ตั้งกก.แก้วิกฤตน้ำมัน‘นายกฯ’คุมเอง

"บิ๊กตู่" เซ็นตั้ง คกก.เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์วิกฤต ศก. นั่งแท่นคุมเอง พร้อมตั้งอนุฯ อีกชุดปลัดคลังประธาน "เลขาฯ สมช." แจงทำหน้าที่คล้าย "ครม.เศรษฐกิจ" แก้ปัญหาดูแลปชช.ได้ทันสถานการณ์ กบน.ตรึงราคาดีเซลลิตรละ 35 บาทต่อเนื่องสัปดาห์ที่ 5 กกพ.เร่งทบทวนแนวทางปรับเพิ่มค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ  รมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 170/2565 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย ทำให้หลายประเทศ รวมทั้งไทยต้องประสบปัญหาที่กระทบต่อต้นทุนราคาพลังงานและวัตถุดิบ ส่งผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในห่วงโซ่การเกษตรอันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน

เพื่อให้การบริหารสถานการณ์และการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว ระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างบูรณาการ ทันต่อสถานการณ์ และสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจ ดังนี้ นายกฯ เป็นประธานกรรมการ สำหรับรองประธานกรรมการ ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี,  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ

ในส่วนกรรมการ อาทิ รมว.การคลัง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.มหาดไทย รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ 

โดยมีหน้าที่และอำนาจคือ 1.กำหนดแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ถือปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลายลงโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด 2.กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต่อนายกฯ หรือ ครม. 4.ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล หรือผลการดำเนินการ ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะ รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามคำสั่งนี้ 5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม และ 6.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกฯ มอบหมาย

นอกจากนี้ นายกฯ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยระบุว่า เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ แก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม รวมทั้งให้การกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ, รองเลขาธิการ สศช. เป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 1, รองเลขาธิการ สมช. เป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 2 รวมทั้งมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการอีก 13 คน

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุม สมช. เมื่อวันที่ 4 ก.ค.65 โดยนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จะมีลักษณะเดียวกันกับ ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีการนำหน่วยงานทางเศรษฐกิจเข้ามาหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ การให้ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การกำหนดแนวทางการบูรณาการและขับเคลื่อนมาตรการและกลไกต่างๆ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้จะจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้จะมีการเชิญภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการด้วย ทั้งนี้ การจัดตั้งกลไกของคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุน พลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็วและทันเวลา

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่เป็นข้อกังวลที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องใช้ฐานข้อมูลเดิมที่ สมช.รวบรวมไว้ และพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประเมิน วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือเรื่องราคาพลังงาน การประหยัดพลังงาน การควบคุมราคาสินค้า และมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว และคาดว่านายกฯ จะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้

วันเดียวกัน นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท โดยเป็นการตรึงราคาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 ทั้งนี้ เพื่อมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล (GAS OIL) ลดลง 6.44 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 17 ก.ค. 2565 ติดลบ 112,935 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 74,162 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 38,773 ล้านบาท

ทางด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน และปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.- 25 ก.ค.2565 เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาค่าเอฟทีมีความผันผวน เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และรุนแรง จึงได้จัดทำกรณีศึกษา 3 แนวทาง เพื่อรับฟังความเห็น และนำข้อสรุปให้บอร์ด กกพ. พิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย คาดว่าจะมีการประชุมบอร์ดวันที่ 27 ก.ค.นี้ และประกาศค่าเอฟทีงวดใหม่อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือน ก.ค. หรือต้นเดือน ส.ค.นี้

สำหรับ 3 กรณีศึกษา ได้แก่ กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 45.70 สตางค์ต่อหน่วยให้กับ กฟผ. เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดยมีค่าเอฟทีเท่ากับ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 28% โดย กฟผ.จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ.ที่ต้องบริหารจัดการแทนประชาชน 56,581 ล้านบาท

กรณีศึกษาที่ 2 ค่าเอฟทีขายปลีกที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 22.85 สตางค์ต่อหน่วยให้กับ กฟผ. เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดยมีค่าเอฟทีเท่ากับ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 23% โดย กฟผ.จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องบริหารจัดการแทนประชาชน 69,796 ล้านบาท

และกรณีศึกษาที่ 3 ค่าเอฟทีขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% โดย กฟผ.จะต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนจำนวน 83,010 ล้านบาท

ส่วนข้อเสนอของ กฟผ. ค่าเอฟทีขายปลีก เดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เท่ากับ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 53% โดยจะทำให้ กฟผ. ได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนทั้งหมดจำนวน 83,010 ล้านบาท คืนภายในเดือน ธ.ค.2565 ซึ่งการพิจารณาต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบค่าใช้จ่ายของประชาชนและความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในระยะยาวมาประกอบด้วย เพราะปัจจุบันนี้ กฟผ.ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเกือบแสนล้านบาทแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่าชื่อค้านแก้กัญชา เอกชนชงใช้กม.คุมดีกว่า/อนุทินย้ำต้องถกเหตุผล

"นายกฯ" ยืนยัน "กฤษฎา" พ้นตำแหน่ง "รมช.คลัง" แล้ว รอคุย "รวมไทยสร้างชาติ" หาคนแทน "ธนกร" ชี้เลือกใครไปนั่งเก้าอี้คลังอยู่ที่