ขอพรให้ศก.ปังๆ เตือนขี้เมาซิ่งรถ โดนจับโทษหนัก

อุบัติเหตุผ่าน 2 วันแรกช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ เกิดอุบัติเหตุ 715 ครั้ง เสียชีวิต 85 ราย บาดเจ็บ 714 คน “ขับรถเร็ว” สาเหตุหลัก “ศปถ.” กำชับจังหวัดตั้งจุดตรวจชุมชนเส้นทางสายรองป้องกันฉลองเมาแล้วขับ “บิ๊กตู่” ห่วง ปชช. ย้ำ จนท.ดูแลเข้มงวด “รองโฆษก รบ.” เตือนขี้เมาซิ่งรถโดนจับโทษหนัก “โพล” เผยคนไทยขอพรปีใหม่ให้ ศก.ปังๆ

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี (ศปถ.) แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธ.ค.2565 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ว่า เกิดอุบัติเหตุ 366 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 363 คน ผู้เสียชีวิต 48 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.52 ดื่มแล้วขับ 25.68% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 78.98% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 83.88% ถนนกรมทางหลวง 42.35% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 34.15%

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-17.00 น. 8.20% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20-39 ปี 17.76% จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,881 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 55,926 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 404,179 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 67,381 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 19,831 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 19,054 ราย ขับรถเร็วเกินกำหนด 7,544 ราย ดื่มแล้วขับ 4,303 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สกลนคร 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 18 ราย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี 4 ราย

ทั้งนี้ สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ วันที่ 29-30 ธ.ค.65 เกิดอุบัติเหตุรวม 715 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 714 คน ผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 31 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สกลนคร 26 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สกลนคร 29 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี 6 ราย

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า วันที่ 31 ธ.ค. เป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมและจัดงานสังสรรค์ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้า-ออกชุมชน ถนน อบต.และหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว พร้อมกวดขันกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ให้สวมหมวกนิรภัยและไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนอง รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์และรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารในลักษณะเสี่ยงอันตราย เพื่อสร้างการสัญจรปลอดภัยให้กับประชาชน

ด้านนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในวันที่ 2 ของการควบคุมเข้มงวดวันที่ 30 ธ.ค.65 มีคดีทั้งสิ้น 1,507 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 1,433 คดี, คดีขับรถประมาท 2 คดี, คดีขับเสพ 72 คดี ซึ่งจังหวัดนนทบุรี มีสถิติคดีเมาขับสะสมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง 120 คดี รองลงมา สมุทรปราการ 105 คดี และกรุงเทพมหานคร 92 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่งานคุมประพฤติในวันที่ 2 ของเทศกาลปีใหม่ 2565 และปีใหม่ 2566 พบคดีขับรถขณะเมาสุราปี 2565 จำนวน 575 คดี และปี 2566 จำนวน 1,433 คดี เพิ่มขึ้น 858 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.9

“ผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงจากการติดสุรา จะส่งบำบัดรักษาตามสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหากพบว่ามีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำสูง จะส่งไปแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระยะเวลา 3 วัน และยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคมที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ” อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าว

ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 และมาตรการป้องกันปราบปรามฯ ประชุมติดตามสถานการณ์การจราจรและอุบัติเหตุช่วงปีใหม่

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ได้กำชับให้พื้นที่มีการเกิดอุบัติเหตุปรับแผนและลงพื้นที่แก้ไขปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุปีใหม่ กวดขันวินัยจราจร ดื่มแอลกอฮอล์ ขับรถเร็ว แสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วน เพิ่มความเข้มในการตรวจตรา ด่านตรวจถาวร/มั่นคง การตั้งจุดตรวจ จุดสกัด สถานที่จัดงานจะต้องไม่แออัด บริหารจัดการพื้นที่ให้เส้นทางการระงับเหตุ เส้นทางการบริการหรือเหตุฉุกเฉิน แสดงกำลังกวดขันสถานบริการ การเล่นพลุและดอกไม้เพลิง การยิงปืนขึ้นฟ้าและการป้องกันเหตุร้ายในพื้นที่ที่มีประชาชนจำนวนมากหรือสถานที่สำคัญ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ นำไปสู่การบาดเจ็บและอาจถึงขั้นสูญเสียชีวิต รัฐบาลได้ออกมาตรการและเตรียมพร้อมเรื่องการจราจร เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกประกาศแนะเรื่องกฎหมายต้องรู้ กรณีเมาแล้วขับว่า บุคคลทั่วไปที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาแล้วขับ หากปฏิเสธการเป่าตรวจวัดแอลกอฮอล์ ถือว่าเท่ากับเมา

สำหรับกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ได้มีการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำกรณีเมาแล้วขับ โดยกำหนดบทลงโทษผู้เมาแล้วขับ ดังนี้ 1.ทำผิดครั้งแรก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท 2.ทำผิดซ้ำข้อหา "เมาแล้วขับ" ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท โดยศาลจะลงโทษจำคุก และปรับด้วย พร้อมถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ 3.เมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ เสียชีวิต โทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประะยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการป้องกัน รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาไว้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องพร้อมรายงานเหตุการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบทันที เพื่อประเมินระดับความรุนแรง ผลกระทบ จะได้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที รวมทั้งอยากขอร้องให้ประชาชนระมัดระวัง ไม่ประมาท โดยเฉพาะการใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ รวมถึงผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรค ยังคงต้องป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัดหรือมีผู้คนจำนวนมาก

วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “พรปีใหม่ 2566 ที่คนไทยอยากขอ” พบประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.4 ขอให้ธุรกิจ เศรษฐกิจในประเทศปังๆ รองลงมาคือ ขอให้คนไทยสุขภาพดี แข็งแรง ไม่มีโรคภัย คิดเป็นร้อยละ 48.1, ขอให้บ้านเมืองสงบสุข คนไทยรักและสามัคคีกัน คิดเป็นร้อยละ 46.9, ขอให้โควิด-19 หมดไปจากประเทศไทยเสียที คิดเป็นร้อยละ 41.9 และขอให้ข้าวของไม่แพง ค่าครองชีพไม่สูง คิดเป็นร้อยละ 35.9, ขอให้ยาเสพติดหมดไปร้อยละ 34.4, ขอให้น้ำมันถูกลงกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 30.9, ขอให้โรคติดต่อร้ายแรงแบบโควิด-19 ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ร้อยละ 24.5, ขอให้การท่องเที่ยวคึกคักขึ้น คนไทย ชาวต่างชาติมาเที่ยวมากขึ้น ร้อยละ 24.4, ขอให้ร่ำรวยเงินทอง ร้อยละ 19.9 อื่นๆ อาทิ นักการเมืองทุจริตหมดไป ไม่อยากให้กัญชาเสรี ไม่มีเรื่องอยากขอ ร้อยละ 10.9.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ด.ต.ปิยนันท์' ถูกชนสาหัส ถึงรพ.ตำรวจแล้ว พบเลือดคั่งในสมองจ่อผ่าตัดรอบสอง

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) นำขบวนรถส่งตัว ด.ต.ปิยนันท์ สีเสื้อ หรือดาบต้าร์ อายุ 39 ปี ผู้บังคับหมู่สถานีตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวง จากโรงพยาบาลจังหวัดลพบุรีมา

ผู้ช่วยผบ.ตร. พอใจอุบัติเหตุลดลง คาดวันนี้เดินทางกลับสูงสุด 6 แสนคัน

พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการจราจรและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลประจำปี 2567 ร่วมกับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ทั่วประเทศ

4 วันอันตรายสงกรานต์! สังเวย 162 ศพ 'เมืองคอน' แชมป์อุบัติเหตุ

พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

ผ่าน 3 วันสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 936 ครั้ง เสียชีวิต 116 ราย บาดเจ็บ 968 คน

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำ