แนวโน้มดีขึ้น 7วันอันตราย 'ตาย-เจ็บ'ลด

ผู้ช่วย ผบ.ตร.เผยสถิติ 6 วันอันตรายมีแนวโน้มลดลงในทุกมิติ ขณะที่กรมคุมประพฤติ​เผย​ 6 วันเมาแล้วขับสะสม 6,992 คดี ย้ำมาตรการเข้มแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุและการบังคับใช้กฎหมายเทศกาลปีใหม่ 2566 ประจำวันที่ 3 ม.ค.66 (วันที่ 6 ของการควบคุมเข้มข้น) ในภาพรวม สามารถลดสถิติอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี มากกว่าร้อยละ 5 ซึ่งถือว่า 6 วันที่ผ่านมา สำเร็จตามค่าเป้าหมาย ดังนี้การเกิดอุบัติเหตุ สะสม 6 วัน (29 ธ.ค.65-3 ม.ค.66) จำนวน 2,201 ครั้ง ลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีใหม่ 65 จำนวน 297 ครั้ง (-11.89%) และลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี จำนวน 676 ครั้ง (-23.50 %), ผู้เสียชีวิต สะสม 6 วัน (29 ธ.ค.65-3 ม.ค.66) จำนวน 282 ราย ลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีใหม่ 65  จำนวน 30 ราย (-9.62%) และลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี จำนวน 54 ราย (-16.07%), ผู้บาดเจ็บ สะสม 6 วัน (29 ธ.ค.65-3 ม.ค.66) จำนวน 2,197 คน ลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีใหม่ 65  จำนวน 273 คน (-11.05%)  และลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี จำนวน 691 คน (-23.93 %)

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้บังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก รวม 6 วัน 441,288 ราย มากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลังถึง 88.26% โดยข้อหาสำคัญ ได้แก่ เมาแล้วขับ 20,040 ราย, ขับรถเร็วเกินกำหนด 168,454 ราย, ไม่สวมหมวกนิรภัย 87,191 ราย, ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย 24,612 ราย จำนวนอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช 76 ครั้ง เสียชีวิตสูงสุดในพื้นที่ จ.เชียงราย 13 ราย โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ร้อยละ 37.71 และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสูงสุดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 60.59

พล.ต.ท.ประจวบกล่าวต่อว่า ผลการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในภาพรวมทั้งประเทศ ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีใหม่ 2565 และยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พอใจผลการอำนวยการจราจรที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งปีนี้ แม้จะมีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนามากกว่าปีก่อนๆ ส่งผลให้ปริมาณรถมีจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยก็ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ดูแลและจัดการจราจร อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ โดยได้ฝากขอบคุณข้าราชการตำรวจทุกนายที่ได้เสียสละร่วมกันดูแลและจัดการจราจร และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่ จนเกิดผลสัมฤทธิ์และได้รับคำชมเชยจากหลายภาคส่วน

“ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่และทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุและการสูญเสีย สังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากอาชญากรรมทุกประเภท” พล.ต.ท.ประจวบกล่าว

ด้านนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ (3 ม.ค. 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,453 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา 2,379 คดี,  คดีขับรถประมาท 4 คดี และคดีขับเสพ 70 คดี สำหรับยอดรวมสะสม 6 วัน ที่มีการควบคุมเข้มตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2565-3 ม.ค.2566 มียอดสะสม จำนวน 7,277 คดี  จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 6,992 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.08 คดีขับรถประมาท 15 คดี คิดเป็นร้อยละ  0.21 และคดีขับเสพ 270 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.71 หากเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติในวันที่ 6 ของการคุมเข้ม พ.ศ.2565 กับ พ.ศ.2566 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ.2565 จำนวน 317 คดี ปี พ.ศ.2566 มีจำนวน 2,379 คดี เพิ่มขึ้น 2,062 คดี จังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ร้อยเอ็ด 427 คดี, นนทบุรี 318 คดี และ สมุทรปราการ 252 คดี

อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมคุมประพฤติให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังควบคู่กับมาตรการแก้ไขฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรามีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ได้แก่ การรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ การพักใช้ใบอนุญาตขับรถซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลา การเข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย/วินัยจราจร และใช้กระบวนการกลุ่มร่วมกับการทำงานบริการสังคม เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุ ผู้พิการ การช่วยเหลืองานในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติไม่ให้หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

ในส่วนของการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ พร้อมด้วยอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย และผู้ถูกคุมความประพฤติ จำนวน 3,088 คน ร่วมปฏิบัติงานประจำจุด จำนวน 175 จุด พร้อมกันนี้ยังช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง