จับตาBA.4.6ระบาดในสหรัฐ จ่อทดสอบภูมิคุ้มกันฝีดาษลิง

ศบค.เผยติดเชื้อโควิดนอก รพ. ATK เป็นบวกสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.3 แสนราย เฉลี่ยวันละ 3.3 หมื่นราย "สปสช." เริ่มจัดส่งยาโมลนูพิราเวียร์ให้กลุ่มเสี่ยง 608  ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Telemedicine วันแรก ขณะที่ ขรก.พบหมอผ่านระบบออนไลน์ได้ ศูนย์จีโนมจับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่ "BA.4.6" ระบาดหนักในสหรัฐฯ แพร่เร็วกว่า "BA.5-BA.2.75" สธ.เผยไทยพบ "โควิด"  BA.2.75 จำนวน 5 ราย ส่วน BA.4.6 ยังไม่พบ ขณะที่ฝีดาษวานรพบผู้ป่วย 4 ราย เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก เตรียมทดสอบภูมิคุ้มกันในผู้ที่เคยปลูกฝี

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์ประจำวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,842  ราย จำแนกเป็นติดเชื้อในประเทศ 1,842 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,842 ราย ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในเรือนจำและจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม  4,607,451 ราย

ส่วนผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล ATK เป็นบวก สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-6 ส.ค.65 รวม  235,753 ราย เฉลี่ยวันละ 33,679 ราย หายป่วยเพิ่ม  2,015 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 21,319 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 953 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ  487 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย เป็นกลุ่ม 608 คิดเป็น  97% ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 27  ราย รวมเสียชีวิตสะสม 31,630 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายในการดูแลรักษาและการนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทุกกลุ่มเข้าถึงระบบการรักษา ยาและเวชภัณฑ์ ให้ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงโดยเร็วเป็นสำคัญ เพื่อช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ซึ่งในวันที่ 8 ส.ค. สปสช.ได้เริ่มให้บริการเชิงรุกโดยร่วมกับแอปพลิเคชัน คลิกนิก (Clicknic) จัดส่งยาโมลนูพิราเวียร์ให้กลุ่มเสี่ยง 608 ทั่วประเทศ ที่ได้รับการวินิจฉัยและสั่งจ่ายโดยแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine เพื่อช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้สามารถเข้าถึงการรักษาโดยเร็วก่อนอาการจะรุนแรง ซึ่งจะมีแพทย์หมุนเวียนในระบบคอยให้บริการปรึกษา วินิจฉัย และกำกับการให้ยาแก่ผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะได้รับยาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และจะเริ่มจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทั่วประเทศวันนี้เป็นวันแรก ซึ่งจะได้รับยาวันถัดไปหลังจากที่พบหมอผ่านระบบ Telemedicine และได้รับการวินิจฉัยว่าต้องได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ นับเป็นการให้การรักษากลุ่มเสี่ยงก่อนภาวะโรคจะรุนแรง

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิข้าราชการสามารถรับยาโควิด-19 แบบเจอ-แจก-จบ จากร้านยาที่ร่วมโครงการกับ สปสช.ทั่วประเทศได้แล้ว ซึ่งก่อนหน้าได้เพิ่มการครอบคลุมสิทธิประกันสังคม จากที่เริ่มแรกครอบคลุมเฉพาะสิทธิบัตรทองเท่านั้น กระบวนการดูแลระบบ Telemedicine ที่รัฐบาลจัดให้นี้ไม่ต่างจากการไปรับบริการที่โรงพยาบาล เพียงแต่ทุกอย่างทำผ่านออนไลน์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยได้มาก ที่สำคัญลดการไปแออัดที่โรงพยาบาล ไม่เสี่ยงต่อกระจายเชื้อ และการติดเชื้อของญาติที่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เริ่มติดตามโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.4.6 ที่พบระบาดในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)  สูงกว่า BA.4/BA.5 และ BA.2.75  โดยสายพันธุ์ย่อยนี้ยังไม่พบในประเทศไทย

US CDC ปรับให้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of  concern) เนื่องจากมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นประมาณ 80  ตำแหน่ง

จากข้อมูลของ CDC พบว่า BA.4.6 คิดเป็น 4.1% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา (30 กรกฎาคม 2565) พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในรัฐไอโอวา  แคนซัส มิสซูรี และเนแบรสกา

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.4.6 คล้ายคลึง  BA.4 เพียงแต่มีการกลายพันธุ์ที่หนามต่างไปจากโอมิครอนอื่น 1 ตำแหน่ง (Spike R346T mutation)  ยังไม่มีข้อมูลด้านการหลบภูมิคุ้มกัน หรือการดื้อต่อวัคซีนเจเนอเรชันแรก และเจเนอเรชันสองที่จะมีให้ได้ฉีดกันปลายปีนี้ รวมทั้งยังไม่มีรายงานความรุนแรงของโรคที่แตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นอย่างมีนัยสำคัญ

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth  advantage) เหนือกว่า BA.5 ทั่วโลกประมาณ  15% และ BA.5 ในเอเชียประมาณ 28% และมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.2.75  ทั่วโลกประมาณ 12% และ BA.2.75 ในเอเชียประมาณ 53%

ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19  และโรคฝีดาษวานรว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ก.ค.-5 ส.ค.65) ตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 จำนวน 382  ตัวอย่าง โดยสายพันธุ์ BA.4/BA.5 พบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  พื้นที่ กทม.พบ 91.5% ส่วนภูมิภาคพบเพิ่มขึ้นเป็น  80% เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบเป็น BA.5 ต่อ  BA.4 ในสัดส่วน 4:1 แสดงว่า BA.5 แพร่เร็วกว่า  BA.4 สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วนเรื่องความรุนแรงยังไม่สามารถสรุปได้

สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 พบในประเทศไทย 5  ราย ได้แก่ 1.ชายไทย อายุ 53 ปี จ.ตรัง 2.ชายไทย อายุ  62 ปี จ.แพร่ 3.ชายไทยอายุ 18 ปี จ.น่าน  4.ชายไทยอายุ 62 ปี จ.สงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดเนื่องจากระบุว่าแพ้ง่าย ทำให้มีอาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และ 5.หญิงไทย อายุ 85 ปี กทม. เป็นผู้ป่วยติดเตียง ทั้งนี้ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถตรวจ  BA.2.75 ได้ในระดับพื้นที่ ทำให้ติดตามได้ว่าจะพบเพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนสายพันธุ์ BA.4.6 องค์การอนามัยโลก  (WHO) ยังไม่ได้จัดลำดับชั้น และยังไม่พบในประเทศไทย จึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องความรุนแรง ต้องติดตามข้อมูลต่อไป

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า สำหรับโรคฝีดาษวานรประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย เป็นสายพันธุ์ A.2 จำนวน 3  ราย และ B.1 จำนวน 1 ราย โดยทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกากลาง ทำให้โรคมีความรุนแรงน้อย ขณะนี้สามารถเพาะเชื้อฝีดาษวานรได้จำนวนมากพอที่จะนำมาทดสอบกับผู้ที่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษในอดีต ซึ่งเลิกปลูกฝีไปแล้วกว่า 40 ปี โดยจะรับอาสาสมัครประมาณ 30-40 คน ในช่วงอายุ 40 ปี 50  ปี และ 60 ปี ประมาณช่วงอายุละ 10 คน เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลสำหรับประเทศไทยว่า ผู้ที่ปลูกฝีในแต่ละช่วงอายุมีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงอย่างไร เป็นไปตามข้อมูลว่าป้องกันได้  85% จริงหรือไม่

 “ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งสามารถตรวจเชื้อฝีดาษวานรได้แล้ว อย่างไรก็ตามห้องแล็บในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สามารถยื่นเรื่องทดสอบความชำนาญ ซึ่งหากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะอนุญาตให้ตรวจได้ ภายใต้มาตรฐานห้องแล็บชีวนิรภัยระดับ 2 เสริมสมรรถนะ เพื่อให้มีห้องแล็บตรวจในพื้นที่มากขึ้น สำหรับประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจหาฝีดาษวานร ยกเว้นมีความเสี่ยงหรือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยต้องสงสัยชาวฝรั่งเศสที่ จ.ตราด พบว่ามีไข้มาก่อนนานเป็นเดือนแล้ว จากนั้นจึงเริ่มมีแผลเกิดขึ้น สิ่งส่งตรวจจากบริเวณลำคอและเลือดให้ผลเป็นลบทั้งหมด ส่วนตัวอย่างจากแผลแปลผลได้ไม่ชัดเจน จึงต้องเก็บตัวอย่างเพิ่มมาตรวจใหม่” นพ.ศุภกิจกล่าว

ด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคฝีดาษวานร ทำให้เมื่อมีผื่นขึ้นจึงรีบมาขอตรวจหาเชื้อ แนะนำว่าหากมีผื่นหรือความผิดปกติใดๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ ร่วมกับดูประวัติเสี่ยงว่าสมควรตรวจหาเชื้อหรือไม่ เนื่องจากต้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนโรค

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยังยืนยันอยู่ที่ 4 ราย ส่วนผู้ต้องสงสัยชาวฝรั่งเศสที่เจอแถวจังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี ผลเป็นลบ ส่วนเป้าหมายการฉีดวัคซีนกลุ่มแรก ปกติมีหลักการอยู่ ซึ่งตนอยากให้สอบถามแพทย์ แต่เท่าที่รับรายงานบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เสี่ยงควรฉีด และการฉีดวัคซีนฝีดาษวานรไม่จำเป็นต้องเหมือนวัคซีนโควิดที่เจอใครก็ฉีด แต่จะต้องฉีดเฉพาะผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย หรือแม้ติดเชื้อแล้วฉีดก็ทันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน พร้อมยืนยันว่าวัคซีนของกรมควบคุมโรคที่เตรียมไว้มีจำนวนเพียงพอกับสถานการณ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง