แสวงโร่แจงยิบ กปน.ลงรหัสผิด โลกโซเชียลรุม

กกต.ร้อน! “แสวง” แจงปม กปน.เขียนรหัส 2 รอบ ยันส่งถึงเขตของผู้มีสิทธิแน่ ชี้มีแค่ 48 รายเท่านั้นไม่ใช่กว่า 100 ราย ส่วนกรณีอ้างรายชื่อพรรคหายเกิดที่ชลบุรี เหตุไอ้โม่งฉีกหาย 3 แผ่น แจ้งความแล้ว ด้าน 3 จังหวัดที่คนแห่ใช้สิทธิ์จนผิดสังเกตนั้นรู้แล้ว ตรวจสอบอยู่ “ชูวิทย์” เปิดคลิปแฉอำนาจเจริญโมเดล 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค.2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงปัญหาการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. ว่าเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. มีการตรวจพบหน่วยเลือกตั้งที่จังหวัดนนทบุรี พบว่ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) มีการเขียนรหัสเขตเลือกตั้งที่หน้าซองสำหรับใส่บัตรเลือกตั้งผิด โดยเขียนหน่วยเลือกตั้งจากเขต 2 เป็นเขต 4 และกรอกรหัสไปรษณีย์แทนรหัสจังหวัด ซึ่งพบผิดพลาดประมาณ 100 คน เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบก็มีการเปลี่ยนหีบบัตรเลือกตั้งใหม่

นายแสวงกล่าวต่อว่า ยังพบว่ามีข้อถกเถียงของประชาชนในโลกโซเชียลมีเดียอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กรรมการประจำหน่วยกรอกรหัสจังหวัดผิด ไม่ตรงกับรหัสไปรษณีย์ที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีภูมิลำเนาอยู่ เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า รหัสที่กรรมการประจำหน่วยจะกรอก รหัส 2 ตัวแรกคือรหัสจังหวัด ส่วน 3 ตัวหลังคือรหัสเขตเลือกตั้ง ซึ่งรหัสเขตเลือกตั้งจะเป็นไปตัวเลขคนละตัวกับรหัสไปรษณีย์ เช่น จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 2 ตัวแรกคือ 12 แต่รหัสเขตเลือกตั้ง 2 ตัวแรกคือ 11

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบหลังเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิ์ไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง มีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณกว่า 100 คน เจ้าหน้าที่จึงเปลี่ยนหีบบัตร ซึ่งหลังปิดหีบแล้วจะคัดแยกโดยเจ้าหน้าที่ กปน. และไปรษณีย์ ภาพรวมการจ่าหน้าซองของบัตรไม่กระทบการใช้สิทธิ์ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนให้พรรคการเมืองไหน ก็จะได้คะแนนตามที่ลงอย่างนั้น ยืนยันว่าสามารถส่งบัตรได้ตรงตามเขตแน่นอน”นายแสวงกล่าว และว่า เหตุที่เกิดขึ้นนี้ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ แต่ทุกอย่างปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต โดยจะตรวจสอบว่าเป็นความผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่ แต่ยืนยันว่าเหตุที่เกิดขึ้นในวันนี้จะไม่เกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพราะการเลือกตั้งวันนั้นเป็นการเลือกตั้งตามหน่วย ไม่มีการใส่ซองส่งไปรษณีย์แล้ว

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุดังกล่าวทำให้โลกออนไลน์ต่างวิจารณ์กันอย่างหนัก โดยมีการติดแฮชแท็ก  #กกต.ต้องติดคุก และ #กกต.มีไว้ทำไม จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ภาพการทำงานที่ผิดพลาดของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งในระหว่างการลงคะแนน พร้อมวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน และเปิดที่มาของ 7 กกต.ชุดปัจจุบัน ผ่านการเห็นชอบโดยใคร และเรียกร้องให้ กกต.รับผิดชอบด้วยการลาออก เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการถอดบทเรียนการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีกระแสเรียกร้องให้ร่วมลงชื่อถอดถอน กกต.ออกจากตำแหน่ง ด้วยการแชร์ลิงก์ของเว็บไซต์ Change ซึ่งเคยเป็นแคมเปญลงชื่อถอดถอน กกต.จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีชื่อคนร่วมลงชื่อไม่ถึงเป้า 1,500,000 รายชื่อ โดยมีเพียง 849,079 รายชื่อ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2566 กลับมาเคลื่อนไหว โดยมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,001,387 รายชื่อ เมื่อเวลา 16.45 น.

ต่อมาในเวลา 18.00 น. นายแสวงได้แถลงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดยย้ำว่า การจ่าหน้าซองผิดเขต แต่อยากให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสบายใจว่าบัตรถึงเขตที่ท่านมีชื่อในทะเบียนอย่างถูกต้อง เพราะมีระบบการตรวจสอบ ส่วนที่ กปน.จ่ายบัตรที่ระบุเขตคลาดเคลื่อน อาจเกิดจากชุดที่ใช้ลงคะแนน เช่นเมื่อเช้าชุดที่ 4 อาจสำคัญผิดว่าเป็นเขตที่ 4 แต่ตัวรหัสกรอกถูกต้อง และเก็บไว้ทุกแผ่น จึงสามารถตรวจสอบได้ทุกซองที่จะส่งไปที่เขตเลือกตั้ง จึงอยากให้สบายใจว่าเราออกแบบมาเพื่อใช้เวลามีปัญหาจากการทำงานของคน แต่ระบบสามารถแก้ไขตรงนี้ได้ ส่วนกรณีหน่วยเลือกตั้งที่ จ.นนทบุรี ที่เคยให้ข่าวว่ามีการลงรหัสเขตเลือกตั้งผิดกว่า 100 รายนั้น ตรวจสอบล่าสุดแล้วพบว่ามี 48 ราย

นายแสวงยังกล่าวถึงความผิดพลาดเรื่องเอกสารว่ามีชื่อพรรคบ้าง ไม่มีบ้าง  จริงบ้าง เท็จบ้าง ว่าได้รับรายงานตั้งแต่เช้าจาก ผอ.จังหวัดก่อนเป็นข่าว และมีการแก้ไขแล้ว บางเรื่องเกิดจากคนไปฉีก  ซึ่งเกิดที่ จ.ชลบุรี มีคนไปฉีกหายไป 3 แผ่น แต่ก็มีการแก้ไข เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นก็มีการแก้ไข และไม่มีปัญหาอีก โดยมีการแจ้งความแล้ว ส่วนการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พบว่ามีการถ่ายบัตรประชาชนที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีการแจ้งความแล้ว ส่วนกรณีขนคนไปลงคะแนน ได้มีชุดเคลื่อนที่เร็วจากส่วนกลางไปหลายจังหวัดเป้าหมาย ซึ่งมีการรายงานกลับมาแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ด้านนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบ 3 จังหวัดที่มีการขอลงทะเบียนการเลือกตั้งล่วงหน้ามากผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ อำนาจเจริญ ที่มี 2 เขต แต่มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 22,945 ราย, ศรีสะเกษ มีผู้ลงทะเบียน 76,217 ราย และยโสธร มีผู้ลงทะเบียน 32,397 ราย นอกจากนั้นยังได้โพสต์คลิปคนสูงวัยและคนวัยทำงานลงจากรถกระบะ โดยอ้างว่าหัวคะแนนขนคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมคนสูงวัยเหล่านี้ต้องนั่งรถมา 20-30 กิโลเมตร เพื่อมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกจากนี้ยังได้โพสต์คลิปเหตุการณ์ที่อำนาจเจริญ โดยเป็นคลิปที่หญิงสาวรายหนึ่งกำลังเขียนอะไรบางอย่างลงบนมือของหญิงสูงวัย

นายชูวิทย์ระบุว่า อำนาจเจริญโมเดล เขียนเบอร์ใส่มือกันลืม คนแก่คนเฒ่าถูกหลอกให้นั่งรถไปไกล ตากแดดเปรี้ยง ไม่มีหลังคาคลุม เพราะอยากอวดว่าเปิดเผย โปร่งใส มากันเอง แต่ดันมีหัวคะแนนรอ ถึงขนาดเขียนเบอร์ผู้สมัครใส่มือ กลัวคนแก่ลืม วางแผนทำเป็นกระบวนการ ขนชาวบ้านเขต 1 ย้ายไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขต 2 แล้วขนชาวบ้านเขต 2 ไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขต 1

นายแสวงกล่าวถึงความผิดปกติของการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ จ.อำนาจเจริญ, ยโสธร และศรีสะเกษ ว่า สำนักงาน กกต.ได้ตระหนักเรื่องนี้ก่อนมีข่าว ได้สอดส่องดูแลตั้งแต่ต้น และได้ตรวจสอบแล้ว แต่ด้วยกระบวนการทำงานต้องให้ความคุ้มครองผู้ให้ข่าวหรือให้เบาะแส ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของ กกต. และได้กำชับทุกจังหวัดเวลาผู้มาแสดงขอใช้สิทธิให้เปิดหน้าให้เห็นชัดเจนว่าบัตรประชาชนที่นำมาแสดงคือคนเดียวกับคนที่มาแสดงตนใช้สิทธิ์หรือไม่ ย้ำว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งในหน่วยเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม 

 วันเดียวกัน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยังกล่าวถึงภาพรวมเรื่องร้องเรียนทั่วประเทศในระหว่างลงพื้นที่ดูการเลือกเลือกตั้งล่วงหน้าที่ จ.ชลบุรี ว่าตอนนี้มาทั้งหมด  92  เรื่อง โดย จ.ชลบุรียังไม่มีเรื่องร้องเรียน แต่เมื่อปี 2562 จ.ชลบุรีมีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 14 เรื่อง ทั่วประเทศมี 592  เรือง ครั้งนี้มี  92 เรื่อง ก็ต้องรวบรวมตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้ามีมูลความจริงก็จะเข้าสู่ขั้นตอนสืบสวนไต่สวนต่อไป

นายแสวงกล่าวว่า ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียน 92 เรื่อง โดย กทม.ถูกร้องมากที่สุด ซึ่งเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นกรณีว่าจะให้สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด มาตรา 73 (1) ของกฎหมายการเลือกตั้ง

ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จ.ขอนแก่น ได้มีชาวบ้าน บ.โนนเรือง ต.บ้านค้อ อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น เดินทางมาพร้อมทนายความและผู้ใหญ่บ้าน นำเอกสารหลักฐานการซื้อเสียงที่แจกจ่ายให้กับผู้ที่มาฟังการปราศรัย ซึ่งชาวบ้านถ่ายภาพและถ่ายคลิปวิดีโอขณะการปราศรัยและการจ่ายเงินได้อย่างชัดเจน มายื่นให้นายวัชระ สีสาร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ขอนแก่น โดยนายวัชระระบุว่า ข้อร้องเรียนดังกล่าวที่ส่งมานั้น พนักงานสืบสวนอยู่ในระหว่างตรวจสอบ และได้กันบุคคลที่เข้าร้องเรียนไว้เป็นพยานแล้ว  ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิดตามขั้นตอนต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง