“วันนอร์” พลิกเตรียมชำเรารัฐธรรมนูญก่อนกลาง ต.ค. “ชูศักดิ์” ขยันจัดเตรียมชงแก้ไขกฎหมายลูก รีบปัดไม่เกี่ยวกับเอื้อนายใหญ่ อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ “ภูมิธรรม” บอกสัปดาห์หน้าหารือพรรคร่วมให้ตกผลึกว่าจะแก้ไขเรื่องใด “ภท.-รทสช.” ส่งเสียงแล้ว บอกรื้อเรื่องมาตรฐานจริยธรรมสุ่มเสี่ยง “พริษฐ์” ท่องคาถาต้องไม่ให้องค์กรอิสระผูกขาดอำนาจ “อดีตเด็ก ปชป.” ซัดทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะ “พท.-ปชน.” มีคดีค้างอยู่
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ย.2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอมาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. แต่เมื่อได้รับแล้วฝ่ายกฎหมายกับกองงานประชุมก็จะเสนอเข้ามาเพื่อดำเนินการบรรจุระเบียบวาระ โดยขั้นตอนต่อไปจะเชิญประชุมผู้แทนรัฐบาลกับวิปสามฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อนัดวันที่ชัดเจนในการพิจารณา ซึ่งเดิมบอกว่าจะประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในช่วงกลางเดือน ต.ค. แต่หากเสร็จเรียบร้อยอาจพิจารณาก่อนกลางเดือน ต.ค.ก็ได้ เพราะขณะนี้ร่างแก้ไขฯ ของฝ่ายค้านยื่นมาหมดแล้ว
เมื่อถามว่า วันที่ 25 ก.ย.จะยังประชุมร่วมกันของรัฐสภาอยู่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่มี เพราะหากจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าวก็ไม่ทัน เนื่องจากต้องบรรจุระเบียบวาระก่อนล่วงหน้า 5 วัน
ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงการเตรียมยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ว่า จะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา และพิจารณาในรัฐสภา โดยจะแก้ไขในหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. จึงทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ คิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรคควรเปิดกว้างให้กับทุกคน
เมื่อถามว่า การแก้ไขนี้เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นสมาชิกพรรค พท.ได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกับใคร หรือหมายถึงใคร คิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย ก็ไม่ต้องไปพูดว่าหมายถึงใครยังไงอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วในอดีต เพียงแต่ สว.ไม่เห็นด้วย ส่วน สว.ปัจจุบันจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ว่าในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะไปดูการแก้เรื่องยุบพรรค การครอบงำพรรค ว่าจำกัดไว้อย่างไรให้เหมาะสม โดยเรื่องการยุบพรรคเราก็จะเน้นไปที่เรื่องเฉพาะการล้มล้างการปกครอง ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่เอาถูกยุบพรรค ส่วนเรื่องการครอบงำก็จะปรับว่าจะทำอย่างไรให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่อะไรๆ ก็ครอบงำหมด
เมื่อถามว่า กังวลข้อหาหรือไม่ว่าการแก้ไขกฎหมายจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง นายชูศักดิ์ระบุว่า ขอย้ำว่าเราทำกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมพอสมควร พูดง่ายๆ คนที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญาท้ายที่สุดเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ เป็นธรรมหรือไม่ ถ้ามาตั้งคำถามว่าแก้เพื่อตัวเองอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็ตั้งคำถามได้หมด
ชงแก้กฎหมายลูก
นายชูศักดิ์ยังกล่าวว่า จะยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ว่าจะแก้ในบางประเด็น กรณีแรกคือมีความผิดบางประเภทที่ ป.ป.ช.สั่งไม่มีมูลหรืออัยการสูงสุด (อสส.) สั่งไม่ฟ้อง ก็ให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายซึ่งเคยยื่นมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดมีข้อทักท้วงบางประการก็นำกลับมาแก้ และขณะนี้ก็จะแก้ใหม่ พร้อมทั้งแก้เรื่องอื่นๆ ไปด้วย เช่น เรื่องอำนาจฟ้องเองของ ป.ป.ช. เรามองว่ากรณีที่ ป.ป.ช.มีคำสั่งว่ามีมูลหรือฟ้อง แต่ อสส.สั่งไม่ฟ้อง ตั้งกรรมการร่วมกันก็บอกว่าไม่ฟ้อง แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช.ก็ไปฟ้องเอง ซึ่งหากเป็นแบบนี้เราก็มองว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่สอบสวนฟ้องร้องได้เองหมด ทำให้ขัดต่อหลักการคานอำนาจ
“อีกกรณี บางเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว ควรมีกำหนดเวลาในการรับเรื่องเพื่อทำให้ชัดเจน โดยขอบเขตระยะเวลาในการไต่สวนว่าควรเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะมีระยะเวลาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ไม่ใช่สอบไปเรื่อยๆ 10-20 ปี บางทีชี้มูลไปแล้วตอนเกษียณ เช่นอาจกำหนดไว้ 5 ปีก็ได้ ซึ่งการแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไปด้วย และ ป.ป.ช.คาดว่าสัปดาห์หน้าจะยื่นได้พร้อมๆ กัน” นายชูศักดิ์กล่าว
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการหารือพรรคร่วมรัฐบาลกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ได้ให้เลขาฯ ประสานกับหัวหน้าพรรคเพื่อพูดคุยภายในสัปดาห์หน้า ก่อนวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. โดยจะเลือกวันที่ว่างพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นการหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อพูดคุยประเด็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือปัญหาบางส่วน ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราจะเป็นทางออกที่ช่วยได้ โดยต้องหารือว่ามีประเด็นใดบ้างที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ก็จะเป็นฉันทามติ เพราะทุกฝ่ายต้องเห็นปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง
ส่วนแนวโน้มพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นตรงกันหมดหรือไม่ในการแก้รัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ส่วนการแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมนั้น ทุกพรรคเห็นว่ามีหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไข ประเด็นที่เห็นต้องพ้องกันทั้งหมด จะเป็นเรื่องง่ายที่สุด ส่วนประเด็นที่เห็นต่างก็ต้องคุยกันให้จบ เช่นเดียวกับการแก้ไขอำนาจองค์กรอิสระ ก็ต้องหารือกับทุกคน เพราะเราเป็นรัฐบาลพรรคร่วม ดังนั้นการจะจัดการกับหน่วยงานหรือแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม ก็ควรเป็นการหารือกันทั้งหมด ขอเวลาคุยในสัปดาห์หน้าก็จะชัดเจน และจะประสานเข้าที่ประชุมสภาได้ ทั้งนี้ ต้องไปดูกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไร
เมื่อถามว่า ต้องคุยกับพรรคภูมิใจไทยเป็นพิเศษหรือไม่ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับ สว. นายภูมิธรรมระบุว่า ไม่พิเศษ คุยปกติ ถ้าเห็นว่าสิ่งใดเป็นปัญหาก็แก้ได้ เพราะการแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้นต้องมีความหวังและใช้ความพยายาม เราจะประสานกับวิป สว.ด้วย เพราะ สว.เป็นส่วนหนึ่งในการที่แก้ไขปัญหา คิดว่าจะพยายามประสานทุกฝ่าย ซึ่งหากทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็จะเป็นเรื่องดีที่สุด ถ้าไม่เห็นพ้องต้องกันต้องดูที่เหตุผล และทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายว่าจะต้องใช้เสียงอะไรอย่างไร
เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญในชั้นนักการเมืองจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในชั้นทำประชามติจากประชาชนจะมั่นใจหรือไม่ เพราะแก้เพื่อประโยชน์นักการเมืองฝ่ายเดียว นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในทางปฏิบัติพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเรื่องอะไรที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหา สิ่งสำคัญไม่ใช่แก้เพื่อตัวเอง แต่เป็นการแก้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบ และการดำเนินการต่างๆ ให้ยุติธรรม ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองที่จะนำมาประหารกัน เป็นเรื่องที่เราพยายามทำให้ระบบการตรวจสอบทั้งหลายเกิดการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เห็นประเด็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นในการตัดสินปัญหาต่างๆ
ภท.-รทสช.เริ่มเห็นต่าง
เมื่อถามว่า จะเข้าทางนิติสงครามหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่อกระทำผิดกฎหมายเปิดช่องให้ยื่นตรวจสอบคนแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรมบอกด้วยว่า ไม่ต้องห่วงว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นนิติสงคราม เอาความตั้งใจ ปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง ถ้าเราตั้งใจปรารถนาดี และดูข้อกฎหมายครบถ้วน ทุกอย่างก็เดินหน้าได้และปรับปรุงแก้ไขได้ สิ่งที่รัฐบาล หรือฝ่ายค้านสร้างไว้ ไม่ว่าใครก็ตามต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง อะไรที่แก้ไขแล้วเป็นสิ่งที่ดีขึ้นต้องแก้ไขได้ อะไรที่เหมาะสมกับยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนยุคสมัยแล้วไม่สอดคล้องก็ต้องแก้ไข ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะทำควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ขณะนี้กำลังรอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติในที่ประชุมวุฒิสภา และรอให้มีผลบังคับใช้
ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญกรอบจริยธรรมของนักการเมืองและกรอบอำนาจองค์กรอิสระว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีคำถามว่าจริยธรรมเป็นไม้บรรทัดที่ต้องเข้มงวดกับนักการเมืองหรือไม่ ประชาชนมีมุมมองแบบไหน เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือไม่ นักการเมืองมองแทนประชาชนไม่ได้ คนพูดต้องเป็นประชาชน ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบ ต้องแก้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนเลือก ส.ส.ร.เขียนกติกา รวมถึงจริยธรรมด้วย จะเข้มงวดแค่ไหน ถึงขั้นระดับศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาเลยหรือไม่
“ผู้มีส่วนได้เสียไปพูดสังคมไม่ฟัง เรื่องนี้คุยกับเพื่อน สส.บอกว่าอันตรายและเซนซิทีฟ ควรทำประชามติ ทำประชามติทั้งทีควรทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ตั้ง ส.ส.ร.แก้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดีกว่าแก้เฉพาะ 2 ประเด็น พรรค ภท.ถึงไม่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายภราดรกล่าว
นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และผ่านการทำประชามติของประชาชน หากจะเป็นการแก้รายมาตรา ก็ควรแก้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน หรือแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อนจะดีกว่า โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) (5) มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันบุคคลที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง หากมีการแก้ไขตรงนี้ หรือทำให้เบาลง อาจเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้เข้ามามีอำนาจได้
“กรอบของคำว่าจริยธรรมในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นด่านพิสูจน์เพื่อใช้กลั่นกรองบุคคลที่จะก้าวเข้าสู่อำนาจว่าเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ เป็นการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น ถ้ารัฐสภาทั้ง สส.และ สว.ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมดังกล่าว อาจถูกสังคมและประชาชนมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง แก้เพื่อนักการเมืองเสียเอง และหากถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบอาจส่อไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายได้ จึงควรคิดพิจารณาให้รอบคอบ” นายธนกรระบุ
ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวในโครงการเสวนาวิชาการหัวข้อ “ทบทวนรัฐธรรมนูญ 2560 สู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เกณฑ์ที่จะใช้วัดว่าเราแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ มี 2 เกณฑ์คือ ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและโดยเร็วที่สุด เพราะหากเราทำเพียงแค่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยไม่สนใจเรื่องความชอบธรรม คิดว่าก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้
ย้ำหั่นอำนาจองค์กรอิสระ
นายพริษฐ์ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรค ปชน.มองว่ามีความสำคัญ เร่งด่วนและเป็นไปได้จริง ว่าได้เดินหน้าแล้ว 2 แพ็กเกจ โดยแพ็กเกจแรกคือการลบล้างผลพวงรัฐประหาร และแพ็กเกจที่สองคือการตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ โดยการตีกรอบอำนาจเรื่องของการยุบพรรคการเมือง ที่จะพยายามทำให้พรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น คือการทำให้พรรคการเมืองเกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก ส่วนการตีกรอบอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปนิยามว่าอะไรคือมาตรฐานจริยธรรม และนำคำนิยามนั้นไปบังคับใช้ทุกองค์กร
“สิ่งที่เรากังวลคือการผูกขาดอำนาจมาตรฐานจริยธรรมในลักษณะนี้ ขณะที่การได้มาซึ่งองค์กรอิสระก็มีการตั้งคำถามว่า จะสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริงหรือไม่ และเป็นการไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้บทบัญญัติเหล่านี้ก่อให้เกิดการตีความกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่เป็นธรรม สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เรื่องจริยธรรมจะถูกใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง” นายพริษฐ์กล่าว
นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่) พ.ศ….. วุฒิสภา กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.ได้พิจารณาเนื้อหาทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อย และมีการแก้ไขในประเด็นของถ้อยคำเท่านั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ได้เชิญ สว.ที่เสนอคำแปรญัตติ จำนวน 3 คน มาชี้แจงต่อที่ประชุม ทั้งนี้ มีเพียงผู้แปรญัตติ 1 คนที่ติดใจและสงวนความเห็นไว้ไปอภิปรายต่อที่ประชุม ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติ 2 ชั้น ทั้งนี้ กมธ.ไม่เห็นด้วย และให้ยืนตามร่างพ.ร.บ.ที่สภาเห็นชอบมา โดยสัปดาห์หน้า กมธ.จะนัดประชุมครั้งสุดท้าย เพื่อทำรายงานและตรวจทาน ก่อนจะส่งให้ประธานวุฒิสภาบรรจุวาระพิจารณา เบื้องต้นคาดว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ช่วงวันที่ 1 ต.ค.นี้
ส่วนนายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ตรรกะวิบัติของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในกรณีให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี โดยระบุว่าผู้ที่กระทำความผิดตอนที่เป็นเด็กอายุก่อนถึง 18 ปี มีประวัติอาชญากร ยังให้เป็นผู้พิพากษาได้เลย ว่าไม่เถียงเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสากลของเด็กและเยาวชน แต่ไม่เห็นว่าเกี่ยวอะไรกับเรื่องจริยธรรมของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีตามที่ พ.ต.อ.ทวีหยิบยกมากล่าวอ้าง ซึ่งสิ่งที่ พ.ต.อ.ทวีแสดงความเห็น สะท้อนถึงตรรกะวิบัติของคนเป็น รมว.ยุติธรรม ซึ่งควรมีความรู้เรื่องกฎหมายดี แต่กลับตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง เพราะประโยชน์บังตา คิดแต่จะกำจัดอุปสรรคในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองสีเทา จนหน้ามืดอ้างข้อกฎหมายที่ไม่สามารถเทียบเคียงกันได้
เตือนจุดจบไม่สวย
“ความกระสันของนักการเมืองที่จับมือกันจะแก้มาตรฐานจริยธรรมของคนเป็นรัฐมนตรีให้ได้ ตอกย้ำว่า สส.ที่ควรเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ยังคงทำหน้าที่ได้แค่เป็นตัวแทนของฝ่ายการเมือง ให้ความสำคัญกับการรักษาประโยชน์ของตัวเองมากกว่าการแก้ปัญหาของประชาชน และขอเตือนไว้เลยว่า เริ่มต้นแบบนี้จะทำให้รัฐบาลมีจุดจบไม่สวย ซึ่งจะโทษใครไม่ได้เลยนอกจากตัวเองรนหาที่เอง” นายเชาว์ระบุ
อดีตรองโฆษกพรรค ปชป.ระบุด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับการสุมหัวของนักการเมืองเพื่อแก้ไขกฎหมาย รัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเท่าที่มีอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ได้เดือดร้อนใคร นอกจากคนบางคนที่กำลังมีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรม โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเคยถูกพิษจริยธรรมเล่นงานจนเป็นเหตุให้นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องกระเด็นจากเก้าอี้ จึงต้องรีบแก้เพราะนายกฯ คนปัจจุบันของพรรคเพื่อไทย มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรม ทั้งตนเองและแต่งตั้งบุคคลบุคคลอื่น ซึ่งไม่แน่อาจกระเด็นซ้ำรอยอดีตนายกฯ เศรษฐาหรือไม่ ขณะที่พรรคประชาชนที่ร่วมประสานเสียงเล่นด้วย ก็เพราะยังมีประเด็นเกี่ยวกับ 44 สส.พรรคก้าวไกลที่ถูกยุบพรรค มีผลต่อเนื่องตามมาจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีพฤติกรรมล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงด้วยหรือไม่ การจับมือกันเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมของสองพรรคใหญ่ จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากประโยชน์ส่วนตน มากกว่าผลประโยชน์ของชาติ
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องบัตรเชิญ ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่มันก็มีหลัก ไม่ใช่คิดจะแก้เพราะขัดอำนาจพวกตนก็จะแก้ได้
อ.ชูศักดิ์เร่งเดินหน้าเรื่องรัฐธรรมนูญ มันมองออก 2 แนว 1.เดินหน้าจริงจัง มันจะกลายเป็นใช้อำนาจเพื่อนายใหญ่ มันจะกลายเป็นอีก 1 เทียบเชิญให้ประชาชนไม่พอใจ เพราะไม่มีใครมั่นใจได้ว่า พรรคเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนคนไทย แต่ทุกคนมองเห็นแค่แก้เพื่อทักษิณ และ 2.เป็นการพูดเพื่อเบี่ยงประเด็นการเมืองจากความไร้ภาวะผู้นำของนายกฯ และเรื่องเงินดิจิทัล จะอย่างไรก็แล้วแต่ มันเป็นกองกฐินอีกกองไปแล้ว เตรียมไปทอดกฐินรัฐธรรมนูญกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม