ยื่นปปช.สอบ3ผู้พิพากษา รอข้อสรุปถอนหมายจับ

โฆษกศาลยุติธรรมเผยการถอนหมายจับ "ส.ว.อุปกิต" ยังอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการสดับตรับฟังรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอ ปธ.ฎีกา ยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นทางการ ชี้ขยายเวลาได้อีก    ขณะที่ "รังสิมันต์" ยื่นร้อง ป.ป.ช.สอบ อธิบดี-ผู้พิพากษาเพิกถอนหมาย 

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์กรณีประเด็นการร้องขอออกหมายจับนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ว่าตอนนี้อยู่ระหว่าง  คณะกรรมการสดับตรับฟังที่เป็นผู้พิพากษาระดับอาวุโส ได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อมาดูว่าที่จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น และคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่นำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปและทำความเห็นเสนอนายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา ถ้าเห็นแล้วว่าเป็นไปตามขั้นตอนของกฎระเบียบและกฎหมาย ก็จะยุติเรื่องไป หรือว่าจบเรื่องนั้น แต่ถ้าข้อเท็จจริงที่สรุปมาอาจมีโอกาสเกี่ยวข้องกับเรื่องทางวินัย ก็จะมีการเสนอความเห็นเพื่อเร่งสอบข้อเท็จจริงต่อไป แต่ตอนนี้คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงทุกด้านทุกคนที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นทางการ โดยมีระยะเวลากำหนดไว้ 30 วัน ซึ่งยังสามารถขยายได้อีกหากมีความจำเป็น ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการเป็นการลับ ตนไม่ได้เข้าร่วมด้วย      

เมื่อถามว่า การออกหมายจับของ ส.ส.และ ส.ว. ต่างจากการออกหมายจับบุคคลธรรมดาอย่างไร นายสรวิศกล่าวว่า เกณฑ์เบื้องต้นไม่ต่างกัน ศาลพิจารณาข้อหาที่ออกหมายจับ เช่นมีโทษจำคุกเกิน 3 ปีหรือไม่ หากโทษไม่เกิน 3 ปี ก็จะดูพฤติการณ์ประกอบว่ามีพฤติการณ์หลบหนี หรือจะยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรืออาจจะไปทำอันตรายประการอื่น และดูปัจจัย แม้ว่าโทษจะสูงแต่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก็อาจจะไม่ได้ออกหมายจับ ยกตัวอย่างปีที่แล้วก็มีการออกหมายจับ ส.ส. โดยศาลได้มีการออกหมายเรียกก่อน 2 ครั้ง  ซึ่งที่จริงแล้วก็คือแนวปฏิบัติเดียวกัน คือการเป็นบุคคลสำคัญไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในพิจารณาคดี การที่มีอาชีพการงาน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โอกาสจะหนีก็ไม่สูง การออกหมายเรียกก็เป็นขั้นตอนปกติอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นบุคคลสำคัญหรือไม่ ถามว่าการออกหมายจับแล้วผู้พิพากษาจะต้องมีการหารือกับผู้บริหารของศาลนั้นเป็นเรื่องปกติหรือไม่ โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่า  ถ้าดูจากกฎหมายอย่างรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมให้อำนาจของอธิบดีไม่ว่าจะเป็นอธิบดีศาลชั้นต้น อธิบดีภาค มีหน้าที่ประการหนึ่งคือการให้คำแนะนำคำปรึกษาเพื่อระมัดระวังให้เป็นไปตามระเบียบราชการ ดังนั้นการปรึกษากันจึงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ส่วนการออกหมายจับและการเพิกถอนหมายจับภายในวันเดียวนั้น ประเด็นดังกล่าวต้องขอให้รอทางคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นสรุปข้อมูลดีกว่า เพราะบางเรื่องก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง เป็นประเด็นที่ยังต้องรอทางคณะกรรมการฯ และประธานศาลฎีกา  ส่วนที่ฝ่ายสืบสวนของตำรวจสามารถขอออกหมายจับกับทางศาลนั้น การที่เป็นตำรวจโดยหลักก็มีอำนาจ แต่จะมีอำนาจถึงขั้นใด ต้องขึ้นอยู่กับระเบียบของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย     ด้านนายรังสิมันต์ โรม อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดี รองอธิบดีศาลอาญา และผู้พิพากษาเวร จากกรณีการเพิกถอนหมายจับ ส.ว.อุปกิต นอกจากนั้นยังยื่นหนังสือติดตามกรณีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จการขายโรงแรมอัลลัวร์ รีสอร์ต

  นายรังสิมันต์กล่าวว่า เรื่องแรกเป็นการติดตามกรณีที่มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จของนายอุปกิต ปาจรียางกูร ส.ว. ซึ่งเป็นการยื่นโดยมีรายละเอียดว่านายอุปกิตขายอัลลัวร์ รีสอร์ต ซึ่งเป็นโรงแรมที่อาจเป็นปัญหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด โดยนายอุปกิตขายให้กับนายชาคริส แต่พอตนไปตรวจสอบพบว่านายชาคริสให้ปากคำว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะไม่มีเงิน ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นนิติกรรมอำพราง นอกจากนี้ยังมีการยื่นเอกสารว่ามีเงินในบัญชี 8 ล้านดอลลาร์ ทำให้เราเข้าใจว่ามีการขายโรงแรมจริง

"หากไปดูนายอุปกิตให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายอุปกิตยอมรับว่าเงินดังกล่าวมาจากการขายจริง แต่ไม่ได้ขายให้กับนายชาคริส ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ พฤติกรรมแบบนี้เป็นการแจ้งทรัพย์สินเท็จ ซึ่งผิดกฎหมาย ผมเลยต้องมาติดตาม" นายรังสิมันต์กล่าว

พร้อมกันนี้ นายรังสิมันต์ยังยื่นให้ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องกับการถอนหมายจับ ส.ว.อุปกิต ประกอบด้วย อธิบดีศาลอาญา, รองอธิบดีศาลอาญา และผู้พิพากษาเวร ซึ่งหลายคนทราบดี โดยตนได้แนบเอกสารรายละเอียดมาด้วย

"ก่อนหน้านี้ผมไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพราะเป็นอำนาจตรง แต่กรณีนี้ไม่ได้มีแค่ 3 ผู้พิพากษา แต่มีนายตำรวจใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ผมดูแล้ว พูดตรงไปตรงมา ก.ต.เขาก็เงียบหายไป และเราไม่รู้ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไรต่อไป ไม่แน่ใจว่าการสดับตรับฟังจะใช้เวลาเต็มหรือไม่ เรื่องนี้ผมว่าไม่น่ายาก ดังนั้นผมหวังว่าการตรวจสอบภายนอกด้วย ป.ป.ช.จะทำให้เกิดความยุติธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่" นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าที่ไปให้ปากคำเรื่องนี้ต่ออัยการสูงสุดว่า หลายกรณีเป็นข้อเท็จจริงตรงกับที่ตนอภิปราย หากพูดกันตรงๆ อัยการสูงสุดมีข้อมูลมากกว่าตนอยู่แล้ว อาจมีบางเรื่องที่ตนไปให้เพิ่มเติม สิ่งสำคัญที่สุดคืออัยการสูงสุดน่าจะสรุปจบภายในสิ้นเดือนนี้ ตนค่อนข้างมั่นใจ และคาดหวังว่าจะมีการนำตัวนายอุปกิตเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เป็นกังวลว่าถ้ามาตรฐานของการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม หวังการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง