐกิจรอบด้าน เพื่อต่อลมหายใจให้กับภาคธุรกิจ และภาคประชาชนเพิ่มเติมให้มากขึ้น

นายสนั่นกล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้งว่า เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นหากรัฐสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อโควิด ที่รุนแรงได้ บวกกับในปัจจุบันประชาชนเริ่มเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้นแล้ว และปัจจุบันสาธารณสุขเร่งฉีดวัคซีนได้แล้วกว่า 1 ล้านโดส/วัน โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง ก็มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่รัฐบาลจะกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงจาก 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สิ้นปี 2562 เป็น 90.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ไตรมาส 1/2564 คาดการณ์ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจจะเพิ่มไปถึง 93 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในสิ้นปีนี้ ปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตนี้ เกิดจากความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนลงบางส่วน การถูกเลิกจ้างงาน แม้แต่ในช่วงบุญกฐิน ประชาชนไม่มีเงินจะทำบุญกองกฐิน

นอกจากนี้ ประชาชน เกษตรกรในภาคอีสาน พบปัญหาเร่งด่วนคือราคาข้าวใหม่หรือข้าวหอมมะลิตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 6 บาท ขณะที่ปุ๋ยเคมีราคาสูงกระสอบละ 950 บาท ราคารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 600 บาท ราคาน้ำมันดีเซลในต่างจังหวัดลิตรละ 32 บาท ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูกาลเพาะปลูกปี 2564-2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินเมื่อ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564 เป็นข้าว 5 ชนิดนั้น ขอให้รัฐบาลเร่งรัดส่งเงินเยียวยาช่วยเหลือเป็นการด่วน เพราะเกษตรกรหนี้สินเพิ่มขึ้น และรายได้ไม่พอกับรายจ่าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง