3นิ้วจัดม็อบบี้ส.ว.โหวต

"3 นิ้ว" ปลุกม็อบบุกสภา  23 พ.ค. บีบ ส.ว.โหวต "พิธา" นายกฯ   "คำนูณ" ยันสภาสูงยังไม่นัดหารือนอกรอบ รับอาจคุยกันประสาเพื่อน "จรุงวิทย์" เมินกระแสกดดัน ขอดู MOU จัดตั้งรัฐบาลก่อน "สมชาย" ท้าทำสัญญาลายลักษณ์อักษรไม่แตะ 112 รับรองโหวตผ่านฉลุย "ป้าอยุธยา" นำกลุ่มป้องสถาบันต้านฉีก 112 หวิดปะทะก๊วนเห็นต่าง

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เพจเฟซบุ๊ก  "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม -   United Front of Thammasat and Demonstration" โพสต์ข้อความว่า "การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถสะท้อนความต้องการและเจตจำนงของประชาชน เมื่อเสียงของประชาชนต้องการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ตามหลักการของประชาธิปไตยก็ควรต้องเป็นไปตามนั้น แต่ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ได้ให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแหล่งที่มาในอำนาจของ ส.ว. ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวโยงกับประชาชน

แม้การเลือกตั้งในครั้งนี้จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนมากแค่ไหนก็ตาม แต่ดูเสมือนว่า ส.ว.บางคนจะแสดงถึงความไม่เห็นด้วยในหลักการประชาธิปไตย พร้อมที่จะคัดค้านตัวแทนที่มาจากการเลือกของประชาชน และพร้อมที่จะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกวิถีทาง วันอังคารที่ 23 พ.ค.2566 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ หน้ารัฐสภาฝั่งบุญรอด (รัฐสภาเกียกกาย) ขอเชิญพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง มาร่วมกันยืนยันในหลักการว่า ส.ว.ต้องไม่โหวตสวนมติของประชาชน และชัยชนะของประชาชนในครั้งนี้ต้องไม่ถูกทำลายโดยเสียงของ ส.ว."

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา กล่าวว่า ขอดูวันโหวตนายกฯ เลย ขณะนี้ยังเป็นเรื่องในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก แต่มีหลักการอยู่ในใจแล้ว ส่วนการประชุมในวันที่ 23 พ.ค. เป็นการเปิดสมัยประชุมวิสามัญวุฒิสภา สามารถประชุมได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 126 เท่านั้น ไม่สามารถที่จะหยิบยกเรื่องอื่นใดๆ  นอกเหนือจากมาตรา 126 เข้ามาพูดคุยได้ จะเป็นระเบียบวาระเฉพาะตามมาตรา 126/2 คือพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบประวัติและความประพฤติทางจริยธรรมเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่อาจที่จะมีการหารือเรื่องอื่นได้  ส่วนนอกห้องประชุมจะเป็นการพูดคุยของ ส.ว.ตามปกติ ไม่มีวาระอื่นใด

เมื่อถามว่า วิปวุฒิฯ จะมีการหารือถึงการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า วิปยังไม่มีการนัดประชุมหรือหารือกันเลย และคิดว่าจะยังไม่มีในระยะเวลาเฉพาะนี้ เพราะปกติการประชุมวิปวุฒิฯ จะมีขึ้นช่วงก่อนที่จะมีการประชุมวุฒิสภาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งเราได้ประชุมไปแล้วเกี่ยวกับการประชุมในวันที่ 23 พ.ค. และเมื่อประชุมหมดวาระแล้วจะปิดประชุมในวันดังกล่าวเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมนอกรอบของ ส.ว. เพื่อหารือเกี่ยวกับการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า เท่าที่ทราบยังไม่มี แต่การพูดคุยกันเป็นปกติของเพื่อนร่วมงานที่มีปฏิสัมพันธ์กันอยู่แล้ว หรือเขาอาจจะอยู่ในคณะกรรมาธิการสามัญด้วยกัน นอกจากวาระตามปกติ เขาอาจจะมีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่มีความเป็นไปได้ตามประสาเพื่อนฝูงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

เมินกระแสขอดู MOU ตั้งรบ.

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ส.ว. กล่าวว่า ต้องรอดูผลการจัดตั้งรัฐบาลและการลงนามเอ็มโอยูก่อนว่าเป็นอย่างไร และภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นขั้นตอน ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่รีบตัดสิน ส่วนที่มีกระแสตามโซเชียลออกมาเรียกร้องและกดดันการทำหน้าที่ของ ส.ว. ต่อการโหวตเลือกนายกฯ นั้น หลักการทำงานจะยึดกระแสไม่ได้ ต้องมีหลักเกณฑ์และอย่าให้สิ่งใดมากดดันว่าจะต้องเป็นไปตามนั้น อีกสิ่งหนึ่งคือตนเองปิดสวิตช์แล้ว เป็นหนึ่งเสียงที่โหวตตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ตอนที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. โพสต์เฟซบุ๊กว่า ฝากถึงพรรคการเมืองที่ทั้งกดดันและออดอ้อน ส.ว. ประเภทด่าไปชมไปว่า วันที่ 23 พ.ค. ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาวุฒิสภาหรอก แค่ช่วยตอบชัดๆ  ตรงๆ ให้ประชาชน และ ส.ว.ทราบก็พอว่าตกลงท่านและพวก "จะยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา112 " ใช่หรือไม่ กรุณาตอบตรงๆ ไม่ต้องเฉไฉ ขอบอกเงื่อนไขชัดๆ ว่า ต้องไม่มีการแก้ไขยกเลิก ทั้ง ส.ส. ยื่นทางตรง หรือทางอ้อม ให้พลพรรคยื่นร่างแก้ไข หรือจะอ้างเสนอทำประชามติ หรือทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกเลิกแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเฉพาะการไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งเดียว และหมวดพระมหากษัตริย์ รวมถึงอีก 38 มาตราที่เกี่ยวข้อง

"ถ้าตอบชัดเจนเป็นคำมั่นสัญญาและลายลักษณ์อักษร แสดงต่อหน้าประชาชนทั้งประเทศ บันทึกไว้ให้รับทราบทั่วกันว่า ระหว่างที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาล จะไม่ยินยอมให้ผู้ใด ทั้ง ส.ส. พรรคตนเอง พรรคร่วมรัฐบาล หรือกลุ่มบุคคลใดๆ เสนอแก้ไข ยกเลิกทั้งมาตรา 112 มาตราที่เกี่ยวข้องและรัฐธรรมนูญในทุกวิถีทาง ขอเพียงแค่นี้ครับ ส.ว.น่าจะช่วยโหวตผ่านได้มากเลยครับ แต่ถ้าเฉไฉลับลวงพราง ซุ่มซ่อนรอโอกาส บอกตามตรง ยากที่จะผ่านครับ" นายสมชายระบุ

นายออน กาจกระโทก ส.ว.จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ยังยึดหลักประชาธิปไตย เมื่อพรรคการเมืองสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล  แต่ในส่วนที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา หากจะเลือกใครเป็นผู้นำประเทศ บุคคลนั้นจะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติ รวมถึงคุณสมบัติ และแนวความคิด ในส่วนของพรรคก้าวไกลได้เสียงส่วนมากในการจัดตั้งรัฐบาล ตนจะเลือกหรือไม่เลือกนั้น ต้องดูว่าแนวคิดจะมีผลดีหรือไม่ดีต่อประเทศชาติ ตนยังยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความมั่นคงของประเทศ เป็นหลัก แม้พี่น้องประชาชนก็คิดเรื่องดังกล่าวเหมือนกัน ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรา 112 โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมาเราสามารถอยู่อย่างสงบสุขโดยไม่ได้เกิดผลร้ายอะไรต่อผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนมากแล้วที่เกิดผลเสียคือผู้ที่ไม่ประพฤติตามกฎหมาย ซึ่งไม่เห็นควรที่จะไปแก้หรือยกเลิกมาตรา 112

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการแก้ไขมาตรา 112 ว่า รทสช.ย้ำจุดยืนมาแต่ต้นไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไข แต่ขณะที่การแก้ไขมาตรา 112 กำลังเป็นอีกเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลที่ประกาศจับมือขณะนี้ มีข้อถกเถียง เนื่องจากจุดยืนต่างกัน แต่ละพรรคที่จะจับมือตั้งรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และถ้าไม่ไปยุ่งกับเรื่องนี้จะได้ใจประชาชน

นางมัลลิกา บุญมีตระะกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากการที่สอบถาม ส.ว.บางคน ทราบว่าเงื่อนไขสำคัญคือติดขัดเรื่องมาตรา 112 เป็นสาระสำคัญ หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและคณะปลดล็อกเรื่องนี้ออกไป เชื่อว่า ส.ว.จะโหวตให้เป็นนายกฯ

กลุ่มป้องสถาบันต้านฉีก 112

ที่บริเวณหน้าตลาดเจ้าพรหม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เวลา 09.00 น. นางกัลยาณี จูปรางค์ หรือ "ป้าอยุธยา" พร้อมด้วยกลุ่มปกป้องสถาบัน จัดกิจกรรม #save112 ถือแผ่นป้ายรณรงค์คัดค้านการแก้ไข การยกเลิกมาตรา 112 มีการเปิดเพลง เรารักแผ่นดิน พร้อมกับการประกาศ กลุ่มปกป้องสถาบันออกมาแสดงการคัดค้านการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 มีการเดินรณรงค์ไปตามถนนนเรศวร หน้าตลาดเจ้าพรหม

โดยมีกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงตลาดเจ้าพรหมออกมาชูเสื้อผ้าสีแดง พร้อมกับตะโกนต่อว่า การจัดกิจกรรมของกลุ่มปกป้องสถาบัน ให้ไปจัดที่อื่น มีการโต้เถียงกันไปมาจนเกือบจะมีเหตุทะเลาะวิวาท เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.พระนครศรีอยุธยาที่มาดูแลความปลอดภัยทั้งในเครื่องแบบต้องคอยเข้ามาห้ามปราม

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านการจัดกิจรรมของกลุ่มปกป้องสถาบัน กล่าวว่า เป็นการนำสถาบันมาสร้างกระแส ชาวอยุธยาก็รักสถาบัน พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งกำลังจัดตั้งรัฐบาล แต่ออกมาเคลื่อนไหวให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย

ขณะที่ป้าอยุธยาเผยว่า ตนกับพี่น้องคนอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง ออกมาร่วมจัดกิจกรรมปกป้องสถาบัน เพราะพรรคก้าวไกลมีแนวนโยบายที่จะแก้ไขมาตรา 112 อย่างชัดเจน การที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นกติกาของระบอบประชาธิปไตยยอมรับได้ เพราะมาจากเสียงของประชาชน 15 ล้านเสียง แต่จะขอคัดค้านในนโยบายที่จะมีการแก้ไข และอาจนำไปสู่การยกเลิกมาตรา 112 ดังนั้นจึงเป็นการออกมาแสดงพลังของกลุ่มปกป้องสถาบัน และยังมีประชาชนที่คัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 อีก หากมีการเริ่มการแก้ไขมาตรา 112 กลุ่มปกป้องสถาบันจะออกมารวมตัวกันคัดค้านในกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกลุ่มปกป้องสถาบันได้ใช้เวลาในการจัดกิจกรรมประมาณ 40 นาที จากนั้นต่างพากันแยกย้ายเดินทางกลับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง