สธ.ย้ำอย่าตื่นโอมิครอน หมอยงคาดก.ค.พีกใหม่

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่อีก 2,278  ราย เสียชีวิต 17 ราย ย้ำอย่าตื่นโอมิครอนสายพันธุ์  BA.4/BA.5 เพราะ สธ.จับตาอยู่ “นพ.ประสิทธิ์” แนะควรฉีดเข็ม 4 “หมอยง” เผยโควิด-19 ระลอกใหม่จะพีกช่วง  ก.ค.-ก.ย. ตัวเลขจริงมากกว่าแถลง 10 เท่า!

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,278 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,276 ราย โดยมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,276 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,834 ราย อยู่ระหว่างรักษา 23,313 ราย อาการหนัก 601 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 290 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 17 ราย เป็นชาย 12  ราย หญิง 5 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10  ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 4,514,155 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,460,250 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,592 ราย

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ติดตามเชื้อโควิด -19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4/BA.5 อย่างใกล้ชิด แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวังก็ตาม

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับ 11 และโฆษก สธ.กล่าวว่า ภาพรวมของโอมิครอน BA.4 และ  BA.5 ขณะนี้มีแนวโน้มแพร่ลดลง และพบในคนที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าไทยมากกว่าในไทยอย่างมีนัยสำคัญ ยืนยัน สธ.มีระบบเฝ้าระวังติดตามใกล้ชิด และยังไม่มีข้อมูลสรุปว่าเชื้อ BA.4 และ BA.5 รุนแรงขึ้น

ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 พบข้อมูลมาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ที่พบอัตราติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นเป็นหมื่นรายต่อวัน ซึ่งสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เริ่มไปทดแทนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 แบ่งตัวเร็วกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า รุนแรงมากกว่า เพราะยังไม่มีหลักฐานการป่วยจนเข้านอนในโรงพยาบาล อาการรุนแรงถึงเสียชีวิตที่ชัดเจนเพียงพอ แต่ถือเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องย้ำคือวัคซีน เพราะข้อมูลการศึกษาของ BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มว่าอาจเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ยังไม่ต้องไปเทียบกับเดลตา เพราะไม่มีหลักการว่าจะรุนแรงมากกว่า คำแนะนำของ สธ.ที่ได้ศึกษาข้อมูลประชากรกว่า 5 แสนคน พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ป้องกันติดเชื้อได้ร้อยละ 25 แต่ถ้าฉีด 4 เข็มก็จะเพิ่มสูงถึง 70-75% จึงขอแนะนำให้ฉีด 4  เข็มในกลุ่มคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก็เป็นเข็มที่ 5 ได้เลย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า จะระบาดมากตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป และจะขึ้นสูงสุดในเดือน ก.ค.ถึง ก.ย. และจะเริ่มลดลงในเดือน ต.ค.ถึง ธ.ค. แล้วก็จะระบาดใหม่ในเดือน ม.ค.เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ของทุกปี การระบาดจะเกิดขึ้น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นช่วงของการเปิดเทอมแรกของนักเรียน ช่วงที่ 2 จะพบได้ต่ำกว่า เป็นช่วงตั้งแต่หลังเปิดเทอมที่ 2 แล้วประมาณ 1 เดือน คือเดือน ม.ค.เป็นลักษณะของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาลของประเทศไทย

 “นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ถ้าให้คาดการณ์ วันนี้มีผู้ป่วยเท่าไหร่ บอกได้แต่เพียงว่า มากกว่า 10 เท่าของตัวเลขที่รายงาน เพราะส่วนใหญ่มีอาการน้อย ตรวจ ATK รักษากันเอง และจำนวนหนึ่งจะไม่มีอาการ” ศ.นพ.ยงกล่าว

นพ.จรุง เมืองชนะ กรรมการนโยบายพรรคสร้างอนาคตไทย ( สอท.) อดีตผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สอท.ขอเสนอให้ภาครัฐและเอกชนให้บริการเจลแอลกอฮอล์แก่ประชาชนเช่นเดิม ส่วนรัฐบาลควรสร้างความมั่นคงทางวัคซีนและชีววัตถุที่มีความสำคัญในอนาคต โดยควรยกระดับองค์การอาหารและยา (อย.) โดยควรออกจาก  สธ. ให้เป็นองค์กรอิสระ มีศักยภาพ พัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเรื่องของยาให้มีคุณภาพสูงมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง