เทงบ1.4หมื่นล้านค่าเสี่ยงภัยโควิด

ครม.ไฟเขียว 2,021 ล้านบาท จ่ายค่ารักษาพยาบาล-ฉีดวัคซีนคนต่างด้าวและผู้ไร้สัญชาติ พร้อมอนุมัติ 14,510 ล้านบาท ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข 6 โครงการ "บิ๊กตู่" ห่วงผู้สูงอายุติดโควิดสถานดูแลฯ กำชับ จนท.เข้มมาตรการดูแล "สธ." เผย 2 คนไทยอายุเกิน 60 ปี มีภาวะรีบาวด์ป่วยโควิดซ้ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 2 ส.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ค่ารักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลโควิด-19 วงเงิน 1,923.1426 ล้านบาท และเห็นชอบโครงการค่าฉีดวัคซีนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย วงเงิน 98.3266 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นจริงและได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงเดือน ต.ค.2564-มิ.ย.2565 

โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19  ค่ารักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 กรอบวงเงิน 1,923.1426 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ ในการดำเนินการ การตรวจรักษาพยาบาลกลุ่มคนไร้สิทธิการรักษาซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย ป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19  สู่คนไทยจากการเปิดประเทศ และเตรียมการสู่โรคประจำถิ่น รวมทั้งเป็นค่าชดเชยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 กรณีผู้ป่วยที่ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการ กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยคนต่างด้าวไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือผู้ไร้สัญชาติ  หรือผู้มีประกันสุขภาพคนต่างด้าว หรือแรงงานต่างด้าว เนื่องจากสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 รวมถึงการรักษาพยาบาลของกลุ่มเป้าหมายที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน  

ส่วนโครงการค่าฉีดวัคซีนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย กรอบวงเงิน 98.3266 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าบริการการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทยให้กับหน่วยบริการ

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่กรณีโรคโควิด 2.โครงการค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ 3.โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด 4.โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยโควิด 5.โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยโควิด และ 6.โครงการสนับสนุนการจัดบริหารทางการแพทย์และสาธารณสุขรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด กรอบวงเงินทั้งสิ้น 14,510.3059  ล้านบาท ให้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจนถึงเดือน มิ.ย.2565 

นายธนกรกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ห่วงใยสุขภาพผู้สูงอายุที่พำนักอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ หลังกรมอนามัยรายงานพบผู้ติดเชื้อในสถานดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 23 ราย โดยขอให้เจ้าหน้าที่คัดกรองสุขภาพผู้ปฏิบัติงาน ผู้มาติดต่อและญาติ หมั่นทำความสะอาดจุดเสี่ยงในพื้นที่ และหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัยและเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว อาจทำให้มีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายใหม่ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 1,843 ราย ติดเชื้อในประเทศ 1,843 ราย เสียชีวิต 27 ราย กำลังรักษาตัว 22,012 ราย หายป่วยกลับบ้าน 2,514 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,370,692 ราย หายป่วยสะสม 2,372,190 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 916 ราย

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบปัญหาภาวะรีบาวด์เกิดขึ้นแล้วกับผู้ป่วยไทย 2 คน จากเดิมที่มีการรายงานพบในคนที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศอย่างโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ที่ป่วยโควิดรับยาแพกซ์โลวิดจนยาหมดแล้วกลับมาป่วยซ้ำ เป็นอาการของภาวะรีบาวด์ บอกระยะเวลาที่แน่ชัดไม่ได้ บางรายอาจเจอหลังจากหายดี 5-7 วัน หรือ 10-14 วัน

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ผู้ป่วยในไทยที่พบเป็นผู้ป่วย 60 ปีขึ้นไป คนแรกอายุ 60 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดัน ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จนหาย แต่เมื่อวันที่ 13-14 กลับมาตรวจ ATK พบผลบวก ผู้ป่วยมีอาการไอเล็กน้อย จึงให้คำแนะนำ ให้ติดตามอาการเท่านั้น จากนั้นไม่นานผลตรวจก็เป็นลบ ส่วนอีกคนเป็นผู้ป่วยอายุ 70 ปี ไปต่างประเทศ รับยาจากต่างประเทศ หลัง 14 วัน พบตรวจ ATK เป็นบวก จึงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่ารีบาวด์เกิดได้จากอะไร

ทั้งนี้ ภาวะการรีบาวด์อาจเกิดจากซากเชื้อ หรือผลบวกลวงของ ATK หรือมาจากอะไร แต่หากอยู่ในความดูแลของแพทย์ การจ่ายยาก็อยู่ในความดูแลของแพทย์ จึงมีกรณีบางคนอาจจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอาร์ทีพีซีอาร์อีกครั้ง เพื่อดูไซเคิลไทม์ว่าต่ำกว่า 28-30 หรือไม่ แต่หากมีอาการปกติ ก็ให้สังเกตอาการต่อ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ต้องการให้ผู้ป่วยใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล

"เกณฑ์การยาจ่ายต้านไวรัสรักษาโควิดมีการปรับตามสถานการณ์ตอนนี้มาถึงฉบับที่ 24 อาจมีการปรับเปลี่ยน เพราะขณะนี้ต้องยอมรับยังไม่มีใครรู้จักโควิดดีพอ และเชื้ออาจมีการกลายพันธุ์ได้อีกหรือไม่" อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงผลการจัดระบบเฉพาะกิจเป็นระบบเสริมเพื่อช่วยโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา เปิดให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการดูแลโทร.เข้าสายด่วน 1330 เพื่อแจ้งอาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินอาการในเบื้องต้น หากเข้าข่ายที่จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ก็จะดำเนินการจัดส่งยาให้ถึงบ้าน โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 23-30 ก.ค.ที่ผ่านมา สปสช.ได้จัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาแล้วทั้งสิ้น 1,941 เคส เตรียมนำจ่าย 361 เคส และอยู่ระหว่างการจัดส่งอีก 93 เคส ขณะที่เคสที่จัดส่งไม่สำเร็จมีจำนวน 25 เคส ส่วนมากจัดส่งไม่สำเร็จเพราะผู้ป่วยปิดบ้าน บริษัทหยุด ติดต่อผู้รับไม่ได้ และผู้รับปฏิเสธการรับ

"สธ.ได้สนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับ สปสช. ซึ่งรอบแรกได้รับ 40,000 เม็ด และครั้งที่ 2 ได้รับอีก 100,000 เม็ดจากโรงพยาบาลราชวิถี และวันที่ 1 ส.ค.ได้เพิ่มอีก 150,000 เม็ด" เลขา สปสช.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง