กกต.สั่งทุกจังหวัดรับฟังแบ่งเขต

“วิษณุ” เผย กกต.แจ้งแล้วประกาศเขตเลือกตั้งเดดไลน์ 28 ก.พ.นี้  หรืออาจเร็วกว่า สำนักงาน กกต.เผยให้ทุกจังหวัดออกรูปแบบแบ่งเขตภายใน 3 วัน ย้ำต้องมีอย่างน้อย 3 รูปแบบและรับฟังความเห็นใน 10 วัน พร้อมเปิดรับสมัครผู้อำนวยการและ กกต.ประจำเขต “กทม.” เคาะ 5 รูปแบบ ชี้ลอกข้อสอบเก่าปี 2554, 2557

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเลือกตั้งในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กกต.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้งลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขณะนี้กำลังทยอยส่งในรูปแบบเขตเลือกตั้งที่แบ่งใหม่ตามกฎหมายลูก ให้ กกต.จังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดนำไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ จากนั้นเมื่อรับฟังเสร็จแล้วจะส่งกลับมายัง กกต.เพื่อสรุปและเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง กกต.ได้แจ้งมาว่าจะประกาศเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาได้ภายในวันที่ 28 ก.พ. หรือเร็วกว่านั้น

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณี กกต.จะเร่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จก่อน 28 ก.พ.ว่า เป็นผลดีกับทุกฝ่าย แต่ กกต.ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมีถึง 400 เขต ซึ่งถ้าได้เร็วก็ดี แต่เร็วแล้วก็ต้องมีความรอบคอบด้วย เห็นใจและเป็นกำลังใจให้กับ กกต.ให้เวลา กกต.ทำให้รอบคอบดีกว่าทำออกมาแล้วผิดพลาด เพราะครั้งนี้ประชาชนทุกคนมีความตั้งใจอยากเลือกตั้งเต็มที่

ขณะที่สำนักงาน กกต.ได้ออกเอกสาร ชี้แจงหลังออกประกาศ กกต.เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 และประกาศ กกต.เรื่อง จำนวน ส.ส.และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรก ระบุว่าให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.มากกว่า 1 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน แล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งแต่ละรูปแบบต้องประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง จากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส. 1 คนในจังหวัดนั้น

ทั้งนี้ ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกิน 10% ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก นอกจากนี้ต้องมีเหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 และมีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิก ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้น ไม่เกินจำนวนผลต่างที่กำหนดไว้ ให้จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตที่ใช้ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเมื่อปี 2562 และประกาศรับฟังความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย โดยให้ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด, ศาลากลางจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอ, สำนักงานเทศบาล, ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, สำนักงานเขต และศาลาว่าการเมืองพัทยา และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

 “กรณีจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 คน ให้ปิดประกาศเขตเลือกตั้งที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด, ศาลากลางจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอ, สำนักงานเทศบาล, ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ”

นอกจากนั้น สำนักงาน กกต.ยังได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งและ กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อรองรับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้น โดย กกต.จะแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งละ 1 คน และ กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งละ 3 คน ในระหว่างวันที่ 6-10 ก.พ.นี้ โดยผู้ประสงค์จะเข้ารับการสรรหาต้องยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ตามแบบใบสมัครด้วยตนเองต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด 

ทั้งนี้ ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ สัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ในวันสมัครหรือวันที่ได้รับการทาบทาม มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้น มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต และห้ามมีลักษณะต้องห้าม และเมื่อเสร็จสิ้นการรับสมัครแล้ว หากมีผู้สมัครผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งน้อยกว่า 2 คน หรือ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งน้อยกว่า 6 คน ให้ผู้อำนวยการประจำจังหวัดทาบทามบุคคลจากผู้มีคุณสมบัติ้อำนวยการki3 ก.พ..พ.และไม่มีลักษณะต้องห้ามให้ครบตามจำนวน โดยยื่นใบสมัคร แล้วแต่กรณีภายใน 3 วันนับแต่วันสิ้นสุดการรับสมัคร และตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ประวัติ และพฤติการณ์ของผู้เข้ารับการสรรหาและผู้ที่ได้รับการทาบทามให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร

ด้านนายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครเผยว่า สำนักงาน กกต.กทม.ได้ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 10 วัน โดยจะเริ่มแสดงความคิดเห็นได้ในวันที่ 4 ก.พ.2566 จนถึงวันที่ 13 ก.พ. ซึ่งสำนักงาน กกต.กทม.ได้จัดทำประกาศ แผนที่รูปแบบการแบ่งเขต บรรจุไว้ใน QR CODE โดย กทม.จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตไว้ 5 รูปแบบ

นายสำราญกล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนการเริ่มต้น โดยให้ ผอ.กกต.จังหวัดและ กทม.เป็นผู้ดำเนินการจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบต่อ 1 จังหวัด เพื่อประกาศ รับฟังความคิดเห็น พรรคการเมือง ประชาชนในเขตนั้นๆ ยังไม่ได้เคาะว่ารูปแบบไหนดีกว่าแบบไหน ซึ่ง กทม.แบ่งไว้ 5 รูปแบบ ทุกรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ โดยจะรับฟังความเห็นพรรคการเมือง คนกรุงเทพฯ ว่ารูปแบบไหนที่เห็นว่ามีความเหมาะสมที่สุดกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หลังจาก 10 วันแล้ว ก็จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดในแต่ละรูปแบบเสนอต่อ กกต.กลางให้วินิจฉัยรูปแบบเขตเลือกตั้งที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด โดยภายในวันที่ 16 ก.พ. ทุกจังหวัดก็จะพิจารณารูปแบบที่เห็นว่ามีความเหมาะสมเรียงตามลำดับ

  “การแบ่งเขตครั้งนี้ กทม.มีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเดิมมี 30 เขต ส.ส. 30 คน ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 33 เขต ส.ส. 33 คน ซึ่งได้นำรูปแบบการแบ่งเดิมมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 27 กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็น ขณะเดียวกันก็ย้อนไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 ที่มี 33 เขตเลือกตั้งเท่ากัน” นายสำราญกล่าว 

ส่วนที่สำนักงาน กกต.บุรีรัมย์ ได้ออกรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตไว้ 3 รูปแบบเรียบร้อยแล้ว พร้อมปิดประกาศไว้ ณ สำนักงาน กกต.บุรีรัมย์, ศาลากลาง, ที่ว่าการอำเภอ, สำนักงานเทศบาล, ที่ทำการ อบต.บุรีรัมย์ และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ https/www.ect go.th/buriram ให้พรรคการเมืองพรรคใดหรือประชาชนผู้ใด มีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ภายในวันที่ 13 ก.พ.2566.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง