โควิดขาลงหั่นซื้อแอสตร้า กทม.พร้อมโรคประจำถิ่น

ยอดติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,714 ราย เสียชีวิต 21 ราย "ครม." ไฟเขียวปรับลดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปี 65 จาก 60 ล้านโดส เหลือ 35.4 ล้านโดส เหตุสถานการณ์ดีขึ้น หันเพิ่มซื้อแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว 257,500 โดส วงเงิน 7,569.2228 ล้านบาท ใช้รักษาผู้ป่วย 3 กลุ่มเสี่ยงสูงภูมิคุ้มกันต่ำ "รองผู้ว่าฯกทม." ลั่นเมืองกรุงพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,714 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,711 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,711 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,137 ราย อยู่ระหว่างรักษา 20,467 ราย อาการหนัก 631 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 295 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 21 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12 ราย มีโรคเรื้อรัง 9 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,502,542 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,451,569 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,506 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรคเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสาระสำคัญของการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยจำนวน 60 ล้านโดส (Astra Zeneca) ในปี 65 โดยปรับลดการจัดซื้อวัคซีน AZ จากเดิม 60 ล้านโดส กรอบวงเงิน 18,762.5160  ล้านบาท เป็นการจัดซื้อวัคซีน  AZ จำนวน 35.4 ล้านโดส กรอบวงเงิน 11,069.8845 ล้านบาท เพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส กรอบวงเงิน 7,569.2228 ล้านบาท ซึ่งทำให้กรอบวงเงินโดยรวมของโครงการปรับลดไป 123.41 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 18,762.5160  ล้านบาทเหลือ  18,639.1073  ล้านบาท พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการจากเดือนก.ย.65 เป็นเดือน ธ.ค.65  

"ปี 65 ในประเทศมีความต้องการวัคซีนโควิด-19 ลดลง ประกอบกับสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีวัคซีนที่ได้รับจากการบริจาคจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้วัคซีนสำรองในประเทศเพียงพอ กรมควบคุมโรคจึงพิจารณาปรับแผนการจัดซื้อวัคซีน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับลดจำนวนวัคซีน AZ ลง  ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 บริษัทได้ส่งมอบวัคซีนแล้วจำนวน 13.2 ล้านโดส โดยจะได้มีแผนรับมอบจำนวน  11.2  ล้านโดสภายในปี 65 ส่วนที่เหลืออีก 11 ล้านโดสคาดว่าจะได้รับมอบภายในไตรมาสที่ 2 ปี 66" นายธนกรกล่าว 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในส่วนการเพิ่มจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) จำนวน 257,500 โดส เนื่องจากมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต หากมีการติดเชื้อ แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีน แต่ไม่เกิดภูมิคุ้มกันโรค เพราะร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถสร้างแอนติบอดีจากวัคซีนได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มโดยมุ่งใช้กับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 3 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะและผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันการป่วยได้ถึงร้อยละ 83 

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 (ChulaCov19  mRNA) เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนรับการรับรองจาก อย. พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเป็นเดือน ธ.ค.65 โดยมอบหมายให้จุฬาฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและผลิตวัคซีน ChulaCov19mRNA ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด

นายธนกรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระมัดระวังสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.ค.นี้ ที่จะมีวันหยุดยาวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการสถานบริการ พนักงาน ลูกจ้าง รวมไปถึงภาคบริการเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ได้แสดงความขอบคุณนายกฯ ที่ได้มีมติผ่อนคลายมาตรการให้เปิดสถานบริการ หลังถูกปิดมานานหลายเดือน ซึ่งทางผู้ประกอบการยืนยันจะปฏิบัติตามมาตรการของทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซึ่งนายกฯ เชื่อมั่นอีกไม่นานประเทศไทยจะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ที่ศาลาว่าการ กทม. น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ครั้งที่ 22/2565 ว่า สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือถึงข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ มาตรการสังคม ชุมชน และองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic เตรียมมาตรการเพื่อเข้าสู่แนวทางการเป็นโรคประจำถิ่นของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

"สถานการณ์โควิดใน กทม.ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายวันลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ กทม.มีปัจจัยที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ ทั้งกลุ่ม 608 เด็กอายุ 5-11 ปี และผู้ที่อายุ 12-17 ปี สามารถวอล์กอินให้รับบริการวัคซีนได้ ซึ่งการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นอาจไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แต่จะช่วยลดความรุนแรงให้เบาบางลง รวมทั้งหน้ากากอนามัยยังคงมีประโยชน์ในการป้องกันทั้งการแพร่เชื้อและการรับเชื้อโควิด และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ จึงควรพกหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อออกจากบ้านและนำมาสวมเมื่อมีความเสี่ยง" รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง