กนง.คงดอกเบี้ย ประคองศก.ฟื้น ช่วงเปราะบาง

“กนง.” มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ช่วยประคองเศรษฐกิจฟื้นตัว หลังประเมินภาพรวมพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ชี้เงินเฟ้อพุ่งแค่ปัจจัยชั่วคราวตามราคาพลังงาน คาดต้นปีหน้าทุเลา แนะเร่งมาตรการฟื้นฟูให้ตรงจุด เน้นสร้างรายได้

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3/2564 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศ รวมทั้งการเร่งกระจายวัคซีน ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง แต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอน

โดย กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ กนง.ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัว 0.7% และปี 2565 ขยายตัวได้ 3.9% โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 ที่ 1.5 แสนคน และปี 2565 ที่ 6 ล้านคน ส่วนจะมีการปรับประมาณการใหม่หรือไม่นั้น ที่ประชุม กนง.จะพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป ในเดือน ธ.ค.2564

"เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีพัฒนาการจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว อัตราการฉีดวัคซีนเร็วกว่าที่คาด แต่ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน ต้นทุนการผลิต ก็ไปหักลบ ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ในระยะต่อไป แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐจะแผ่วลง หลังจากที่ได้เร่งไปในช่วงก่อนหน้า ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” นายปิติระบุ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวตามปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลงในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่มีความเสี่ยงด้านสูงหากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ และข้อจำกัดด้านอุปทานในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี รายได้และกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

“แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง และมีความไม่แน่นอน โดยยังต้องติดตามพัฒนาการของการระบาดหลังการเปิดประเทศ และความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป” เลขานุการ กนง. กล่าว

นายปิติกล่าวว่า สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือน ซึ่งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้บางส่วน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้า จากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงเห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะหลังการเปิดประเทศ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง ส่วนมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง