แกนนำ พปชร.ออกโรงค้านขึ้นค่าตอบแทน "อบต." แนะขึ้นให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเหมาะสมกว่า เพราะดูแล ปชช.อยู่ในหมู่บ้าน เงินเดือนน้อย ปัดขวางเพราะอีกฝั่งเสนอ แต่ใช้ข้อเท็จจริง "หัวหน้า พท." เตือนอาจผิดกฎเหล็ก 180 เข้าข่ายการได้มาซึ่งคะแนนความนิยม "วัชระ" บุก มท.ร้อง "บิ๊กป๊อก" ปรับระเบียบ มท.ขึ้นค่าตอบแทน 20-40% สอดรับภารกิจที่เพิ่มขึ้น ด้านนายกสมาคม อบต.โอดค่าตอบแทนยังไม่เท่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้ขึ้นมา 15 ปีแล้ว ยื่นเรื่องตั้งแต่ปี 62 วอนอย่าโยงการเมือง
ที่ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าตอบแทนของ อบต. ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเตรียมอนุมัติเห็นชอบว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะควรจะขึ้นให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมากกว่า เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้าน ดูแลประชาชนภายในหมู่บ้าน ภายในตำบล คนเหล่านี้เงินเดือนน้อย เงินเดือนผู้ใหญ่บ้าน 8,000 บาท กำนัน 10,000 บาท ขึ้นปีละ 200 บาท ถ้าขึ้นติดต่อกัน 2 ขั้น นายอำเภอบอกว่าไว้เว้นก่อน
"ฉะนั้นถ้าจะเอาเงินในส่วนนี้ไปเพิ่มน่าจะขึ้นให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้านมากกว่า เพราะเวลามีงานราชการ ทางราชการขอความร่วมมือก็บอกกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ไปบอกประชาชนให้มาร่วมงาน และเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการดูแลประชาชนที่ร่วมงานทั้งสิ้น ดังนั้นผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ถ้าเป็นไปได้ ผมจะเสนอให้ขึ้นเงินเดือนให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน และถ้าวันนี้จะมีการเสนอขึ้นค่าตอบแทน ควรให้แต่ละพรรคการเมืองเป็นผู้เสนอดีกว่า เวลามันเหลือน้อย" นายวิรัชกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถูกมองหรือไม่ว่าที่ออกมาค้านเพราะอีกฝั่งเป็นคนทำ นายวิรัชกล่าวว่า ไม่เกี่ยว เรื่องนี้มันเป็นข้อเท็จจริงว่าถ้าจะขึ้น ควรจะขึ้นให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
เมื่อถามว่า การเสนอให้ขึ้นเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้านแทน จะทำให้ถูกมองว่าหาเสียงเหมือนกันหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า เราไม่ได้หาเสียง เพียงแต่บอกว่ามันเป็นเรื่องความเหมาะสมของผู้ที่จะดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือในระดับรากหญ้า มันควรจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน
ต่อมานายวิรัชให้สัมภาษณ์ว่า จากข่าวที่ออกไปว่าตนไม่เห็นด้วย เพราะควรจะขึ้นให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้านมากกว่านั้น ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด อาจจะมีความผิดพลาดในการสื่อสารกัน เนื่องจากตนแสดงความคิดเห็นว่า หากจะขึ้นค่าตอบแทนนายก อบต. ก็ควรขึ้นให้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยที่กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ควรจะได้รับด้วย
นายวิรัชกล่าวด้วยว่า เรื่องการผลักดันค่าตอบแทนดังกล่าว ก็ถือเป็นนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่จะประกาศออกมา
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับท้องถิ่นที่มีโอกาสได้รับการปรับขึ้นค่าตอบแทน พรรคไม่ต้องการปิดกั้นหรือขวางกั้นในสิ่งที่ท้องถิ่นพึงมีหรือพึงได้ เรายินดีส่งเสริม เพราะพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายกระจายรายได้ กระจายงบประมาณไปยังท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดข้อเสนอการขอปรับขึ้นค่าตอบแทนดังกล่าวที่ถูกเรียกร้องมานานหลายปี ต้องรีบอนุมัติในนามของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ รมว.มหาดไทย ซึ่งมีระเบียบรองรับอยู่แล้ว และ รมว.มหาดไทยก็ขานรับ แต่จะเกี่ยวเนื่องกับการหาเสียงหรือการเมืองหรือไม่
"การใช้อำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในช่วงที่มีกฎหมายประกาศชัดเจน 180 วันก่อนหมดวาระของอายุสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในช่วงนี้จะเหมือนกับช่วงเวลาของการมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง มีข้อที่พึงระวังในการหาเสียงเลือกตั้ง แม้หาเสียงในช่วงเวลานี้ได้ แต่มีข้อห้าม เช่น ห้ามให้ ห้ามเสนอให้ ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ ดำเนินการเข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง รวมไปถึงห้ามใช้เวลา ห้ามใช้เครื่องมือ ห้ามใช้อุปกรณ์หรือตำแหน่งหน้าที่ หรืองบประมาณ ซึ่งต้องดูว่าการกระทำดังกล่าวเอื้อต่อการได้มาซึ่งคะแนนความนิยมหรือไม่"
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการปรับขึ้นค่าตอบแทนของ อบต.ในรัฐบาลนี้ จะใช้เม็ดเงินงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ซึ่งต้องไปดูศักยภาพในการจ่ายและรายละเอียดของแต่ละท้องถิ่นตามข้อเท็จจริง รวมทั้งระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยแต่หากจะมีบุคคลไปร้องให้ตรวจสอบ จะเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่รัฐของเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำโดยชอบหรือไม่ การกระทำอะไรที่เป็นการใช้อำนาจและหน้าที่ของตัวเอง แม้จะไม่เกี่ยวกับตัวเอง แต่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกระทำให้ ล้วนไม่เหมาะสม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ยังไม่ขอให้ความเห็นทั้งหมด เพราะยังไม่ทราบในรายละเอียด แต่คงไม่มีใครคัดค้าน เพียงแต่อย่าให้กลายเป็นเรื่องการเมือง อย่าให้เป็นเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นมันก็จะไม่สวยงามสำหรับการหาเสียงแบบนาทีสุดท้ายด้วยวิธีการใช้อำนาจทางการเมืองในรูปแบบนี้ แต่ถ้าเป็นการขึ้นเพื่อความเหมาะสม และเห็นสมควรอย่างนั้น ประชาธิปัตย์ก็ไม่ขัดข้องในรูปแบบนั้น แต่ก็ต้องไปดูว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร
ที่กระทรวงมหาดไทย นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขอให้ปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายก อบต., รองนายก อบต., ประธานสภา อบต. รองประธานสภา อบต., สมาชิกสภา อบต., เลขานุการนายกอบต. และเลขานุการสภา อบต. ให้เหมาะสมกับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นและสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
นายวัชระกล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ได้ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของพรรค ปชป.ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นรองนายกฯ เพื่อต้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคลากรของ อบต.ว่า ปัจจุบัน อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เพิ่มขึ้น แต่หน่วยงานที่กำกับดูแลไม่มีการปรับปรุงระเบียบดังกล่าวเป็นเวลาเกือบ 19 ปี ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
“เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่กับบุคลากรของ อบต.ทั่วประเทศ อันจะเป็นผลดีต่อการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม จึงขอให้ รมว.มหาดไทยสนับสนุนการปรับปรุงระเบียบฯ นี้ โดยขอให้พิจารณาปรับค่าตอบแทนขึ้นอีก 20-40% ให้ อบต.ทั่วประเทศด้วย” นายวัชระระบุ
ด้าน ผศ.(พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องค่าตอบแทนของผู้บริหารและสมาชิกนั้นไม่ได้มีการขึ้นมานานกว่า 15 ปีแล้ว ดังนั้นจึงได้มีการยื่นเรื่องนี้ตั้งแต่ 30 ก.ย.62 และได้ติดตามเรื่องมาตามลำดับ จนปัจจุบัน ใกล้จะเสนอรัฐมนตรีอนุมัตินั้นก็เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายและตามอำนาจหน้าที่ของราชการทั้งนั้นซึ่งเรื่องดังกล่าวกลับมีการนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง ตนจึงขอวิงวอนอย่านำเรื่องดังกล่าวนี้ไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากเราเดินเรื่องนี้มานานแล้วตั้งแต่ 4 อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ท่านเกษียณไปทั้งหมดแล้ว
"เราแค่อยากพักดันให้ อบต.ทั่วประเทศได้ปรับค่าตอบแทนให้เท่ากับเทศบาล เพราะค่าตอบแทนของ อบต.นั้นยังไม่เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันนี้ อีกทั้งเราอยากจะลดความเหลื่อมล้ำของค่าแรง อบต.ที่น้อยกว่าทางเทศบาลเพียงเท่านั้น อีกทั้งก็ไม่เข้าใจว่าในช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าตอบแทนของกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือ ข้าราชการที่ขึ้นค่าตอบแทนอย่างต่อเนื่องแต่กลับไม่เป็นประเด็น พอเราขอขึ้นบ้างกลับเป็นประเด็นเกิดขึ้น" นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม