กกต.ลั่นพร้อมจัดเลือกตั้ง พท.ฝันหลังเอเปกยุบสภา

หูผึ่ง! ประธาน กกต.ลั่น  พร้อมจัดการเลือกตั้งหากเกิดยุบสภา แต่มั่นใจสถานการณ์การเมืองจะเป็นไปตามวาระ เพื่อไทยตีปี๊บเปิดตัว 36 ว่าที่ ส.ส.ภาคกลาง ตั้งเป้าแลนด์สไลด์ โค่นระบบบ้านใหญ่ จัดตั้งรัฐบาลปิดสวิตช์ ส.ว. ปูดหลังเอเปกยุบสภา เปิดทางเลือกตั้งใหม่ช่วง ม.ค.-ก.พ.ปีหน้า

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่สโมสรทหารบก นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการจัดสัมมนา “ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาการเมือง” โดยสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ว่าสำนักงาน กกต.จะมีการถอดบทเรียนการเลือกตั้งทุกครั้ง  จุดที่ดี จุดที่เป็นจุดแข็ง โดยจะนำจุดดีของการเลือกตั้งระดับต่างๆ มาพัฒนาต่อ  ส่วนจุดบกพร่องก็จะนำมาแก้ไขให้ดีขึ้น พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ถือว่าเป็นจุดแข็ง เนื่องจากไม่มีเรื่องของปัญหาบัตรเขย่ง เป็นจุดแข็งที่เราจะนำมาเตรียมการเลือกตั้งให้ดีขึ้น

เมื่อถามว่า มีสัญญาณการเลือกตั้งในขณะนี้หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับสัญญาณ ถ้าจำได้ในแง่ของเงื่อนเวลา เราจะเริ่มการเตรียมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามวาระ จะมีการเตรียมการก่อน 6 เดือน ซึ่งการครบวาระของสภาชุดนี้คือ วันที่ 24 มี.ค.2566 ซึ่งเราได้ประชุมระดับผู้อำนวยการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อวันที่  17 ส.ค. เท่ากับนับ 1 ในการเดินหน้าเตรียมการเลือกตั้ง

ถามว่า หากมีการยุบสภาในช่วงนี้ กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งหรือไม่ นายอิทธิพรยืนยันว่า พร้อม ถ้าเป็นกรณียุบสภาจะต้องเลือกตั้งภายใน 60 วัน ที่จะเตรียมการเลือกตั้ง ทั้งเรื่องการแบ่งเขต จาก 350 เขต เป็น 400 เขต เชื่อว่าเรามีเวลาเตรียมการทัน   

เมื่อถามย้ำว่า ถ้าการยุบสภาก่อนที่กฎหมายลูก 2 ฉบับจะแล้วเสร็จ นายอิทธิพรกล่าวว่า กรณีนี้ไม่เกิดขึ้น

ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรค, นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา และประธาน ส.ส.พรรค และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคกลาง 15 จังหวัด รวมทั้งหมด 36 คน

เขากล่าวว่า พรรคเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส. 36 คน 15 จังหวัด จาก ส.ส.ทั้งหมด 106 คน เราตั้งเป้าทุกเขต ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่เป็นหัวใจในการนำพาประเทศ เราเห็นความสำคัญตรงนี้ ว่าที่ผู้สมัครเป็นจุดเชื่อมพรรคและประชาชนทุกจังหวัดในภาคกลางเพื่อบอกกล่าว เพื่อออกจากภาวะวิกฤตประเทศชาติ 8 ปีที่ผ่านประชาชนขาดโอกาส ถูกกระทำย่ำยี ตกทุกข์ยาก ทำมาหากิน เศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกทำลาย เราต้องช่วยออกจากภาวะวิกฤตตรงนี้ เป็นโอกาสที่ร่วมมือกัน เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดเร็วๆ นี้ ถ้ามียุบสภา คาดว่าหลังประชุมเอเปกประมาณเดือน ธ.ค. จากนั้นในเดือนปลาย ม.ค.ต้น ก.พ.2565 จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์สูงมาก

 “ขอเทใจพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์เพื่อสร้างความโอกาส ถ้าไม่แลนด์สไลด์ออกจากวิกฤตได้ แม้ชนะเลือกตั้งเป็นที่หนึ่ง ถ้าจำในอดีตปี 2562 เราไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล แม้ใครเสนอให้อย่างไร ธรรมเนียมแบบเดิม เราไม่ขัดข้อง รับแล้วมากาพรรคเพื่อไทยเพื่อออกจากวิกฤต และปิดกั้นส.ว. 250 คน เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.โดยประชาชน” นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าจะได้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคกลางกี่นั่ง นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของ 106 ที่นั่ง แต่ต้องมาถัวเฉลี่ยกับภาคอื่นๆ ด้วย ดังนั้นเราต้องได้เกิน 60 เก้าอี้

ซักว่า กังวลในการแข่งขันพื้นที่ภาคกลางหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า พื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงมาก ปัจจุบันที่ส่งผลและมีผลการตัดสินใจแตกต่างจากพรรคอื่นๆ เพราะวิธีและธรรมเนียมประเพณีเป็นการเมืองระบบบ้านใหญ่ค่อนข้างมาก เราเองต้องต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งที่นั่ง และใช้กลไกวิธีไม่เหมือนภาคอื่น แต่วิกฤตเป็นปัจจัยหนึ่งที่เสริมช่วย และทิศทางการเมืองจะเด่นขึ้น และตัวบุคคลจะลดลง เพื่อให้โอกาสพรรคเพื่อไทยจะกลับมา

นายประเสริฐกล่าวว่า พรรคมุ่งมั่นทำงานเพื่อความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้นกว่าปัจจุบัน นโยบายพรรคพูดแล้วทำได้จริง ตอบโจทย์ประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราต้องจับมือกันเลือกพรรคเพื่อไทยยกจังหวัด และตั้งจัดรัฐบาลที่มาจากประชาชนร่วมกันและกลับคืนชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนราพัฒน์ แก้วทอง และนายไชยยศ จิรเมธากร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ส. ให้มีผลวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 29 และนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 30 เลื่อนขึ้นมาแทน

โดยนายนราพัฒน์ให้เหตุผลในการลาออกว่า มีภารกิจเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือที่ต้องลงพื้นที่อย่างหนัก เพราะการแข่งขันที่จะถึงนี้มีการแข่งขันกันดุเดือด อีกทั้งภาคเหนือได้ ส.ส.มาเพียงคนเดียว ดังนั้นจึงต้องการเวลาไปทำพื้นที่ รวมถึงไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำภารกิจที่ค้างอยู่ ในเรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และหาแหล่งปุ๋ยโปแตช ขณะที่นายไชยยศเป็นรองหัวหน้าภาคอีสาน ก็ต้องการไปลงพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง และไปทำหน้าที่เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งเดิม โดยดูแลเกษตรกร 8 ล้านครอบครัวของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งแกนนำยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายไชยยศกลับไปสานต่อ

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะอดีตเลขาธิการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.…. กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นหนังสือที่มีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อรวม 106 รายชื่อ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ที่ใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 100 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ นพ.ระวีและคณะ ตลอดจนประชาชนทั่วไป สิ้นสงสัยต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ เสียที ส่วนพรรคการเมืองต่างๆ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะได้เตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในอีกไม่นานจากนี้ไป อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของ นพ.ระวีและคณะ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นกรณีเร่งด่วน ศาลจึงจะไม่ทิ้งไว้นาน

เขากล่าวว่า สำหรับตนเองนั้น ในฐานะที่เคยทำหน้าที่เป็นทั้งเลขานุการของ กมธ.ของกฎหมายฉบับนี้ และเลขานุการ กมธ.พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 นั้น ไม่มีข้อสงสัยแต่อย่างใดเลย เพราะเชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมส่วนในประเด็นหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข ให้ได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจึงมีหลังจากเลือกตั้ง ให้ตีความมาตรา 25 ซึ่งแก้ไขมาตรา 130 ซึ่งกําหนดห้ามนำผลคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่เลือกตั้งไม่แล้วเสร็จมาคำนวณหา ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจึงได้รับ

นายนิกรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และประเด็นให้ตีความมาตรา 26 ซึ่งแก้ไขมาตรา 131 ว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 94 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ถูกอ้างถึงทั้งสองมาตรานั้นเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอนุมาตรา 1-5 ที่ว่าด้วยการคํานวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแบบระบบสัดส่วนผสมจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวใน บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก่อนการแก้ไข ต่อมาหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ถูกตัดทิ้งไปทุกอนุมาตราแล้ว จึงไม่มีผลให้เกิดการขัดหรือแย้งกันกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่ตราขึ้นใหม่ตามเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 แต่อย่างใด

นายนิกรกล่าวว่า ส่วนประเด็นการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ที่ไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วันนั้น ถือเป็นกรณีที่เป็นไปตามกลไกของสภา ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่กำหนดให้พิจารณาร่างพ.ร.ป.ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และได้กําหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่ได้ทำให้ร่างดังกล่าวตกหรือเสียไปแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ และสมาชิกรัฐสภา สามารถกระทำตามกลไกรัฐสภาดังกล่าวนี้ได้ จึงมิได้เป็นการตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดเช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง