เทียบชั้นทูตรบ.เคาะดึงฝรั่ง

“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุม ศบศ.ครั้งที่ 5 คลอดแพ็กเกจใหญ่ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปเคาะรายละเอียด เลขาฯ สภาพัฒน์แจงยิบ พุ่งเป้า 4 กลุ่มหลักหวังพำนักในเมืองไทยถึง 10 ปี ส่วนเรื่องซื้ออสังหาฯ ให้ มท.ไปดู พร้อมยกเว้นภาษีเงินได้ ด้านภาษีศุลกากรให้เทียบชั้นทูต พ่วงเห็นชอบลงทุนคลาวด์เซอร์วิส ส่งเสริมถ่ายในไทย

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2564 โดยหลังประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นการประชุมเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ซึ่งเราต้องเร่งพัฒนาซอฟต์เพาเวอร์ หรือบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และมาตรการแรงดึงดูดที่จะทำให้คนมาลงทุนในไทย คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา แม้กระทั่งเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์ก็มีการหารือทุกอัน ซึ่งปัญหาหลักคือกฎระเบียบเดิมๆ ของเรา หรือกฎหมายที่ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข ไม่อย่างนั้นการลงทุนต่างๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หลายกฎหมายมีความล้าสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่เรามีศักยภาพมากกว่า ก็ขอฝากไปยังประชาชนให้ทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลก็จะพยายามทำอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

“ต้องการพลิกโฉมประเทศ ฉะนั้นต้องทำทุกด้าน เราอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว เนื่องจากโลกไร้พรมแดน และมีหลายฝ่ายในโลกนี้ ก็ต้องแสวงหาประโยชน์จากทุกอันให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นเราก็จะมีรายได้ไม่เพียงพอพัฒนาประเทศ ที่จะมาดูแลผู้มีรายได้น้อย หรือมาลงทุนในด้านอื่นๆ ซึ่งศักยภาพของเรามีเยอะมาก วันนี้ก็มีการพูดถึงการตัดตั้งองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในระบบ Cloud Computing และ Big Data ซึ่งมีการลงทุนและวิจัยหลายอย่างในไทย” นายกฯ กล่าว

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการประชุม ศบศ.ว่าที่ประชุมเห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทยตามข้อเสนอของ สศช. และทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันอังคารที่ 14 ก.ย.2564 โดยมีความคืบหน้าและแนวทางการดําเนินการที่สําคัญ ดังนี้ 1.การกําหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สําหรับผู้พํานักระยะยาว (LTR) โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจําพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยมี 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง, ผู้เกษียณอายุ, ผู้ที่ต้องการทํางานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งครอบคลุมคุณสมบัติและแนวทางการยื่นคําขอรับรองคุณสมบัติและคําขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภท LTR

นายดนุชาแถลงรายละเอียดว่า วีซ่า LTR จะครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ 5 ปี และยื่นคําขอรับรองคุณสมบัติเพื่อขออยู่ต่อได้อีก 5 ปี ไม่จํากัดจํานวนครั้งที่เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร รวมถึงคนต่างด้าวและผู้ติดตาม ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (อายุไม่เกิน 20 ปี) จํานวนไม่เกิน 4 คน โดยกําหนดให้แจ้งที่พํานักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพํานักครบ 1 ปี จากเดิมที่ต้องดําเนินการทุกรอบ 90 วัน และได้รับอนุญาตให้ทํางานครั้งละ 5 ปีภายหลังได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และหากมีความประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์อื่น ให้สามารถกระทําได้ เป็นต้น

นายดนุชากล่าวว่า 2.การให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ประชุมมอบหมายให้กรมที่ดินเร่งรัดศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อนําเสนอให้ที่ประชุม ศบศ.พิจารณาโดยเร็วต่อไป 3.การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ที่ประชุมมอบหมายให้กรมสรรพากรเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกําหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ถือวีซ่า LTR โดยมีหลักการที่สําคัญ ได้แก่ การกําหนดให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทําในต่างประเทศหรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศและนําเข้ามาในประเทศในปีภาษีเดียวกัน และการกําหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่า ประเภทผู้พํานักระยะยาวกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งทํางานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบ อุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้รับเงินได้พึงประเมินตาม ประมวลรัษฎากร ขณะที่การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร ที่ประชุมมอบหมายให้กรมศุลกากรอํานวยความสะดวกในการจัดทําแนวทางการเดินทางพิเศษสําหรับผู้ถือวีซ่าประเภท LTR เป็นการเฉพาะ โดยจะเทียบเคียงกับสถานะการเดินทางทางการทูต และมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกําหนดแนวทางปฏิบัติเป็นการเฉพาะต่อไป

นายดนุชากล่าวว่า 4.การจัดตั้งศูนย์บริการผู้พํานักระยะยาว โดยที่ประชุมมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์บริการ ผู้พํานักระยะยาว รวมทั้งครอบคลุมการดําเนินภารกิจในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกและอํานวยความ สะดวกและให้คําปรึกษาแก่ชาวต่างชาติที่ได้รับวีซ่า LTR เพื่อให้การดําเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส ตามข้อเสนอของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สกท. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวในประเด็นต่าง ๆ ที่สําคัญ ประกอบด้วยแนวทางการดําเนินการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการ Data hosting services แก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ แนวทางการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมกิจกรรม กิจการคลาวด์เซอร์วิสในอนาคต และแนวทางการสร้างความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ให้บริการคลาวด์เกี่ยวกับการให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของผู้ให้บริการภาคเอกชนต่อการพัฒนาบริการคลาวด์ของภาครัฐ และหากได้ข้อยุติแล้ว ให้ สกท.เสนอต่อที่ประชุม ศบศ. เพื่อพิจารณาต่อไป

นายดนุชากล่าวว่า นอกจากนี้เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนสําหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัปตามข้อเสนอของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยที่ประชุมมอบหมายให้สภาดิจิทัลฯ หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัปให้แก่ผู้ประกอบการไทย และเห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการถ่ายทําภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยตามข้อเสนอของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยที่ประชุมมอบหมายให้สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างสรรค์และกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดําเนินมาตรการสร้างแรงจูงใจและอํานวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้กองถ่ายทํา ภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทําในประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมระบบนิเวศและปัจจัย สนับสนุนที่จะช่วยขยายผลไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านอื่นๆ เพื่อผลักดัน Soft power ของไทยต่อไป

วันเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพกลางคืนว่า ได้หารือไปแล้วรอบหนึ่ง โดยการเยียวยาจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่วนมากอยู่ในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลให้นโยบายการเยียวยาหัวละ 3 พันบาท ตามจำนวนลูกจ้างต่อเดือน 2.กลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่อยู่ในธุรกิจผับ เธค บาร์ ทั้งเด็กเสิร์ฟ พ่อครัว เสมียนบัญชี เราก็ดูแล โดยให้สำนักงานประกันสังคมออกประกาศเยียวยา 50% เหตุสุดวิสัยขาที่ 1 ส่วนขาที่ 2 หากไม่เพียงพอในการใช้จ่ายก็จะขอในส่วนของเงินกู้ สศช. ซึ่งตั้งตัวเลขไว้ 5 พันบาท แต่ต้องรอหารืออีกครั้ง โดยหากอยู่ในระบบประกันสังคมจะได้ 2 ขา โดยให้ประกันสังคมช่วย 50% อีกส่วนขอเงินกู้จากรัฐบาล และ 3.ผู้ที่เป็นศิลปินอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม อาจต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมตามมาตรา 40 ซึ่งคาดการณ์ทั้งประเทศจะมีไม่เกิน 1 แสนคน แต่ปัญหาอยู่ที่การรับรอง จึงขอให้สมาคมต่างๆ รับรองบุคลากรคนของท่าน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง