แห่ศพรธน.ล้มบิ๊กตู่ มติ473:206ควํ่าร่างไอติม/ปิยบุตร-ทอนดิ้นเคลื่อนไหวต่อ

ล้ม-โละ-เลิก-ล้างระบอบประยุทธ์ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.จับมือผนึกแน่นคว่่ำร่างฯ 473 ต่อ 206 เสียง บิ๊กเหล่าทัพ 6 คนหายหัวไม่เข้าประชุม! "ปิยบุตร-ไอติม" กัดฟัน ไม่เลิกง่ายๆ พร้อมเคลื่อนไหวต่อ เอาแน่ พรรคใหญ่-เล็กเห็นพ้องส่อโละทิ้งไพรมารีโหวต

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ผลการลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่กลุ่มรีโซลูชั่นที่นำโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นแกนนำ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คนเป็นผู้เสนอ ที่เป็นการลงมติในวาระแรกขั้นรับหลักการ ซึ่งปรากฏว่าร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ทำให้ร่างตกไป

โดยที่ประชุมใช้วิธีการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เรียงรายบุคคลตามลำดับตัวอักษรในการลงคะแนนโหวตวาระรับหลักการ ใช้เวลายาวนาน 2.10 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 12.10 น. ภายหลังการขานชื่อลงคะแนนเสร็จทุกคนเรียบร้อยแล้ว นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งผลการลงคะแนนว่า ที่ประชุมรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วยคะแนน 473 เสียงต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม เนื่องจากมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือ 362 เสียง จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 723 คน ทั้งนี้ ในส่วนคะแนนรับหลักการ 206 เสียง เป็นของ ส.ส. 203 เสียง ส.ว. 3 เสียง คะแนนไม่รับหลักการ 473 เสียง เป็นของ ส.ส. 249 เสียง ส.ว. 224 เสียง ขณะที่คะแนนงดออกเสียง 6 เสียง เป็นของ ส.ส.และ ส.ว.ฝ่ายละ 3 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนผลการลงคะแนนไม่รับหลักการ 473 เสียงนั้น พบว่าเป็นเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดที่ลงมติไม่รับหลักการไปแนวทางเดียวกัน รวมถึงเสียงของ ส.ว.อีก 224 เสียง ตลอดจนเสียง ส.ส.งูเห่า พรรคก้าวไกลกลุ่มขาประจำ อาทิ นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี, นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเอกภพ เพียรวิเศษ ส.ส.เชียงราย, นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย

สำหรับผลลงคะแนนรับหลักการ 206เสียง พบว่าเป็นของพรรคฝ่ายค้านที่ลงมติรับหลักการไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด รวมถึงมีเสียงของ ส.ว.อีก 3 เสียง ที่ลงมติรับหลักการร่วมด้วย ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายมณเฑียร บุญตัน และนายพิศาล มาณวพัฒน์ ซึ่งนายเนาวรัตน์และนายพิศาลเป็น ส.ว. เคยลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 มาแล้ว

สำหรับคะแนนงดออกเสียง 6 เสียง นั้น เป็นฝ่าย ส.ส. 3 เสียงคือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในฐานะประธานรัฐสภา, นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย และเป็นของ ส.ว. 3 เสียง ได้แก่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา, นายเจน นำชัยศิริ และนายอำพล จินดาวัฒนะ ส่วน ส.ส.ที่ขาดประชุมมีทั้งหมด 38 คน มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว. โดยในส่วนส.ว. มีผู้ขาดประชุม อาทิ ผบ.เหล่าทัพทั้ง 6 คนที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ได้แก่ พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ., พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร., พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. รวมทั้งยังมีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ, ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ, พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, นายพีระศักดิ์ พอจิต, พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์, นายธานี อ่อนละเอียด, นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์

ด้าน ส.ส.ที่ขาดประชุม เป็นรัฐมนตรี 4คน ได้แก่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.จากหลายพรรคขาดประชุม อาทิ นายภาควัต ศรีสุรพล ส.ส.ขอนแก่น ลาประชุม เพราะติดเชื้อโควิด-19, นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย, นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง พรรคพลังประชารัฐ, นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ, นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ, นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์, นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์, นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์, นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ

ปิยบุตรปลุกใจอย่าเพิ่งสิ้นหวัง

หลังเสร็จสิ้นการลงมติ กลุ่ม Re-Solution นำโดยนายปิยบุตรและนายพริษฐ์ เปิดแถลงข่าวที่รัฐสภาถึงมติดังกล่าว

นายพริษฐ์กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐสภามีมติในการโหวตไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ตนและประชาชน 135,147 รายชื่อยื่นพิจารณาวาระที่ 1 เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง แต่ไม่ได้น่าผิดหวังในฐานะที่เป็นคนเสนอ แต่น่าผิดหวังตรงที่ข้อเสนอกลับไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติในสังคม อย่างที่ย้ำในการอภิปรายมาตลอดว่า ข้อเสนอของเราไม่ได้เป็นเรื่องสุดโต่งหรือพยายามที่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น

นายพริษฐ์กล่าวว่า คำว่า ควร สะกดด้วย ค. คือคืนศักดิ์ศรีให้สถาบันทางการเมือง ว. คือไว้ใจ ร่างของเราเป็นร่างที่ถูกคิดค้นบนพื้นฐานที่พยายามจะสร้างระบบการเมืองที่ไว้ใจประชาชน ให้เขามีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ร. คือระบบที่เป็นกลาง ที่ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะมีความคิดทางการเมืองแบบไหน ก็มีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน ในสนามเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ก็สามารถแข่งขันกันได้ภายใต้กติกาที่เป็นกลางและเป็นธรรม ในฐานะผู้ริเริ่มกฎหมายจะขอขอบคุณหลายๆ ส่วน ที่ได้แสดงเนื้อหาและอภิปรายในสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ท้ายที่สุดขอบคุณและขอโทษจากใจจริงกับประชาชนกว่า 1.3 แสนคนที่ร่วมเดินทางกับเราที่คาดหวังอยากให้ร่างของเราผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 แต่ภารกิจไม่สำเร็จ การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ผ่านมาเกือบจะ 3 ปี ตั้งแต่มีการเลือกตั้งปี 2562 มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 3 รอบ เปรียบเสมือน 3 ยก ร่างแก้ไขฉบับเดียวที่ผ่านเป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ

"นี่หรือคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้ว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน นี่หรือคือเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคกล่าวไว้ตอนเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่าเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมบริหารประเทศกัน ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากไม่แตะวุฒิสภา และกลไกสืบทอดอำนาจมันก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองปัจจุบันได้จริง" นายพริษฐ์หรือไอติมแถลงท่าที

ขณะที่นายปิยบุตรกล่าวว่า ในส่วนของการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่เคยมีที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการ ไม่เคยได้ผ่านเข้าไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ไม่เคยได้ผ่านไปถึงวาระที่ 3 เราคาดหวังว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะพิจารณาถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนนอกสภาแล้ว เราก็หวังใจว่าสมาชิกรัฐสภาจะเงี่ยหูฟังเสียงก่นร้องที่อยู่ข้างนอกสภาดังๆ บ้าง แต่แล้ววันนี้ผลการลงมติก็เป็นที่ชัดเจนว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เสียงข้างมากยังไม่ยินยอมเปิดประตูให้กับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน ยังไม่ยอมให้ผ่านไปในวาระที่ 1 กระบวนการที่พูดมานั้น เราเรียกกันว่าเป็นการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะประชาธิปไตยแบบผู้แทนแต่เพียงอย่างเดียวนั้นมันไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เรามีโอกาสที่ผู้แทนประชาชนอาจจะไม่ทำตามเจตจำนงความต้องการของประชาชนก็ได้ เราอาจจะมีโอกาสที่ผู้แทนของประชาชนบิดผัน บิดเบือนเจตจำนงของประชาชนก็ได้ นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงต้องมีระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้ามามีโอกาสใช้อำนาจโดยตรงของประชาชนมากขึ้นๆ แต่วันนี้ช่องทางเหล่านี้ก็ถูกปิดลงไปอีกแล้ว

"ประชาชนที่เข้าชื่อกับเรากว่า 1.3 แสนคนนั้น รวมทั้งที่สนับสนุนร่างเหล่านี้แต่อาจไม่ทันได้ลงชื่อ และพี่น้องประชาชนที่ฟังการอภิปราย 16 ชั่วโมง อย่าเพิ่งสิ้นหวัง พวกเรายังมีลมหายใจ พวกเรายังมีความคิด พวกเรายังมีกำลังที่จะรณรงค์ต่อไป ถ้าหากเราไม่เคลื่อนไหว ไม่รณรงค์ ไม่ผลักดันต่อไป พวกเขาก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบมาได้อย่างต่อเนื่องไปตลอดกาล จึงเป็นภารกิจของพวกเราประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริง เสียงจริง จำเป็นต้องรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้ต่อไป แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะล้มเหลวหรือล้มลงกี่ครั้งก็ตาม ต้องลุกขึ้นยืนกันใหม่ และต่อสู้ผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้จงได้” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตรกล่าวว่า ส.ส.ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของพวกเรา แม้จะเห็นด้วยไม่หมด หรือจะเห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม มีโอกาสแม้วันนี้ยังเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แต่อีกไม่กี่เดือน อีกไม่กี่ปี เราคงจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝากความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ส.ที่สนับสนุนแนวคิดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้จะนำไปออกแบบเป็นนโยบายและรณรงค์ผ่านการหาเสียงเลือกตั้งต่อไป และพวกเราประชาชนที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ก็จะได้ตัดสินใจลงคะแนนเลือกมาเป็น ส.ส. ได้เข้ามาเป็นเสียงข้างมาก แล้วมาช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้จงได้ต่อไป

เมื่อถามว่า แนวทางต่อไปจะมีการล่ารายชื่อในประเด็นที่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน หากคิดกันตกผลึกเรียบร้อยจะผลักดันเรื่องใดต่อไปจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป ทั้งนี้ประเมินการลงมติครั้งนี้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่คนตัดสินหรือควบคุม แต่เชื่อว่าสังคมหรือแม้กระทั่งสมาชิกรัฐสภาก็คงคาดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาหรือไม่อย่างไร เพราะว่าหลายเรื่องเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน หลายเรื่องการชุมนุมเขาก็เรียกร้องในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ จนถึงวันนี้ผ่านมาหลายปีแล้ว สำเร็จหรือไม่ประชาชนคงเห็นได้ เราแก้เพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างระบบเลือกตั้งเท่านั้น

โหนนำร่างฯ ไปหาเสียงรอบหน้า

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กถึงมติดังกล่าวโดยมีความสำคัญสรุปว่า วันนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “รื้อระบอบประยุทธ์” ถูกสมาชิกรัฐสภาปัดตก แต่ได้ปักธงทางความคิดที่สำคัญไว้ในสังคมไทยแล้ว การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ข้อเสนอของการมีสภาเดี่ยว ยกเลิกการมีอยู่ของวุฒิสภา ได้รับการถกเถียงในสภา และอย่างกว้างขวางในสังคม การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยึดโยงกับประชาชน

"เป็นธรรมดาของการถากถางทางใหม่ ที่จะยังไม่สำเร็จในเร็ววัน แต่อย่างน้อยวันนี้ พวกเราได้ร่วมกันกรุยทางทางความคิด ปักหลักวางฐานไว้ก่อน หนทางยังอีกยาวไกล เดินต่อไปด้วยความมุ่งมั่นร่วมกัน" นายธนาธรระบุ

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ถือว่าสูญเปล่า หากวันข้างหน้ามองย้อนกลับมาจะเห็นว่า วันนี้เป็น Golden moment หรือโอกาสทอง ที่ได้ถกแถลงเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ พรรคก้าวไกลจะนำข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากร่างของประชาชนนำไปเป็นนโยบายทางการเมืองในการหาเสียงต่อไป

เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น นายพิธากล่าวว่า เสียดายที่เมื่อมีโอกาสทองที่จะทุเลาความขัดแย้ง ในการนำมาหารือในสภา ส่วนอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น คงบอกไม่ได้ ซึ่งการเมืองนอกสภาจะร้อนหรือไม่ก็คงมีอีกหลายปัจจัย แต่ประชาชนได้เห็นแล้วว่า วันนี้ใครมีความจริงใจหรือไม่จริงใจแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ส่วนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่นั้น คงต้องไปหารือกันอีกครั้ง

เมื่อถามอีกว่า หากยังมี ส.ว.อยู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่นั้น นายพิธากล่าวว่า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ เราก็ยังมีความหวัง อีก 10 ปีข้างหน้าหากย้อนกลับมาในวันนี้ก็คงเห็นว่า เมื่อเรามีโอกาสทองในการที่เราจะได้มาถกแถลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากนี้พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้านคงต้องหารือกันว่าการเมืองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินไปอย่างไร

พรรค รบ.แจงเหตุผลสกัดคว่่ำ

ส่วนเหตุผลของพรรคร่วมรัฐบาลในการคว่ำร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐ บอกไว้หลังการประชุม ส.ส.พลังประชารัฐก่อนลงมติว่า วิปรัฐบาลมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนนั้นมีหลายมาตราเป็นเรื่องดี แต่ก็มีหลายมาตราที่มีเนื้อหาแหลมคมและอาจมีปัญหาในชั้นรับหลักการ เพราะหากรับหลักการไปแล้วจะไม่สามารถไปแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการ อย่างเช่นเรื่องบัตรการเลือกตั้ง ที่เสนอมาเป็นบัตรใบเดียว ดังนั้นทางวิปรัฐบาลจึงมีแนวคิดว่าหากภาคประชาชนเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมัดรวมมาแบบนี้อาจรับหลักการไม่ได้ จึงมีความเห็นว่าไม่น่าจะรับหลักการ ส่วนที่มีข้อกังวลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจะเพิ่มอุณหภูมิทางการเมือง คิดว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นการเสนอกฎหมายปกติ ซึ่งหากภาคประชาชนต้องการที่จะเสนอในประเด็นใด ควรแยกร่างออกมาไม่มัดรวม เพื่อทำให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาตัดสินใจง่ายขึ้น แต่ไม่สามารถเสนอได้ในสมัยประชุมนี้

ส่วนนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรค แถลงไว้ว่า ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อร่างที่เสนอมา คือองค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้มีองค์ประกอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 3 คน, ส.ส.รัฐบาล 3 คน และจากที่ประชุมศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด 3 คน ซึ่งยังมีเป็นปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องความซ้ำซ้อนอำนาจอธิปไตยและเผด็จการรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าโดยหลักข้อบังคับ หากรับหลักการจะไม่สามารถแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการ สารบัญญัติหลายประเด็นยังไม่ชัดเจน และกระบวนการภาคประชาชนยังมีโอกาสเสนอเข้ามาอีก โดยอยากขอให้ดำเนินการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นจริงได้ แต่ครั้งนี้เป็นการชกหมัดตรงไปยังผู้ลงมติโดยตรง คือการเสนอยุบวุฒิสภา ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรายืนยันเป็นผู้นำในการดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย แต่ในกรณีนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถรับหลักการได้

นายนิกร จำนง วิปรัฐบาลจากพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า วันที่ 18 พ.ย. ได้นัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณารายละเอียดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ซึ่งเตรียมแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ที่มีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะทำงาน เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะรวมเสียงเพื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.เป็นฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และไม่ให้เกิดความวุ่นวายในการพิจารณาในชั้นของรัฐสภา อีกทั้งทราบว่าคณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างแก้ไขในส่วนของรัฐบาลด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำ

นายนิกรกล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นประเด็นที่ทุกพรรคการเมืองพบปัญหาไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการกำหนดให้มีการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) ผ่านตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดหรือเขตเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่เจอปัญหา ทั้งค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้องกับบริบททางการเมือง เบื้องต้นอาจนำเนื้อหาของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 กันยายน 2561 ซึ่งเคยนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาชั่วคราวมาพิจารณาด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง