บิ๊กตู่ปลื้ม‘จีดีพี-ท่องเที่ยว’ อิ๊งค์แนะกิโยตีนกฎหมาย

“นายกฯ” ยิ้มธนาคารโลกยกไทยมีจีดีพีพุ่ง สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัว   พร้อมปลื้มคว้ารางวัลที่พักจาก Agoda 4 ปีติด ชี้ชัดการท่องเที่ยวไทยกลับมา   “นฤมล” แนะรัฐเร่งเครื่องลงทุนหวั่นฉุดการฟื้นตัว “อิ๊งค์” เห็นต่างอ้างในฐานะผู้ประกอบการการท่องเที่ยวยังซบ เหตุเพราะไม่มีรากฐานดีแล้วมาเจอวิกฤตซ้ำ

 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่รายงาน Thailand Economic Monitor ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยธนาคารโลก ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2565 โดยระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวถึง 4.5% สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และเกินจากที่คาดไว้ โดยถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพ

 “นายกฯ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อเศรษฐกิจของประเทศ จนเห็นผลสำเร็จเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้ ยังได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน มั่นใจว่าไทยจะฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน” นายอนุชากล่าว

นายอนุชายังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังยินดีที่ในการประกาศรางวัล 14th annual Agoda Gold Circle Awards (GCA) ไทยเป็นประเทศที่มีที่พักได้รางวัลมากที่สุด จากแพลตฟอร์มจองที่พักยอดนิยม Agoda โดยประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีมาตรฐาน เป็นอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง พร้อมปรับตัว และเป็นที่นิยมในกระแสโลก

 “นายกฯ ชื่นชมถึงศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเกิดจากการทำงานอย่างหนักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมมือกันช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยจนสามารถผ่านพ้นวิกฤตมาเข้าสู้ช่วงความฟื้นฟูด้วยกันได้” นายอนุชากล่าว

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้น พ.ย.2565 เริ่มเห็นสัญญาณบวกของภาคเอกชน ทั้งการบริโภค และภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีเกินคาด รวมถึงตัวเลขการส่งออก แต่ปรากฏว่าการลงทุนของภาครัฐกลับหดตัว 

ศ.ดร.นฤมลระบุว่า เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ควรเร่งทำ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. เร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพิ่ม และเตรียมแผนแรงงานรองรับภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจภาคบริการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว 2.เร่งขยายตลาดเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตร และ 3.เร่งเครื่องการลงทุนภาครัฐ โดยต้องออกจากกรอบแนวคิดเพียงแค่การกู้เพื่อมาลงทุนในงบประมาณ เพราะจะติดข้อจำกัดเพดานหนี้สาธารณะ ต้องใช้กลไกการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน หรือ PPP ให้มากกว่าที่ทำอยู่ และใช้ศักยภาพของตลาดทุนไทยด้วยการระดมทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการพัฒนาประเทศ

ส่วน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ว่าในฐานะผู้ประกอบการเหมือนกัน การท่องเที่ยวบ้านเรายังไม่ฟื้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตั้งแต่ก่อนโควิด-19 การท่องเที่ยวไม่มีรากฐานที่แข็งแรงมากพอ เมื่อเจอวิกฤตจึงล้มลง และยากที่จะฟื้นฟูให้เป็นเหมือนเดิม

น.ส.แพทองธารโพสต์อีกว่า ถ้ารัฐบาลในสมัยหน้ามองการณ์ไกล หรือรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จนไม่ทำให้การท่องเที่ยวไทยต้องตกหลุมตกบ่อ ชะงักงันขนาดนี้ มี 4 เรื่องที่ต้องทำคือ 1.อ่านเทรนด์โลกให้ขาด เพราะแต่เดิมภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวไทยพึ่งตลาดจีนกว่า 60% แต่พอมีนโยบาย Zero-Covid ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถมาเที่ยวเมืองไทยได้ การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที ทุกวันนี้คนเราหันมาสนใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 ถ้าประเทศไทยสามารถปักหมุดเรื่องนี้ เท่ากับเราสามารถกำลังดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามา

2.สร้างแรงงานให้พร้อม ไทยเรามีแรงงานด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1.4 ล้านคน แต่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องลดพนักงานลง แต่ถ้าไทยจะปักหมุดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ควรส่งเสริมและสนับสนุนภาคการศึกษาเพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับธุรกิจนี้ หรือจะเจรจาเพื่อนบ้านเพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้นในบางสาขางานของอุตสาหกรรมนี้ 3.กิโยตินกฎหมาย กฎหมายไทยเราซับซ้อนมากเกินไป แต่ละหน่วยงานมีระเบียบของตัวเอง บางระเบียบก็ขัดแย้งกัน กฎหมายอะไรที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย ควรยกเลิก  เพราะกฎหมายนอกจากทำหน้าที่ควบคุมระเบียบสังคมแล้ว ก็ควรเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการทำธุรกิจด้วย และ 4.สร้างการตลาดทำให้คนทั่วโลกเชื่อมั่นและมั่นใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งเดิมมี Sea Sand Sun แต่ถ้าเราเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวให้มากกว่าแค่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็นธรรมชาติ+สุขภาพ+วิทยาศาสตร์ แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ จะสร้างมูลค่าได้เพิ่มอีกมาก

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้พูดแค่ในฐานะผู้ประกอบการนะคะ แต่อยากลองแชร์ไอเดียในฐานะคนหนึ่งคนที่อยากเห็นการท่องเที่ยวของประเทศไทยดีขึ้นทั้งระบบด้วย เพราะทุกคนในระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่างก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย เหมือนที่พรรคเพื่อไทยเสนอไว้ว่าในปี 2570 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยจะต้องกลายเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของโลก สร้างงานสร้างรายได้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท” น.ส.แพทองธารระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง