ชงตัดสิทธิ์เลือกตั้ง‘ศักดิ์สยาม’

ฝ่ายค้านคึก! ล่าชื่อ ส.ส.ส่งศาล รธน.วินิจฉัย  "ศักดิ์สยาม" เพิ่มอีก หลังเคยยื่นแล้วโดนสภาตีกลับ รอบนี้ให้ตัดสิทธิ์ลงเลือกตั้ง ด้าน "ป.ป.ช." มีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง "รมว.คมนาคม-พวก" ฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีประวิงเวลาออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจการบิน

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม  กรณีเรื่อง หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จนนำมาสู่การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลได้มีคำสั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้ทำการติดต่อพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน โดยฝ่ายค้านเห็นว่า ควรจะมีการล่าชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยกรณีของนายศักดิ์สยามอีกหนึ่งคำร้องเพิ่มเติม โดยเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพความเป็น  ส.ส.ของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีอาจละเมิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  144 (บทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี)

 “การยื่นคำร้องดังกล่าวต้องมี ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมลงชื่อด้วยขั้นต่ำหนึ่งในสิบของจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตอนนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบยอดตัวเลข ส.ส.ปัจจุบัน พบว่าหนึ่งในสิบก็คือ 40 คนในการร่วมลงชื่อ แต่ปัญหาคือตอนนี้สภาปิดสมัยประชุมแล้ว และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ แต่ฝ่ายค้านก็จะพยายามรวบรวมรายชื่อให้ได้ก่อนที่จะมีการยุบสภา โดยใจจริงก็อยากทำให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้เลย  แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้ครบหรือไม่ ซึ่งหลังได้รายชื่อแล้วก็จะยื่นตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย ไม่ต้องผ่านประธานสภา” นายปกรณ์วุฒิระบุ

สำหรับคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่นั้น ไม่ได้มีเรื่องของการตัดสิทธิการเมือง เพราะเป็นการยื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187  ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีฯ  ที่เป็นเรื่องการให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและการให้เว้นวรรคจากการเป็นรัฐมนตรี 2 ปี แต่คำร้องที่จะยื่นใหม่จะเป็นการยื่นตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ที่มีเรื่องของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย

ทั้งนี้ ฝ่ายค้านได้เคยร่วมกันลงชื่อยื่นคำร้องลักษณะดังกล่าวให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร  มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 25 ม.ค.66 แต่ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน  โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า การยื่นคำร้องดังกล่าวที่ฝ่ายค้านใช้ช่องทางมาตรา 82 ส่งเรื่องถึงประธานสภา เพื่อขอให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ทางสภาตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง ซึ่งไม่ใช่เหตุที่รัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวได้กำหนดไว้ อันจะทำให้ประธานสภาสามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ทางสภาจึงเสนอแนะให้ฝ่ายค้านเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้โดยตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม หรือการยื่นตรงไม่ต้องผ่านประธานสภา

ด้านนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "เดี๋ยวก็รู้ว่าสังคมจะเชื่อใคร ระหว่างผมกับนายศักดิ์สยาม หรือจะเอาระหว่าง ชูวิทย์ กับ เนวิน +  สนธิ ด้วยก็ได้ เห็นหรือยังครับว่าสื่ออย่างนี้ควรถึงจุดจบแล้ว"

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และพวก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการประวิงเวลาและมีเจตนาที่จะไม่ให้บริษัท  สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ-โดดพสุธา) ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

สำหรับคดีนี้เริ่มเมื่อเดือน ธ.ค.62 บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ-โดดพสุธา) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตามขั้นตอนแล้วจะต้องได้รับใบอนุญาตที่ออกโดย รมว.คมนาคม โดยเครื่องบินที่บริษัท  สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ยื่นเพื่อมาใช้ในการประกอบการกิจการ มีอายุ 15 ปี 3 เดือน ซึ่งยังไม่ครบ 16 ปี

แต่ปรากฏว่าในระหว่างที่กระทรวงคมนาคม โดยคณะที่ปรึกษา รมว.คมนาคมกำลังพิจารณาเรื่องเพื่อเสนอให้  รมว.คมนาคมออกใบอนุญาตนั้น กระทรวงมีข้อสังเกตว่า  ในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศฯ เครื่องบินที่ใช้ในการประกอบกิจการต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปี นับตั้งแต่วันที่ผลิต และหากผู้ขอรับใบอนุญาตได้ใบอนุญาตที่มีกำหนดอายุ 3 ปีไปแล้ว จะทำให้เครื่องบินมีอายุเกิน 16 ปี ซึ่งอาจผิดเงื่อนไขหรือไม่

กระทรวงคมนาคมจึงขอให้ กพท.นำเรื่องดังกล่าวไปทบทวนใหม่อีกครั้ง ซึ่งต่อมา กพท.ได้ทำหนังสือขอหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 1611/2563 เมื่อเดือน  ธ.ค.2563 ว่า หลักเกณฑ์เรื่องอายุเครื่องบินที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อขอรับใบอนุญาตนั้น ให้พิจารณา ณ วันเวลาที่ยื่นขอใบอนุญาตเท่านั้น ไม่ใช่เวลาที่ออกใบอนุญาต

เช่นเดียวกับฝ่ายกฎหมายของ กพท.ที่มีความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุเครื่องบินตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประเภทกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภทการทำงานทางอากาศ ที่ระบุว่า เครื่องบินจะต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปีนับแต่วันผลิตนั้น ไม่ใช่หลักเกณฑ์คุณสมบัติด้านอายุสูงสุดของเครื่องบินที่ผู้รับใบอนุญาตต้องดำรงไว้ตลอดอายุใบอนุญาตฯ

กระทั่งต่อมา กพท.ได้รายงานเรื่องกลับไปให้กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้นายศักดิ์สยามพิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตอีกครั้ง ก่อนที่นายศักดิ์สยามจะได้ออกใบอนุญาตเลขที่ 3/2564 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ให้แก่บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด

อย่างไรก็ตาม บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด เห็นว่า การพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่บริษัท ที่ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี 6 เดือนนั้น เกินกว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือประชาชนว่า การดำเนินการรวมทุกขั้นตอนให้ใช้เวลา  80 วันทำการ และในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น นายศักดิ์สยาม กับพวกได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ) ให้แก่เอกชนรายอื่นๆ

บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด จึงได้มายื่นเรื่องต่อ  ป.ป.ช.เพื่อขอให้ดำเนินการเอาผิดนายศักดิ์สยาม ในฐานะ  รมว.คมนาคม และพวก ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้รับความเสียหาย

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปี 2563 น.ท.วีระพจน์  พรหมโชติ ประธานกรรมการบริหารบริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักว่า  บริษัทได้รับความเดือดร้อนเนื่องจาก กพท.และกระทรวงคมนาคมไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ) ให้ ทั้งๆ ที่เครื่องบินที่นำมาใช้ประกอบกิจการมีอายุไม่เกิน  16 ปี ทำให้เครื่องบินที่ซื้อมาในราคา 33 ล้านบาท ไม่สามารถขึ้นบินได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันคดีนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. และยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดแต่อย่างใด นายศักดิ์สยามกับพวกจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง