รายงานคะแนนแรก1ทุ่ม

กกต.แถลงระบบรายงานผลเลือกตั้งพร้อม คะแนนแรกไม่เกิน 1 ทุ่ม มั่นใจบล็อก "บอต-แฮกเกอร์" ป่วนได้ พร้อมแจงข่าวปลอมปากกาหมึกล่องหนไม่มีในหน่วยฯ “พี่ศรี” ร้องสื่อทีวีไม่เป็นกลาง บางช่องเสนอข่าวผู้สมัครบางคนทุกวัน “เรืองไกร” ยื่นสอบ “เต้น-หมอเลี้ยบ” ขึ้นโปรไฟล์ทำคนหลงผิด ทั้งที่ไม่ใช่ผู้สมัครเพื่อไทย ตร.เตือนงดใส่เสื้อผ้ามีโลโก้พรรคเข้าคูหา

ที่่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม น.ส.สุรณี ผลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมคณะ แถลงถึงระบบรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 อย่างไม่เป็นทางการ (ECT REPORT) ว่าระบบการรายงานผลผ่านแดชบอร์ด จะจัดทำเป็น 3 หน้า แสดงผลการนับคะแนนทั้งภาพรวมในรายจังหวัด พรรคการเมืองที่มีคะแนนนำ 5 พรรค รวมถึงข้อมูลคะแนนบัญชีรายชื่อ  พร้อมประมวลผลเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าผลการนับคะแนนมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด โดยคาดว่าเวลาประมาณ 19.00 น. จะสามารถรายงานคะแนนแรกได้ หลังจากเจ้าหน้าที่มีการถ่ายภาพส่งข้อมูลเข้ามายังถังข้อมูล ก็จะมีการประมวลผลเพื่อรายงาน ซึ่งเป็นระบบที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ หลายคนอาจจะกังวลเรื่องความผิดพลาด ซึ่งแน่นอนว่าเกิดขึ้นได้ โดยมีการจัดกำลังคน 1 ชุดมี 2 คน รับผิดชอบไม่เกิน 20 หน่วย เพื่อป้องกันในกรณีที่เจ้าหน้าที่​เกิดความเหนื่อยล้า​ ขณะเดียวกันในระบบของการอัปเดตข้อมูล จะมีการคำนวณบัตรดี บัตรเสีย และจำนวนผู้มาลงคะแนน หากไม่ตรงกัน ระบบจะมีการแจ้งเตือนให้ตรวจซ้ำ อย่างไรก็ตาม ผลการนับจะมีการตรวจสอบซ้ำจากใบนับคะแนนที่ส่งเข้ามาที่ส่วนกลางด้วย

สำหรับเรื่องของความสะดวกและความปลอดภัย ครั้งนี้ได้วางระบบไว้ในคลาวด์รองรับการเข้าใช้งานพร้อมๆ กันสูงถึง 1 ล้านครั้งต่อนาที แต่หากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทางคลาวด์จะมีการขยายการรองรับโดยอัตโนมัติ แต่หากระบบช้าจริงๆ จะเหลื่อมเวลาให้คนเข้าระบบได้เป็นระยะๆ​ นอกจากนี้เชื่อว่าการที่สื่อมวลชนมีการรายงานข่าวคู่ขนาน และดึงข้อมูลจากระบบ กกต.ไปรายงานโดยตรง จะลดความหนาแน่นในการเข้ามาดูข้อมูลจากแดชบอร์ดไปได้ส่วนหนึ่ง พร้อมมีระบบการตรวจจับ หากมีผู้ไม่หวังดีใช้บอตระดมยิงเข้ามาป่วน รวมถึงมีสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมกันวางระบบตรวจสอบแฮกเกอร์ ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พ.ค. สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ectreport.com

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน กกต. ชี้แจงข่าวเท็จกรณีปากกาหมึกจางและจะมีการถูกกาใหม่ตามใจชอบว่า ยืนยันปากกาที่ใช้ในคูหาเลือกตั้งทุกหน่วยเลือกตั้งเป็นปากกาลูกลื่นทั้งหมด ปากกาดังกล่าวไม่สามารถลบเลือนหรือจางหายไปได้เอง และเตือนด้วยว่าผู้ใดแชร์ข่าวเท็จจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย​ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบการรายงานข่าวการจัดประชันนโยบายของพรรคการเมือง หรือการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของสื่อมวลชนบางสำนัก ที่ไม่มีความเท่าเทียม เสมอภาค ทำให้เกิดข้อได้เปรียบกับพรรคการเมืองบางพรรค โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า สื่อมวลชนหลายสำนัก อาจจะไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 แก้ไขเพิ่มเติม ที่ห้ามผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดใช้สื่อมวลชนหาเสียง เว้นแต่เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ให้เสนอเป็นกลางและเที่ยงตรง แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีสื่อมวลชนบางสำนัก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์​ หลายครั้งมักจะเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือตัวแทนพรรคการเมืองมาดีเบตไม่ถึง 10 พรรค ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งนี้มีเกือบ 70 พรรค มีผู้สมัคร 4,781 คน ดังนั้นถือเป็นการลำเอียง ไม่เสมอภาค​ และเที่ยงธรรมในการรายงานข่าว และสื่อบางช่องรายงานข่าวผู้สมัครบางคนทุกวัน โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เกี่ยวพันกับนักการเมือง ซึ่งอาจจะมีภรรยาไปลงเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า ขณะมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด​จึงไม่ร้องเรียนพรรคการเมืองอื่นบ้าง เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะกรณีการหาเสียงโดยยิงแสงเลเซอร์ไปบนสะพานพระราม 8 นายศรีสุวรรณถามกลับผู้สื่อข่าวว่า มีประเด็นผิดอะไรหรือไม่ และก่อนหน้านี้เคยร้องเรียนเรื่องของการปราศรัยดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้ว ส่วนเรื่องพระราม 8 ขอให้ไปอ่านในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตน​ ว่ามีหนังสือของ กกต.ตอบกลับไปยังพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าการใช้สื่อดิจิทัลดังกล่าวนั้นไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นเมื่อไม่ผิดกฎหมาย ส่วนตัวเป็นนักกฎหมาย จะไปร้องให้อายตัวเองทำไม แต่ในเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมก็ได้ แต่ในแง่กฎหมายนั้นไม่ผิด เพราะ กกต.กล่าวไปอย่างนั้นแล้ว

ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กระทำการเข้าข่ายฐานเป็นผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เนื่องจากพบว่าบุคคลทั้งสองขึ้นรูปโปรไฟล์พร้อมหมายเลขพรรค ทั้งที่ไม่ได้เป็น 100 รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย และไม่ได้เป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ จึงมองว่ามีเจตนาทำให้คนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพรรค เข้าข่ายขัด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา 73(5) ประกอบมาตรา 56, 132 และ 137 หรือไม่

ขณะที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อขอให้ตีความเรื่องการถือครองหุ้นสื่อ หลังจากตนเองเป็น 1 ในผู้สมัคร 130 คน ที่มีรายชื่อถือหุ้นสื่อ ที่ถูกแขวนเพียงคนเดียว โดยนายชาญชัยกล่าวว่า ตามหลักวิชาการ คำว่าสื่อมวลชน หมายรวมถึงสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต๊อก หรือแอปพลิเคชันต่างๆ จึงขอถาม กกต.ว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต๊อก หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ในการโฆษณาหาเสียงและเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์โดยตรงไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้คนจำนวนมากให้รับทราบข่าวสารนั้นๆ ถือว่าเป็นเจ้าของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42 (3) หรือไม่ และถ้า กกต.อนุญาตให้ใช้ได้ ก็ต้องถามว่า กกต.มีอำนาจใดในการอนุมัติ อนุญาต เหนืออำนาจของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง จึงขอให้ กกต.กลางตอบให้ชัดว่าผิดหรือไม่ เพราะทั้งพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.เกือบทุกคนใช้สื่อสังคมออนไลน์หาเสียงในรูปแบบต่างๆ ทั้งผลิตเองและใช้จ้างผู้อื่นผลิตลงในระบบสื่อสังคมออนไลน์ ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ ต้องถูกยุบพรรค หรือตัดสิทธิ์หรือไม่

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) เปิดเผยว่า ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนว่า การหาเสียงขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 79 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงโดยวิธีการใด ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนการเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง นั่นคือสามารถโฆษณาหาเสียงได้ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค. เท่านั้น

 “เรายังห่วงใยประชาชน ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องงดเว้นแสดงสัญลักษณ์ที่เข้าข่ายเป็นการโฆษณาหาเสียง โดยการสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า หมวก ที่มีโลโก้ หมายเลข สัญลักษณ์พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ส.ส. ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค. โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปในบริเวณหน่วยเลือกตั้งและคูหาเลือกตั้ง เพราะอาจถือเป็นการโฆษณาหาเสียง เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” โฆษก ศลต.ตร.ระบุ

พล.ต.ท.นิธิธรกล่าวด้วยว่า สำหรับภารกิจในการขนส่งบัตรเลือกตั้งเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พ.ค. จากศูนย์ไปรษณีย์เขตหลักสี่ กทม. ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งแต่เช้ารถตำรวจทางหลวงได้นำขบวนรถไปรษณีย์ขนบัตรเลือกตั้งไปยังจังหวัดภาคกลาง กทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายถึงที่หมายอย่างปลอดภัยแล้ว โดยรถไปรษณีย์ขนบัตรเลือกตั้งทุกคันมีตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมอาวุธและเสื้อเกราะ ทำหน้าที่ดูแลคุ้มกัน มีรถตำรวจทางหลวงนำ และปิดท้ายขบวน มีกำลังตำรวจท้องที่คอยดูแลระหว่างจอดพัก และคอยดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง และยังควบคุมการเดินทางโดยระบบ GPS ติดตาม แจ้งพิกัดแบบเรียลไทม์ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 พ.ค. จะเป็นวันแรกของการส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ลงคะแนนแล้ว ผ่านการคัดแยกเรียบร้อยไปยังหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ โดย ศลต.ตร.สนับสนุนภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

 ทั้งนี้ หากประชาชนมีเบาะแส ข้อมูล  สามารถส่งมาได้ที่เฟซบุ๊ก ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. หรือสามารถแจ้งตำรวจได้ที่สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง หรือโทร.191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งสายด่วน กกต. 1444.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่าชื่อค้านแก้กัญชา เอกชนชงใช้กม.คุมดีกว่า/อนุทินย้ำต้องถกเหตุผล

"นายกฯ" ยืนยัน "กฤษฎา" พ้นตำแหน่ง "รมช.คลัง" แล้ว รอคุย "รวมไทยสร้างชาติ" หาคนแทน "ธนกร" ชี้เลือกใครไปนั่งเก้าอี้คลังอยู่ที่