นบข.ดูแลชาวนา ชงประกันภัยข้าว 22ล้านไร่1.6พันล.

นบข.เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 พื้นที่รับประกันภัย Tier 1 + Tier 2 รวม 22 ล้านไร่ วงเงิน 1.6 พันล้านบาท  เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา นายกฯ กำชับหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น ยันพยายามดูแลความเดือดร้อนให้ดีที่สุด ย้ำปรับเปลี่ยนเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ข้าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 20 มีนาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า การทำงานในช่วงนี้ต้องระมัดระวัง จากนี้ไปต้องระวังในเรื่องการเป็นรัฐบาลรักษาการ ในการใช้จ่ายงบประมาณ การริเริ่มทำโครงการใหม่ๆ ต่างๆ ก็ตาม วันนี้จะมีประชุมเพื่อรับทราบแนวนโยบายจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้นำทีมหารือในเช้าวันนี้ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ฉะนั้นขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งยังไม่ทราบว่ารัฐบาลต้องรักษาการนานมากน้อยเพียงใด คาดหวังว่าจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ในเรื่องการเลือกตั้ง โดยต้องตั้งหลักแบบนี้ไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวแสดงความห่วงใยปัญหาแรงงานรุ่นใหม่ของภาคการเกษตรในขณะนี้ ที่ออกจากภาคการเกษตรพอสมควร ทำให้เหลือแต่เกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่ ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่มีกำลังการผลิต จึงต้องใช้เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ ทำให้ต้นทุนการผลิตทุกอย่างสูงขึ้นหมด ต้องมีคนรับจ้าง ไม่ได้ทำเอง ดังนั้นจะหาวิธีการอย่างไร อาจหาแนวทางให้ภาคธุรกิจช่วยได้หรือไม่ เพราะเกษตรกรชาวไร่ชาวนามีที่ดินอยู่ หากมีการร่วมทุนกับภาคเอกชนซึ่งไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ แต่เป็นเหมือนกับมีพันธสัญญาระหว่างกัน เช่นถ้าปีนี้ราคาข้าวดี เกษตรกรก็ได้ปรับราคาข้าวดี มีการประกันโดยคนที่ร่วมทุน โดยขอฝากให้พิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ว่าจะทำได้หรือไม่ หรือหาวิธีการอื่นๆ รวมทั้งขอให้ช่วยกันคิดหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากที่ดินที่รัฐได้ดูแลหาที่ทำกินให้เกษตรกร ผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

ภายหลังเป็นประธานการประชุม นายกฯ กล่าวว่า  วันนี้เป็นการประชุม นบข.ตามวงรอบในการดูแลเกษตรกร  ชาวไร่ ชาวนา โดยชาวนาเป็นหลัก มีหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุทธศาสตร์ข้าวอยู่แล้ว เราก็เดินหน้าไปตามนี้ หลายๆ อย่างเป็นความเดือดร้อนของภาคเกษตรกร เราพยายามดูแลให้ดีที่สุดแล้วกัน แต่สิ่งสำคัญต้องพยายามปรับเปลี่ยนอะไรกันบ้างในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามากมายในเรื่องของงบประมาณที่มีอยู่จำกัดเหมือนกัน เราก็ยืนยันดูแลให้ดีที่สุดแล้วกัน

สำหรับการประชุม นบข.ที่ประชุมเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 สำหรับพื้นที่เอาประกันภัย Tier 1 และพื้นที่ Tier 2 รวมจำนวนประมาณ  22 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณ 1,647.43 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล และเบิกเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมกับต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 1.83%) ในปีงบประมาณ 2567 โดยให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส โดยขั้นตอนต่อไปกระทรวงการคลังจะต้องเสนอขอความเห็นชอบโครงการนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยอัตราค่าเบี้ยประกันภัย จำแนกเป็น 1.การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) แบ่งเป็น 4 อัตรา (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนี้ 1) เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธ.ก.ส. 115 บาทต่อไร่ เท่ากันในทุกพื้นที่ 2) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง 70  บาทต่อไร่ 3) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง 199  บาทต่อไร่ และ 4) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง 218  บาทต่อไร่

2.การรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) แบ่งเป็น 3 อัตรา เกษตรกรจ่ายเองพร้อมทั้งอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้ 1) พื้นที่เสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่ 2) พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 60 บาทต่อไร่ และ 3) พื้นที่เสี่ยงสูง  110 บาทต่อไร่

สำหรับวงเงินคุ้มครอง จำแนกเป็น 1.วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก  ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ช้างป่า การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง  1,190 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ  (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 1,430 บาทต่อไร่

2.วงเงินคุ้มครองภัยศัตรูพืชและโรคระบาด การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 595  บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2)  มีวงเงินความคุ้มครอง 120 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 715 บาทต่อไร่

สำหรับการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของ ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส.อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 46 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ  ธ.ก.ส. ที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566  จำกัดพื้นที่สูงสุดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย

ส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการรับประกันภัยพื้นฐาน ให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส.  ค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกพื้นที่ 115 บาทต่อไร่ (124.12  บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ธ.ก.ส.อุดหนุน 46 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 78.12 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ส่วนเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง ค่าเบี้ยประกันภัย  70 บาทต่อไร่ (75.97 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 5 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน  70.97 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)  และเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง ค่าเบี้ยประกันภัย 199 บาทต่อไร่ (214 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 130 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 84 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ส่วนเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง ค่าเบี้ยประกันภัย  218 บาทต่อไร่ (234.33 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 149 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 85.33 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ คิดภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ของเบี้ยประกันภัยหลังจากรวมค่าอากรแสตมป์แล้ว และค่าเบี้ยประกันภัยทุก 250 บาท คิดค่าอากรแสตมป์ 1 บาท

สำหรับระยะเวลาการขายประกัน กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีตั้งแต่วันที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบโครงการ และกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์แตกต่างกันตามภาคภูมิศาสตร์ ดังนี้ 1) ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ จำนวน 58 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 2) ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และ 3) ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2566

ส่วนการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และจ่ายเพิ่มเติมกรณีที่เสียหายจริงแต่ไม่อยู่ในเขตประสบภัยตามที่ราชการกำหนด โดยวิธีการประเมินรายแปลงที่เป็นพื้นที่แปลงปลูกเสียหายสิ้นเชิง  โดยการแจ้งความเสียหายและแสดงหลักฐานการเสียหาย  เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' เสียใจเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเสียชีวิตอีกราย

นายกฯ เสียใจเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเสียชีวิต มอบหมายผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ดูแลจัดการงานศพให้สมเกียรติ และดูแลครอบครัวของผู้เสียชีวิตให้ดีที่สุด

รัฐบาลตีปี๊บผลงาน 'เศรษฐา' ดันส่งออกทุเรียนไทยโต!

รัฐบาลพร้อมส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนต่อเนื่อง หลังราคาทุเรียนเกรดส่งออกสูงถึง 160 บาท/กิโลกรัม ผลักดันการขนส่งผลไม้ทางบก 16 ด่าน รองรับฤดูผลไม้