ชงอนุทิน1ก.ย. เลิกฮอสพิเทล เร่งตั้งตู้คีออส

ไทยติดเชื้อใหม่นอน รพ. 2,335 ราย ดับเพิ่ม 32 คน นายกฯ ห่วงใยหน้าฝนเพิ่มปัจจัยเสี่ยงโควิด แนะสังเกตตนเองหากเข้าข่ายให้รีบตรวจ ATK สบส.ชง "อนุทิน" เลิกฮอสพิเทล-โฮเทลไอโซเลชัน 1 ก.ย. เร่งตั้งตู้คีออสก์ รองรับคนกรุงปรึกษาหมอ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ประชาชนเจ็บป่วยหรือไม่สบายจากโรคทางเดินหายใจ ทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ฝากความห่วงใยแนะประชาชนให้ดูแลรักษาสุขภาพตนให้แข็งแรงอยู่เสมอ และให้หมั่นเฝ้าสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกไม่สบาย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย ไอแห้ง เจ็บคอ มีไข้ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื้องตนให้รีบตรวจ ATK ก่อน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวก็ขอให้ประชาชนรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากขึ้น และให้ใช้ชีวิตประจำวันยึดหลักการปฏิบัติตาม Universal Prevention โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย 100%

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวในโรงพยาบาล) จำนวน 2,335 ราย โดยเป็นผู้ป่วยในประเทศทั้งหมด จำนวน 2,335 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,388,306 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ขณะที่หายป่วยกลับบ้าน จำนวน 2,151 ราย รวมหายป่วยสะสม 2,390,453 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 21,099 ราย และเสียชีวิต 32 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 9,997 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล จำนวน 928 ราย

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยถึงกรณีการพิจารณายกเลิกระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 แบบฮอสพิเทล (Hospitel) และโฮเทลไอโซเลชัน (Hotel Isolation) ว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พ้นจากการระบาดใหญ่ ขณะนี้จึงมีการพิจารณายกเลิกระบบฮอสพิเทลและโฮเทลไอโซเลชัน เบื้องต้นคาดว่าจะยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2565 ซึ่งกำลังดำเนินการและเสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เพื่อออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

นพ.ธเรศกล่าวว่า ได้มีการสำรวจเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. พบว่าฮอสพิเทลเหลืออยู่ 11 แห่ง จากช่วงแรกๆ มี 79 แห่ง และขณะนี้เหลือเตียงอยู่ 3,220 เตียง ส่วนโฮเทลไอโซเลชันเหลือ 6 แห่ง จากช่วงแรกๆ 31 แห่ง และเหลือเตียงอยู่ 1,500 เตียง ซึ่งเห็นว่าจำนวนลดลง และขณะนี้ยังมีระบบการรักษาแบบ OPSI หรือผู้ป่วยนอก และระบบการรักษาแบบที่บ้าน (Home Isolation) หรือ HI มารองรับ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เรามีระบบในการประสานข้อมูลการรักษาให้ผ่านสายด่วน 1330 แต่จริงๆ สามารถเดินไปยังสถานพยาบาลได้ทุกแห่งในการรับบริการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือหากแพทย์ในสถานพยาบาลนั้นๆ ประเมินว่าต้องทำ HI ก็สามารถทำได้ทันที และหากเป็นสิทธิบัตรทอง ทาง สปสช.จะเบิกจ่ายให้ ซึ่งเป็นระบบหลังบ้าน แต่ประชาชนไม่ต้องกังวลอะไร หากรับบริการตามสิทธิตามระบบของรัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ และ โฆษก สปสช. กล่าวว่า สปสช.มีระบบรองรับผู้ติดโควิด-19 ที่ประสานเข้ามาเพื่อขอรับบริการรักษา นอกเหนือจากการเดินทางไปยังสถานพยาบาลเองเพื่อรับบริการแบบผู้ป่วยนอก โดย สปสช.มีทั้งสายด่วน 1330 และมีระบบ Teleheath/Telemedicine นอกจากนี้ ล่าสุด สปสช.ยังได้หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการพัฒนาและจัดตั้งตู้คีออสก์ (Kiosk) ซึ่งเป็นตู้อัตโนมัติให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถปรึกษาแพทย์ได้ เบื้องต้นจะจัดตั้งในกรุงเทพฯ บริเวณห้างสรรพสินค้า และในชุมชน อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ให้มีความสะดวกในการรับบริการมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ